มลพิษจาก สารกำจัดศัตรูพืช และสัตว์ (Pesticide Pollution) คือ การปนเปื้อนของสารพิษในสิ่งแวดล้อม จากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสารกำจัดแมลง (Insecticide) สารกำจัดสัตว์ฟันแทะ (Rodenticide) สารกำจัดวัชพืช (Herbicide) และสารกำจัดเชื้อรา (Fungicide) รวมไปถึงสารเร่งผลผลิตที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มีส่วนผสมของสารพิษที่สามารถทำอันตรายต่อทั้งสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ในระบบนิเวศอย่างกว้างขวาง
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่สำคัญ
– กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine) คือ กลุ่มของสารเคมีที่มีคลอรีน (Cl) เป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ดีดีที (DDT) ดีลดริน (Dieldrin) ออลดริน (Aldrin) และท็อกซาฟีน (Toxaphene) ที่เกษตรกรนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งสารเคมีส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นพิษต่อแมลงทุกชนิดและใช้เวลานานในการสลายตัวตามธรรมชาติ (Persistence) จึงกลายเป็นสารพิษที่สะสมและตกค้างในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสมดุลของระบบนิเวศของโลกอย่างมาก
– กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) คือ กลุ่มของสารเคมีที่มีฟอสฟอรัส (P) เป็นองค์ประกอบหลัก เช่น มาลาไธออน (Malathion) และเฟนนิโตรไธออน (Fenitrothion) ซึ่งสารเคมีในกลุ่มนี้มีระดับความเป็นพิษที่ร้ายแรงกว่ากลุ่มอื่น โดยสามารถทำอันตรายต่อทั้งแมลงและสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ในระบบนิเวศ
– กลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate) คือ กลุ่มของสารเคมีที่มีคาร์บาริล (Carbaryl) เป็นองค์ประกอบสําคัญ เช่น คาร์โบฟูแรน (Carbofuran) และเมโทมิล (Methomyl) เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษต่อทั้งแมลงและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
– กลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroid) คือ กลุ่มสารเคมีที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นจากสารธรรมชาติที่สกัดได้จากพืชไพรีทรัม (Pyrethrum) เช่น เดลตาเมธริน (Deltamethrin) เพอร์เมธริน (Permethrin) และเรสเมธริน (Resmethrin) เป็นต้น สารเคมีในกลุ่มนี้มีความเป็นพิษต่อแมลงสูง แต่มีความเป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่นต่ำ
สารป้องกันกำจัดวัชพืช (Herbicide) สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามวัตถุประสงค์ของสารเคมี คือ
– ชนิดที่ทำลายไม่เลือก (Non-selective Herbicide) อย่างเช่นพาราควอท (Paraquat) และไกลโฟเสท (Glyphosate)
– ชนิดที่เป็นพิษต่อวัชพืชเฉพาะกลุ่ม (Selective Herbicide) ที่มีฤทธิ์ในการทำลายเฉพาะวัชพืชใบกว้างหรือวัชพืชใบแคบเท่านั้น โดยไม่ทำอันตรายต่อพืชที่เพาะปลูกอยู่ในแปลง เช่น แอทราซิน (Atrazine) และกรด 2,4,5-ไตรคลอโรฟีนอกซีอะซีติก (2,4,5-T) เป็นต้น
สารกำจัดเชื้อรา (Fungicide) มีด้วยกันหลากหลายชนิด โดยมีฤทธิ์ในการทำลายสิ่งมีชีวิตแตกต่างกันออกไปตามคุณสมบัติของสาร อาทิ กลุ่มเมทิล เมอร์คิวรี่ (Methyl Mercury) ที่มีพิษร้ายแรงต่อระบบประสาทและกลุ่มเฮกซะคลอโรเบนซีน (Hexachlorobenzene) ที่เป็นอันตรายต่อตับและผิวหนังของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น
สารกำจัดหนูและสัตว์แทะ (Rodenticide) คือ กลุ่มของสารเคมีที่ส่วนใหญ่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่น วอฟฟาริน (Warfarin) ซึ่งสามารถก่อให้เกิดเลือดออกตามผิวหนังและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าสารเคมีในกลุ่มก่อนหน้านี้
ผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดอาจตกค้างอยู่ในหน้าดินได้ไม่กี่ชั่วโมง ก่อนจะสลายตัวไปเองตามธรรมชาติ แต่สารเคมีบางชนิดสามารถคงอยู่ได้นานนับสัปดาห์หรือยาวนานหลายสิบปีในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตอย่างกว้างขวาง
สารเคมีหลายล้านตันที่เกษตรทั่วโลกนำมาใช้มีเพียงร้อยละ 0.1 ของสารเคมีทั้งหมดที่สามารถดำเนินไปถึงศัตรูพืชเป้าหมาย (Targeted Pest) ในขณะที่อีกกว่าร้อยละ 99.9 ของสารเคมีทั้งหมดตกค้างอยู่ในดิน ในแหล่งน้ำและอากาศ หรือตกค้างอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของพืชและผลผลิต จนกลายเป็นสาเหตุของปัญหาทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น
สารพิษตกค้างอยู่บนผลผลิต : เป็นอันตรายต่อร่างกายของผู้บริโภคโดยตรง ทั้งผลกระทบต่อพันธุกรรมของเซลล์ (Mutagen) การเกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง (Carcinogen) รวมไปถึงการพัฒนาทางร่างกายที่ผิดปกติไปในลักษณะต่าง ๆ
พืชคลุมดินบางชนิดและสัตว์หน้าดินที่สร้างประโยชน์มีปริมาณลดลง : โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่ในการควบคุมศัตรูพืชหรือผสมเกสร เช่น ผึ้ง แมงมุม ด้วงดิน และเต่าทอง เป็นต้น ซึ่งสามารถนำไปสู่การระบาดของแมลงศัตรูพืชครั้งต่อไปในอนาคต
การพัฒนาภูมิต้านทานสารเคมีของแมลง : การใช้สารเคมีกำจัดแมลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้แมลงเหล่านี้สามารถพัฒนาตนเองให้ทนทานต่อสารพิษและถ่ายทอดภูมิต้านทานดังกล่าวสู่ลูกหลาน
การสะสมของสารเคมีในห่วงโซ่อาหาร : สิ่งมีชีวิตที่อยู่ด้านบนของห่วงโซ่อาหารเกิดการสะสมของสารพิษในปริมาณที่เข้มข้นขึ้น (Biological Magnification) กลายเป็นภัยอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในลำดับต่าง ๆ ของระบบนิเวศ
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/EAUHJSci/article/download/31481/35246/
https://www.pcd.go.th/publication/5220/
https://warning.acfs.go.th/en/articles-and-research/view/?page=26
http://envocc.ddc.moph.go.th/contents/view/405