ผีเสื้อจักรพรรดิกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ส่งผลต่อระบบนิเวศ

ผีเสื้อจักรพรรดิกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ส่งผลต่อระบบนิเวศ

ผีเสื้อจักรพรรดิกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เหตุถูกทำลายถิ่นอาศัย การใช้ยาฆ่าแมลง ส่งผลต่อระบบนิเวศ

สัตว์ที่สวยและสง่างามที่มักมาเยี่ยมชมสวนหลังบ้านของเราในฤดูร้อน อีกทั้งยังเป็นนักเดินทางไกลข้ามทวีปกว่าปีละ 4,023 กิโลเมตร มีจำนวนลดลงกว่าร้อยละ 23 ถึง 72 ในช่วง 10 ปี ทำให้สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ผีเสื้อจักรพรรดิ (Monarch butterflies) กลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

“เป็นเรื่องยากที่ผู้คนจะจินตนาการว่าบางสิ่งที่ปรากฏขึ้นในสวนหลังบ้านของพวกเขากำลังถูกคุกคาม” แอนนา วอล์คเกอร์ (Anna Walker) หัวหน้าทีมในการประเมินจำนวนผีเสื้อและเจ้าหน้าที่พิเศษของ IUCN กล่าว เธอระบุว่าภัยคุกคามนั้นมาจากหลายปัจจัย แต่ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากบริเวณพื้นที่หลบหนาวและพักอาศัยระหว่างการอพยพถูกทำลาย

การตัดไม้ทำลายป่าและสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในการเกษตรได้ฆ่าผีเสื้อเหล่านี้รวมทั้งตัวอ่อน ส่งผลให้พวกมันไม่อาจเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงตามเส้นทางการอพยพของผีเสื้อ สิ่งมีชีวิตที่บอบบางนี้จึงมิอาจทนทาน

ประชากรของผีเสื้อจักรพรรดิลดลงอย่างมากโดยเฉพาะด้านตะวันตกของเทือกเขาร็อกกีซึ่งมีการศึกษาน้อยนั้นลดลงกว่าร้อยละ 99.9 จากเคยที่อยู่ราว 10 ล้านตัวในปี 1980 เหลือเพียง 1,914 ตัวในปี 2021 ขณะที่จำนวนประชากรด้านตะวันออกนั้นก็ลดลงกว่าร้อยละ 84 ในช่วงระหว่างปี 1996 ถึงปี 2014

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ได้แสดงให้เห็นว่าจำนวนผีเสื้อจักรพรรดิอาจเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยสร้างความหวังใหม่แต่วอล์คเกอร์ไม่เห็นด้วย “แม้ว่าจำนวนประชากรจะฟื้นตัวในบางพื้นที่ช่วงฤดูร้อน แต่หากจำนวนประชากรในฤดูหนาวยังคงลดลง หรือแม้แต่ทรงตัวอยู่ก็ตาม ประชากรก็ยังคงต่ำอยู่”

เมื่อฤดูหนาวที่ผ่านมา ทางชุมชนวิทยาศาสตร์ที่นำโดย Xerces Society for Invertebrate Conservation ได้สำรวจพื้นที่ทำรัง 283 แห่งในแคลิฟอร์เนีย พวกเขาพบว่ามีจำนวนผีเสื้อเพิ่มขึ้นเป็นราว 250,000 ตัวจากเพียง 1,914 ตัว กระนั้นจำนวนก็ยังดูน่าหมิ่นเหม่ “เมื่อคุณคิดว่าเคยมีผีเสื้อ 3 ถึง 10 ล้านตัวในฤดูหนาวปี 1980 แต่ตอนนี้มีเพียง 250,000 ตัว” วอล์คเกอร์กล่าว วิกฤตยังคงอยู่

“เราอยู่ในกรอบวิกฤตนี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสายพันธุ์” เธอกล่าว ดังนั้นการเพิ่มจำนวนประชากรในตอนนี้จึงอาจมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของผีเสื้อ และความจริงที่ว่าผีเสื้อจักรพรรดิเป็นแมลงในสวนหลังบ้านนั่นหมายความว่าทุกคนสามารถช่วยได้ (ในอเมริกาเหนือ) ด้วยการปลูกต้นมิลค์วีดพื้นเมือง แม้จะไม่ใช่พืชเขตร้อนแต่ยังคงเป็นสีเขียวเสมอในทุกฤดู จะช่วยหลอกล่อให้ผีเสื้อเลือกที่จะไม่อพยพไปไหน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้พวกเขาเจริญเติบโตอย่างปลอดภัย

วันนี้แตกต่างจากเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน วันนี้พวกเราชุมชนวิทยาศาสตร์มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ และนั่นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกคุกคามได้ “ยังมีอีกมากที่เรายังไม่รู้” วอล์คเกอร์กล่าว แต่ถ้าผู้คนใส่ใจมากพอ “ฉันคิดว่าผีเสื้อจักรพรรดิมีความสามารถที่จะอยู่รอดได้”

ทำไมผีเสื้อจักรพรรดิจึงสำคัญ?

ผีเสื้อเหล่านี้ดูตัวเล็กจ้อยไร้ความสำคัญ แต่แท้จริงแล้วพวกมันมีบทบาทสำคัญมากในระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่

ผีเสื้อโตเต็มวัยแวะเวียนไปยังดอกไม้ป่าจำนวนมากเพื่อหาน้ำหวาน เมื่อพวกมันหาอาหารเท่ากับเป็นการถ่ายทอดละอองเกสรจากดอกไม้ในสถานที่หนึ่งไปยังดอกไม้ในอีกสถานที่ และแม้ว่าผีเสื้อจักรพรรดิและหนอนผีเสื้อจะมีพิษจากยางไม้ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ล่า แต่สัตว์บางตัวสามารถกินพวกมันได้ เช่น มด, ตัวต่อ, แมลงวันและแมงมุม ซึ่งช่วยให้ห่วงโซ่อาหารยังคงหมุนเวียนต่อไปในระบบนิเวศ

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
Monarch butterflies are now an endangered species (nationalgeographic.com)
https://ngthai.com/animals/5333/monarch-butterflies-migrate-3000-miles/

Recommend