กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์พบซูเปอร์โนวาตัวแรก

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์พบซูเปอร์โนวาตัวแรก

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์พบซูเปอร์โนวาตัวแรกของมัน แม้ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อการนี้

เพียงไม่กี่วันหลังจากกล้องโทรทรรศน์เจมส์เวบบ์ (James Webb Space Telescope) เริ่มภารกิจอย่างเต็มรูปแบบ กล้องอินฟาเรด (NIRCam) ที่ทำงานอยู่ก็ตรวจพบวัตถุสว่างอย่างไม่คาดคิดในจุดกาแล็กซีที่ชื่อว่า SDSS.J141930.11+5251593 ซึ่งห่างจากโลกราว 3 ถึง 4 พันล้านปีแสง สร้างความประหลาดใจแก่นักดาราศาสตร์อย่างมากเนื่องจากเจมส์เวบบ์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ตรวจจับวัตถุสว่างเช่นนี้

พวกเขาพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 5 วัน แสงจากวัตถุนั้นจางลงเล็กน้อยและหลังจากเปรียบเทียบข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเพื่อยืนยันว่าแสงนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าเจมส์เวบบ์ได้ค้นพบ “ซูเปอร์โนวา (Supernova)” ตัวแรกของมันแล้ว

“เราสงสัยว่ามันเป็นซูเปอร์โนวา” ไมค์ เอนเกสเซอร์ (Mike Engesser) นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ดูแลภารกิจของเจมส์เวบบ์อยู่กล่าว “เราต้องการข้อมูลด้านช่วงเวลามากกว่านี้ในการตัดสินใจ แต่ข้อมูลที่เรามีนั้นตรงกับการเกิดซูเปอร์โนวา ดังนั้นจึงเป็นตัวที่ดีมาก”

โดยปกติแล้วมักมีการตรวจสอบและค้นหาซเปอร์โนวาโดยกล้องโทรทรรศน์สำรวจขนาดที่ออกแบบมาเพื่อสแกนพื้นที่กว้างใหญ่บนท้องฟ้า และมองหาจุดแสงที่เกิดขึ้นใหม่ท่ามกลางจุดแสงนับล้านที่มีอยู่แล้ว ทว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์นั้นออกแบบมาเพื่อพุ่งเป้าไปยังจุดพื้นที่เล็ก ๆ ในห้วงอวกาศลึกที่จะมองเห็นรายละเอียดกาแล็กซีอันเก่าแก่และไกลโพ้น

และสิ่งที่น่าตื่นเต้นขึ้นไปกว่านั้น คือหากสิ่งที่เวบบ์ตรวจพบนั้นคือซูเปอร์โนวาจริง ๆ นั่นหมายความว่ามันคือซูปเปอร์โนวาเก่าแก่ครั้งแรก ๆ หลังจากเกิดบิ๊กแบง (Big Bang) ได้ไม่นาน เป็นการระเบิดของดาวฤกษ์รุ่นแรก ๆ ที่ทำให้จักรวาลสว่างไสวหลังจากความมืดมิดในช่วงต้นและกระจายแร่ธาตุวัตถุดิบที่จะกลายเป็นดาวฤกษ์รุ่นต่อ ๆ ไปในเอกภพ

“เราคิดว่าดาวในช่วง 2-3 ล้านปีแรกน่าจะเป็นไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นหลัก ซึ่งต่างจากประเภทของดาวที่เราเจออยู่ในปัจจุบันนี้ (ซึ่งมีสัดส่วนของธาตุหนักมากกว่า)” เอนเกสเซอร์กล่าวพร้อมเสริมว่า “พวกมันอาจมีมวลมาก 200 ถึง 300 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ของเรา และพวกมันจะใช้ชีวิตแบบ ‘เกิดเร็ว ตายเร็ว’ อย่างแน่นอน” นักดาราศาสตร์ยังคงหวังว่าครั้งแรกนี้จะไม่ใช่แค่โชค พวกเขาจะยังรอการค้นพบใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากเจมส์เวบบ์ต่อไป

ซูปเปอร์โนวานั้นคือการระเบิดของดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัย ดวงดาวจะเผาผลาญพลังงานจนหมดและไม่อาจต้านความโน้มถ่วงของตัวมันเองได้ ดาวจึงยุบลงและเกิดคลื่นกระแทกสะท้อนออกมาเป็นการระเบิดที่สร้างความสว่าง แสงของมันจะอยู่เพียงไม่กี่วันหรือนานที่สุดอาจเป็นเพียงสัปดาห์ ดังนั้นการตตรวจจับมันได้นั้นกล้องโทรทรรศน์อวกาศจะต้องหันไปในทิศทางที่ถูกต้องและเวลาที่เหมาะสมจึงจะค้นพบ

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.space.com/james-webb-space-telescope-first-supernova-surprise
.
https://www.businessinsider.in/science/news/james-webb-telescope-likely-spots-first-supernova/articleshow/93276222.cms
.
https://interestingengineering.com/science/the-james-webb-telescope-spots-its-first-supernova

Recommend