มนุษย์กับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม มีความสำคัญอย่างไรในยุคปัจจุบัน
ในโลกปัจจุบัน จำนวนประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมนุษย์จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น มนุษย์กับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม จึงเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่กำลังได้รับความสนใจ
ทำไม มนุษย์กับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม จึงเป็นประเด็นที่นานาชาติให้ความสนใจในปัจจุบัน
ดร.ปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นิยามคำว่า ความยั่งยืน หมายถึง ความสามารถในการดำรงสภาพอยู่ได้ต่อไปยังอนาคต ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัด ตามวงจรการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก โดยมีสามองค์ประกอบเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและจำเป็น ซึ่งต่างเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เกี่ยวโยง และวนเวียนกันเป็นกลไกควบผสมเรียกว่า วงจรความยั่งยืน เรื่อยไปเป็นเวลายาวนาน ด้วยความขยันหมั่นเพียร วิริยะอุตสาหะ อดทนอดกลั้น
ดังนั้น ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแนวคิดการบริหารจัดการ “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ในปัจจุบันให้คงอยู่เรื่อยไปจนถึงอนาคต โดยปัจจุบัน องค์กรสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางให้กับทุกประเทศทั่วโลกได้นำไปปรับใช้ตามบริบทภายในประเทศของตนเอง
อ่านเพิ่มเติม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทรัพยากรธรรมชาติ (natural resources) หมายถึง สิ่งที่ได้มาจากธรรมชาติซึ่งมีประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะเป็นปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตที่มนุษย์สามารถเสาะแสวงหามาใช้ เช่น พืช สัตว์ แร่ธาตุ ป่าไม้ ถ่านหิน และน้ำมัน เป็นต้น สามารถแบ่งทรัพยากรธรรมชาติออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
-
ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีปริมาณมากมีอยู่ทุกหนทุกแห่งของโลก เช่น น้ำ อากาศ และแสงอาทิตย์ ถึงแม้ว่าทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้จะมีปริมาณมากแต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และจำเป็นต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
-
ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วเกิดทดแทนได้ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เมื่อนำมาใช้ประโยชน์แล้วสามารถสามารถเกิดทดแทนได้ เช่น พืช สัตว์ ป่าไม้ ดิน เป็นต้น บางชนิดใช้เวลาสั้นในการสร้างเช่น พืช สัตว์ใช้เวลานานในการเกิดทดแทน เช่นการเกิดดิน
-
ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ ถ่านหินและแร่ เป็นต้น ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ บางชนิดเป็นแหล่งพลังงานที่อำนวยความสะดวก ทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหา และการบริหารจัดการ
ทรัพยากรน้ำ
พื้นโลกประกอบไปด้วยผืนน้ำประมาณ 3 ใน 4 หรือร้อยละ 97.41 ของพื้นที่ทั้งหมด แบ่งเป็นน้ำจืดร้อยละ 2.59 ที่เหลือเป็นน้ำในเค็มและมหาสมุทร และมีเพียงร้อยละ 0.014 เท่านั้นที่เป็นแหล่งน้ำที่สามมรถนำมาใช้ประโยชน์ได้
แหล่งน้ำที่มนุษย์นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย 3 แหล่งที่สำคัญ ได้แก่
- หยาดน้ำฟ้า เป็นน้ำที่ได้จากบรรยากาศ เช่น ฝน น้ำค้าง หิมะ ลูกเห็บ เมฆ หมอก ไอน้ำ เป็นต้น
- น้ำผิวดิน เป็นน้ำที่ได้มาจากแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ ทะเล และมหาสมุทร
- น้ำใต้ดิน เป็นน้ำที่อยู่ใต้ระดับผิวดิน ที่มนุษย์ขุด และสูบขึ้นมาใช้ เช่น น้ำบ่อ และน้ำบาดาล เป็นต้น
ปัญหาของมลพิษทางน้ำ
-
จากธรรมชาติ เกิดจากสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ตายทับถมในน้ำ จากนั้นจุลินทรีย์ มีการใช้ออกชิเจน ในการย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตเป็นผลให้ ออกชิเจนในน้ำนั้นลดลง หรือเกิดจากกระบวนการชะล้างพังทลายของดิน ทำให้ตะกอนดินถูกพัดพาลงในน้ำ ทำให้น้ำขุ่น สิ่งมีชีวิตต่างๆไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินอีกด้วย
-
จากแหล่งชุมชน เกิดจากน้ำเสียที่มาจากแหล่งพักอาศัย และสถานประกอบการต่างๆ ในชุมชน น้ำเสียจากแหล่งต่างๆเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีสารอินทรีย์ เชื้อโรค และสารเคมีเป็นองค์ประกอบ
-
จากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นน้ำเสียที่เกิดจาก กระบวนการต่างๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น
- น้ำจากกระบวนการผลิตสารเคมีที่เป็นอันตรายเจือปนอยู่ เช่น โลหะหนัก น้ำมัน และสารเคมีที่เป็นพิษ
- น้ำจากอุตสาหกรรมผลิตอาหาร จะมีสารอินทรีย์เจือปนอยู่สูงเมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็นอับอันเนื่องมาจาก กระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในน้ำ และบางครั้งอาจทำให้แหล่งน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย
-
จากการเกษตรและอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ เกิดจากสารเคมีที่ตกค้างในกระบวนเพาะปลูกผลผลิต และเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ เมื่อผนตกลงมา น้ำฝนจึงชะล้างสารพิษที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ลงสู่แหล่งน้ำ
การบริหารจัดการน้ำที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
-
การวางแผนการใช้น้ำเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดฤดูกาล การกักเก็บน้ำ เช่น การขุดบ่อ ขุดสระ การสร้างภาชนะรองรับน้ำ การกักเก็บน้ำฝนเพื่อนำไปใช้ในยามขาดแคลน
-
การนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น การรดนำต้นไม้ด้วยน้ำที่เหลือทิ้งจากการซักล้างภายในครัวเรือน
-
การบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เช่น
- การบำบัดน้ำเสียด้วยชีววิธี เป็นการใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ปนอยู่ในน้ำเสีย โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่กลุ่มที่ใช้ออกชิเจนโดยทำควบคู่ไปกับการเติมออกฦซิเจนลงในน้ำด้วย เช่น การทำกังหันน้ำ นอกจากนี้อาจใช้พืชน้ำบำบัดน้ำเสียได้ด้วย โดยพืชน้ำจะดูดสารอินทรีย์เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต เช่น ผักตบชวา ผักกระเฉด กกสามเหลี่ยม ธูปฤาษี หญ้าแฝก และบัว เป็นต้น
- การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางเคมี โดยการเตรียมสารเคมีเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ หรืทำให้ตกตะกอน รวมทั้งฆ่าเชื้อโรคด้วยการเติมสารเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์
ทรัพยากรดิน
ดินเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วสามารถเกิดทดแทนได้ เป็นทรัพยากรที่สัมพันธ์กับทรัพยากรชนิดอื่นเช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ สัตว์ป่า มนุษย์ใช้ดินในแง่ของการเกษตร การคมนาคม อย่างไรก็ตาม กระบวนการเกิดดินตามธรรมชาติใช้เวลานานกว่าทรัพยากรธรรมชาติชนิดอื่น ๆ
การแบ่งชั้นหน้าดิน สามารถแบ่งได้ตามลักษณะของดิน เช่น สีดิน การระบายน้ำของดิน ระดับความหนาของชั้นดิน
ชั้นผิวดิน เป็นชั้นของอินทรีย์วัตถุที่มีใบไม้ กิ่งไม้ที่เพิ่งร้วงหล่นลงมา เริ่มผุพังบ้างแล้ว
ดินชั้นบน เป็นชั้นของฮิวมัส แร่ธาตุบางชนิด ซากพืช ซากสัตว์ รากไม้ ซึ่งผุพัง แล้วบางส่วน เป็นชั้นดินที่ถูกซะล้าง
ดินชั้นล่าง เป็นชั้นที่มีการทับถม ดินละเอียด มีรากไม้
วัตถุต้นกำเนิดดิน (Weathered rock) เป็นชั้นที่มีการสลายตัวผุพังทั้งทางกายภาพ และชีวเคมี ของหินชนิดต่างๆ
ชั้นหินพื้น (Bed rock) ประกอบด้วยหินพื้นที่เป็นหินประเภทต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเปลือกโลก
มลพิษทางดินและปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน
- การทิ้งของเสียที่ใช้แล้วลงในดิน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการสะสมของสารเคมีและสารพิษตกค้าง ทำให้คุณสมบัติของดินเปลี่ยนไป
- การใช้สารเคมีทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช สารเหล่านี้เมื่อใช้ในระยะเวลานานจะมีสารตกค้างในดิน ซึ่งบางชนิดสามารถย่อยสลายได้ บางชนิดย่อยสลายไม่ได้ ทำให้สารพิษสามารถถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหารได้
- กากกัมมันตรังสีจากเครื่องมือที่เสื่อมสภาพและจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
ปัญหาการเสื่อมโทรมของดิน ได้แก่
- การพังทลายของดินที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ดินถล่ม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด การกัดเซาะตลิ่งโดยแม่น้ำ และการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่น เป็นต้น และการพังทลายของดินที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การเพาะปลูกไม่ถูกวิธี และการปรับหน้าดิน เป็นต้น
- ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เพราะปลูกพืชซ้ำซากชนิดเดียวกันเป็นเวลานาน ๆ การไถพรวนผิดวิธี
- ดินไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก เช่น ดินมีค่าความกรดด่างที่ไม่เหมาะสมกับพืชที่เพาะปลูก กินขาดแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
การแก้ไขปัญหามลพิษและการเสื่อมโทรมของดิน
- การอนุรักษ์ดินโดยบำรุงรักษาดิน ปรับปรุงคุณภาพดินให้อุดมสมบูรณ์ สงวนน้ำไว้ในดิน ป้องกันการพังทลายของดิน
- การป้องกันการพังทลายของหน้าดินโดยการระบายน้ำ การปลูกต้นไม้เพื่อชะลอความแรงของน้ำและลมที่ปะทะผิวดิน การปลูกพืชแบบขั้นบันไดตามไหล่เขา และการปลูกพืชคลุมดิน
- เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยปลูกพืชหมุนเวียนชนิดต่างๆ ต่อเนื่องกันเพื่อ เพิ่มสารอินทรีย์ให้กับดิน
- ปรับปรุงดินที่มีปัญหา เช่น ดินทรายที่มักพังทลายง่ายและไม่อุ้มน้ำ ต้องปรับปรุงโครงสร้างดินโดยใส่ขุยมะพร้าวและซากพืชซากสัตว์
ทรัพยากรอากาศ
อากาศประกอบด้วยส่วนผสมของสสารหลายชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในสถานะก๊าซ เช่น ไนโตรเจน ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ ไอน้ำและฝุ่นละอองขนาดเล็กยังเป็นหนึ่งในอนุภาคที่สามารถพบได้ในอากาศ จากการสำรวจชั้นบรรยากาศพบว่า ชั้นบรรยากาศที่มีก๊าซออกซิเจนเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตมีความสูงจากพื้นโลกประมาณ 5 – 6 กิโลเมตรเท่านั้น
สาเหตุการเกิดมลพิษทางอากาศ
มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากการสลายตัวของซากพืชและซากสัตว์โดยการย่อยสลายของจุลินทรีย์ทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ และพบว่า ในช่วงที่น้ำท่วมขังในทุ่งหญ้าเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก หรือการเกิดภูเขาไฟระเบิด อาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
มลพิษทางอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งจากการใช้ชีวิตประจำวันในครัวเรือน กระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม กิจกรรมต่างๆ ของการเกษตร การใช้ยานพาหนะบนท้องถนน ล้วนมีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซพิษ รวมถึงอนุภาคเขม่าขนาดเล็กที่มองไม่เห็นล่องลอยออกมาในอากาศในปริมาณสูง ได้แก่ การจราจรบนท้องถนน การก่อสร้าง การผลิตกระแสไฟฟ้า ระบบทำความร้อนในอาคาร การเผาไหม้ในภาคเกษตรกรรม การกำจัดขยะ และกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ
- ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
- ผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย
- ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การรับมือกับมลพิษทางอากาศ
ความรุนแรงของมลพิษทางอากาศ เป็นภัยอย่างหนึ่งที่ควบคุมได้ยาก เนื่องจากฝุ่นพิษเหล่านี้ล่องลอยอยู่ในอากาศเป็นบริเวณกว้าง แม้แต่ฝนตกก็ไม่สามารถชะล้างปัญหานี้ให้หมดไปได้ ทางเดียวที่เราทำได้คือป้องกันและรับมือกับมลพิษทางอากาศด้วยตัวเอง ด้วยการลดการปล่อยอากาศเสียสู่ภายนอก รวมถึงเรียกร้องไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างมลพิษทางอากาศให้ตระหนักและรับผิดชอบต่อการสร้างมลพิษทางอากาศ
สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.ldd.go.th/thaisoils_museum/survey_1/soils.htm
https://www.scimath.org/article-chemistry/item/1341-air-pollution
https://sustainability.indoramaventures.com/th/environmental/water-management
http://www.rmuti.ac.th/user/thanyaphak/Web%20EMR/Web%20IS%20Environment%20gr.3/page5_tem.htm
http://www.rmuti.ac.th/user/thanyaphak/Web%20EMR/Web%20IS%20Environment%20gr.3/page6_tem.htm
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.