ประวัติศาสตร์การแพทย์ ฉบับสมบูรณ์ ในรูปแบบเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

การมองย้อนกลับไปในกาลเวลาเผยให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์การแพทย์ เชื่อมโยงกับพันธกิจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกอย่างไร

นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แสวงหาการค้นพบสิ่งที่เราไม่ล่วงรู้มาช้านานแล้ว ด้วยการเติมเต็มพื้นที่ว่างในแผนที่ต่างๆ และช่องว่างทางความรู้เกี่ยวกับร่างกายของเรา

ในฉบับเดือนมีนาคม ปี 1900 นายแพทย์ใหญ่กองทัพบกสหรัฐฯ  จอร์จ  เอ็ม.  สเติร์นเบิร์ก  เขียนสารคดีเกี่ยวกับการแพทย์เรื่องแรก  “ประวัติศาสตร์และการกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์ของกาฬโรคต่อมนํ้าเหลือง”  ให้นิตยสาร

ในข้อเขียนดังกล่าว  สเติร์นเบิร์ก พูดถึงความลังเลในการรับเขียนงานชิ้นนี้โดย อธิบายว่า  รายละเอียดว่าด้วยประวัติศาสตร์ ของโรค “อาจทำให้หลายคนเหนื่อยหน่ายและบางคนอาจถึงกับสะอิดสะเอียน”

หลายปีหลังจากนั้น  วงการแพทย์ได้ช่วยเหลือนักสำรวจหลายคน  ซึ่งในทางกลับกันก็ช่วยขยายพรมแดนความรู้ของวิทยาศาสตรแขนงนี้ด้วย การออกสำรวจครั้งต่างๆ  เช่น การเดินทางอันอับโชคไปยังขั้วโลกใต้ของ นาวาเอก โรเบิร์ต  ฟอลคอน  สกอตต์  มีแพทย์ประจำคณะคอยติดตามดูแลสุขภาพของนักสำรวจ นำไปสู่ความเข้าใจในกลไกทางสรีรวิทยาของมนุษย์ที่ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมสุดขั้ว เมื่อโจเซฟ  ร็อก  เดินทางสู่มณฑลยูนนานของจีนในปี 1924  เขานำบันทึกวิธีรักษาและตำรับยาแผนโบราณกลับมาด้วย  ตั้งแต่นั้นมา การแพทย์แผนจีนก็เป็นที่ยอมรับในวงกว้างของแพทย์ชาวตะวันตก

เรื่องราวเกี่ยวกับผู้บุกเบิกและความ ก้าวหน้าทางการแพทย์มักปรากฏในหน้านิตยสารอยู่เสมอ  ล่าสุด  นวัตกรรมการผ่าตัดปลูกถ่ายใบหน้าปรากฏในสารคดีจากปก ฉบับเดือนกันยายน 2018

ทีมแพทย์ในเมืองพิตสเบิร์ก  รัฐเพนซิลเวเนีย วางท่าถ่ายภาพสาธิตอุปกรณ์หุ่นยนต์ใหม่ล่าสุด เมื่อปี 1996  ที่ใช้สำหรับการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม
ภาพถ่ายเมื่อปี 1951 สื่อให้เห็นการสกัดฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติคอโทรปิก (adrenocorticotropic hormone: ACTH) จากต่อมใต้สมองของหมู  เพื่อนำมาปรุงเป็นยาสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานผิดปกติของต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต
เดือนสิงหาคม ปี 1971  นักวิทยาศาสตร์ (ซ้าย) หยดเดกซีดรินซัลเฟตหรือยาบ้าให้แมงมุม เพื่อสังเกตผลของยาต่อแบบแผนการสร้างใย  โดยหวังจะสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับกระบวนการทางชีวเคมีในมนุษย์
เนชั่นแนล  จีโอกราฟฟิก รายงานเรื่องไวรัสเอชไอวี/เอดส์ครั้งแรกในฉบับ มิถุนายน 1986  สัตวแพทย์จิม  มาโฮนีย์ กลายเป็นผู้รณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อเคลื่อนย้ายชิมแปนซีไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์หลังเสร็จสิ้นงานวิจัย  ปัจจุบัน  การใช้ชิมแปนซีในฐานะสัตว์ทดลองแทนมนุษย์ผิดกฎหมายในบางประเทศ
ปี 1977 เด็กๆ จับกลุ่มรอบตะเกียงอัลตราไวโอเลตเพื่อขจัดภาวะพร่องวิตามินดีระหว่างฤดูหนาวอันยาวนานทางเหนือ ของอาร์กติกเซอร์เคิลในแคว้นมูร์มันสค์ของรัสเซีย
ขั้วไฟฟ้าเหล่านี้วัดกิจกรรมในสมองของธรรมาจารย์พุทธทิเบตและศิลปิน  ดรู-กู  เชอกยัล  รินโปเช ภาพนี้ใช้ประกอบสารคดีเรื่อง “เมื่อหัวใจทำงานตามสมองสั่ง” ในนิตยสารฉบับมีนาคม 2005  ซึ่งนักประสาทวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า  สมาธิช่วยให้ผู้ปฏิบัติเกิดความรู้สึกเชิงบวก  ความสุข  และระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น
คนไข้เข้ารับการบำบัดด้วยการดึงคอ ร่วมกับการอาบนํ้าอุ่นในเปียซตานีสปา  ประเทศสโลวาเกีย  เป็นภาพถ่ายจากสารคดีเรื่อง “จิตวิญญาณแห่งการอยู่รอดของสโลวาเกีย” ในฉบับมกราคม 1987
นายแพทย์เอดเวิร์ด แอตคินสัน ศัลยแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และนักปรสิตวิทยา ทำงานในห้อง ปฏิบัติการระหว่างการเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ของนาวาเอก โรเบิร์ต ฟอลคอน สกอตต์เมื่อปี1911

เรื่อง ลีห์ มิตนิก


อ่านเพิ่มเติม เทคโนโลยีทางการแพทย์ : พรีซิชันเมดิซีน เพราะทุกร่างต่างพิเศษ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.