กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ได้จับภาพของ ดาวพฤหัสบดี ที่มีทั้งพายุขนาดยักษ์ ลมที่รุ่นแรง แสงออโรร่าเหนือและใต้ อุณหภูมิและความดันสุดขั้ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจชีวิตภายในของดาวก๊าซยักษ์ดวงนี้มากยิ่งขึ้น
โดยในตอนแรกข้อมูลเพื่อใช้ประมวลภาพไม่ได้ชัดเจนก่อนมาถึงโลก แต่ถูกส่งไปยังสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศเพื่อแปลงให้เป็นภาพที่เรามองเห็น และนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นคนหนึ่งก็ทำให้มันสวยงามยิ่งขึ้น
จูดี้ ชมิดท์ (Judy Schmidt) จากเมืองโมเดสโต (Modesto) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ผู้หลงใหลในจักรวาลและดวงดาว เธอไม่เคยมีพื้นฐานการศึกษาอย่างเป็นทางการในด้านดาราศาสตร์ แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว การประกวดประมวลภาพถ่ายขององค์กรอวกาศยุโรปหรือ ESA ได้จุดประกายความสนใจของเธอ จากนั้นเธอก็ได้ทำงานกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เพื่อรวบรวมและแปลข้อมูลจากฮับเบิลและกล้องโทรทรรศน์อื่นๆ เป็นงานอดิเรก
“มันเป็นสิ่งที่ฉันอยู่กับมัน และฉันก็หยุดไม่ได้ ฉันสามารถใช้เวลาหลายชั่วโมงในทุกวันได้เลย” ชมิดท์กล่าวและเสริมเกี่ยวกับภาพใหม่ของ ดาวพฤหัสบดี นี้ว่า “ฉันพยายามทำให้มันดูเป็นธรรมชาติ แม้ว่ามันจะไม่ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ตาของคุณมองเห็นก็ตาม” และนั่นทำให้นักดาราศาสตร์มืออาชีพสนใจในงานของเธอ
ภาพทั้งสองภาพนั้นมาจากกล้องอินฟราเรดใกล้ (NIRCam) ของเจมส์เวบบ์ซึ่งมีฟิลเตอร์อินฟราเรดเฉพาะเพื่อแสดงรายละเอียดดาวเคราะห์ในมุมมองที่สายตามนุษย์มองไม่เห็น เนื่องจากอยู่นอกช่วงคลื่นที่ตาของเราจะรับได้ นักวิทยาศาสตร์ร่วมมือกับชมิดท์แปลข้อมูลดิบเหล่านี้กลับมาเป็นมุมมองที่ตาของเราสามารถมองเห็นได้ เป็นภาพซึ่งแสดงให้เห็นรายละเอียดที่สวยงาม
“ภาพนี้สรุปข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของระบบดาวพฤหัสบดีของเรา ซึ่งแสดงถึงพลวัตและเคมีของดาวพฤหัสบดีเอง วงแหวนของมัน และดวงจันทร์บริวาร” เทียร์รี ฟูเซต์ (Thierry Fouchet) ศาสตราจารย์แห่งหอดูดาวปารีสกล่าว
ขณะที่นักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์ แอมค์ เดอ ปาเตอร์ (Imke de Pater) เสริมอย่างตื่นเต้นว่า “เราไม่คาดคิดมาก่อนว่าภาพจะดีขนาดนี้ น่าทึ่งมากที่เราสามารถดูรายละเอียดบนดาวพฤหัสบดีพร้อมกับวงแหวน ดวงจันทร์บริวารขนาดเล็ก และกระทั่งดาราจักรได้ในภาพเดียว”
ชมิดท์กล่าวว่าดาวพฤหัสบดีนี้จัดการได้ยากกว่าสิ่งมหัศจรรย์อื่น ๆ ของจักรวาลที่อยู่ห่างไกล เพราะความเร็วในการหมุนของมัน การรวมรูปภาพไว้ในมุมมองเดียวกลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเมื่อลักษณะเด่น ๆ ของมันหมุนไปในเวลาถ่ายภาพและไม่อยู่ในแนวเดียวกันหรือตำแหน่งเดิมก่อนหน้า หลายครั้งชมิดท์ต้องทำการปรับเปลี่ยนเพื่อซ้อนภาพให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสม
แสงออโรร่าที่ขยายไปถึงระดับความสูงบนขั้วโลกเหนือและใต้ มันเปล่งประกายในฟิลเตอร์ที่จับคู่กับสีแดง ซึ่งยังเน้นแสงสะท้อนจากเมฆด้านล่างรวมทั้งหมอกควันด้านบน ขณะที่ฟิลเตอร์อื่นซึ่งจับคู่กับสีเหลืองและสีเขียวแสดงหมอกควันที่หมุนวันรอบขั้วโลก และฟิลเตอร์ที่จับคู่กับสีน้ำเงินแสดงแสงที่สะท้อนจากก้อนเมฆหลักที่อยู่ลึกลงไป สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของภาพดาวก๊าซนี้นี้คือ ‘จุดแดงใหญ่’ พายุอันเกรี้ยวกราดด้วยขนาดที่สามารถกลืนโลกได้ปรากฏเป็นสีขาวสะท้อนแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก
ด้วยข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้เปิดมุมมองใหม่ที่สวยงาม อีกทั้งยังแสดงถึงข้อมูลเชิงลึกมากมายของดาวพฤหัสบดียักษ์ใหญ่ที่สุดของเรา แต่เจมส์เวบบ์ยังคงไม่หยุดยั้ง มันจะส่องไปยังห้วงอวกาศต่าง ๆ เพื่อค้นหาสิ่งมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ในจักรวาลของเราต่อไป
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photography by NASA, ESA, CSA, Jupiter ERS Team;
Image processing by Judy Schmidt
ที่มา
https://blogs.nasa.gov/webb/2022/08/22/webbs-jupiter-images-showcase-auroras-hazes/
https://edition.cnn.com/2022/08/22/world/jupiter-images-webb-telescope-nasa-scn/index.html
https://www.theguardian.com/science/2022/aug/22/jupiter-james-webb-space-telescope-images-nasa