ภาวะได้ประโยชน์ร่วมกัน

เริ่มแรก คำว่า protocooperation หรือ ภาวะได้ประโยชน์ร่วมกัน ถูกใช้เพื่อระบุปฏิสัมพันธ์ภายในระบบนิเวศ แต่ต่อมาเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายโดย Eugene Odum ในปี 1953 นอกจากนี้ ในบางกรณี Protocooperation ยังเรียกว่า ‘การทำงานร่วมกัน’

ภาวะได้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ทางนิเวศวิทยา ซึ่งสิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดต่างได้รับประโยชน์จากปฏิสัมพันธ์นี้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนิดพันธุ์ในภาวะได้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มักมองว่า เป็นรูปแบบหนึ่ของภาวะพึ่งพา (mutualism) แม้ว่าปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบนี้จะเพิ่มโอกาสการอยู่รอด และสนับสนุนการเจริญเติบโต แต่ก็ไม่จำเป็นสำหรับการเติบโตตามธรรมชาติ และความอยู่รอดของสายพันธุ์ (facultative mutualism)

ภาวะได้ประโยชน์ร่วมกันเป็นประเภทของปฏิสัมพันธ์เชิงบวกที่ความสัมพันธ์อาจเป็นเชิงการบริการในระบบนิเวศ หรือการแบ่งปันทรัพยากร ปฏิสัมพันธ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้ระหว่างสองสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน หรือชนิดพันธุ์ต่างอาณาจักร

ตัวอย่างของภาวะได้ประโยชน์ร่วมกัน

1. เพลี้ยและมด

เพลี้ยเป็นแมลงขนาดเล็กที่ดูดกินของเหลวและปล่อยสารคัดหลั่ง ซึ่งเป็นของเสียจากอาหารที่มีน้ำตาล เพลี้ยหลายชนิดมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับมดที่กินน้ำหวาน โดยมดจะ ‘รีดนม’ เพลี้ย ด้วยหนวดของพวกมัน

ในทางกลับกัน มดบางชนิดจะปกป้องเพลี้ยจากสัตว์กินเนื้อและปรสิต มดจะย้ายไข่ และตัวอ่อนของเพลีย ลงไปยังรังใต้ดิน ซึ่งทำให้การเก็บน้ำหวานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพลี้ยบางชนิดได้ปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากมดที่แสวงหาน้ำหวาน เพลี้ย Paracletus cimiciformis ได้วิวัฒน์ตัวอ่อน 2 ลักษณะ โดยมีลักษณะที่เลียนแบบคล้ายมด และลักษณะที่เป็นทรงกลม เมื่อมดพาตัวอ่อนที่มีลักษณะคล้ายมดไปยังห้องฟักไข่ เพลี้ยจะดูดของเหลวจากตัวอ่อนของมด

2. นกกินแมลงบางชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่

ในประเทศ ภาวะพึ่งพาระหว่างนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ชัดเจน คึอ นกเอี้ยงและกระบือ

นกเอี้ยงมักจะไปเกาะบนหลังกระบือ และจิกกินปรสติที่อยู่บนผิวหนัง เช่น ปลิงน้ำจืด และแมลงรำคาญต่างๆ วิธีนี้อาจช่วยรักษาปริมาณปรสิตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมให้อยู่ภายใต้การควบคุม และนกเอี้ยงก็ได้กินอาหาร

ในทุ่งหญ้าสะวันนา ทวีปแอฟริกา นกที่เกาะอยู่บนหลังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ม้าลาย และแรด ได้ช่วยส่งสัญญาณเตือนอันตรายจากสัตว์ผู้ล่า และมนุษย์

3. ผึ้งและมด

การทำงานร่วมกันระหว่างผึ้งสกุล Schwarzule และมดสกุล Cryptostigma ในป่าแอมะซอน เป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งสองชนิดพันธุ์ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยผึ้งมักอาศัยอยู่ในโพรงต้นไม้ที่เคยเป็นรังของตัวอ่อนผีเสื้อกลางคืน

ในขณะเดียวกัน โพรงนี้ยังเป็นรังของมด ซึ่งกินน้ำเลี้ยงของพืชเป็นอาหาร และขับน้ำหวานออกมา ผึ้งที่อาศัยอยู่ในโพรงเดียวกันกินน้ำหวานที่มดขับออกมาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ของเหลวไม่ท่วมโพรง

ดังนั้น สองสายพันธุ์ที่อยู่โพรงเดียวกันจึงได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์นี้มักถูกเรียกว่าเป็นการทำความสะอาด เนื่องจากสายพันธุ์หนึ่งช่วยทำความสะอาดโดยการกำจัดของเสีย

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

https://thebiologynotes.com/protocooperation/
https://www.encyclopedia.com/science/dictionaries-thesauruses-pictures-and-press-releases/protocooperation-0
https://projects.ncsu.edu/cals/course/ent525/close/shannon.html


อ่านเพิ่มเติม กรณีตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างชนิดพันธุ์ ที่แสดงถึงภาวะพึ่งพา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.