มลภาวะทางแสง มีอะไรบ้าง และส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร

ผู้คนทั่วโลกต่างอาศัยอยู่ภายใต้ราตรีแห่งแสงไฟประดิษฐ์ และนั่นเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน หลายภาคส่วนพยายามลดผลกระทบจาก มลภาวะทางแสง และเรื่องนี้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

มลพิษในสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เป็นสาเหตุของมลพิษในอากาศ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพลาสติกที่กำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์ทะเล ช่วงหนึ่ง หลอดไฟเคยเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำของมนุษยชาติ แสงไฟฟ้าในยุคแรกเริ่มเป็นสิ่งสวยงาม ช่วยให้มนุษย์มีแสงสว่างในยามที่พระอาทิตย์ลับจากขอบฟ้า ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย และช่วยให้ภายในบ้านของเรารู้สึกอบอุ่นสว่างไสว อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับพลาสติกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อแสงประดิษฐ์มีจำนวนมากเกินไปก็ย่อมส่งผลให้เกิด มลภาวะทางแสง

แสงไฟจากถนนและป้ายร้านค้ายามค่ำคืนที่ตกกระทบลงบนอาคาร / ภาพถ่าย Kevin Laminto

มลภาวะทางแสง (Light Pollution) หมายถึง ภาวะความสว่างจากแสงสว่างภายนอกอาคารในระดับที่สูงกว่าระดับที่เหมาะสมต่อการมองเห็น หรือระดับที่เกินไปกว่าความจำเป็นต่อการประกอบกิจกรรมยามค่ำคืน หรือแสงสว่างภายนอกอาคารต้องถูกปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดแสงสว่าง (แสงประดิษฐ์) ภายนอกอาคารมาเป็นเวลานานพอที่จะทำลายสมดุลช่วงเวลาความสว่างตามธรรมชาติในเวลากลางวันและความมืดตามธรรมชาติในเวลากลางคืน หรือถูกปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดแสงสว่าง (แสงประดิษฐ์) ในทิศทางที่ส่องรุกล้ำเข้าไปอาคาร เคหสถานหรือสิ่งปลูกสร้างของบุคคลอื่น จนไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญในการดำเนินชีวิตประจำวันของบุคคลอื่น

แสงฟุ้งบนท้องฟ้าจากพื้นโลก

มลภาวะทางแสงเป็นปัญหาระดับโลก ภาพถ่ายจากดาวเทียมจากหน่วยงานด้านอวกาศของหลายประเทศต่างแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาพถ่ายยามค่ำคืนของโลกสว่างไสวอย่างไร โดยมีพื้นที่เพียงไม่กี่แห่งบนโลก (ไซบีเรีย ทะเลทรายซาฮารา และป่าแอมะซอน) ที่ยังคงเป็นพื้นที่มืดมิดอย่างแท้จริงในยามค่ำคืน โดยประเทศที่มีมลภาวะทางแสงมากที่สุดในโลก ได้แก่ สิงคโปร์ กาตาร์ และคูเวต

ภาพถ่ายดาวเทียมของย่านแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา / ภาพถ่าย นาซา

แสงฟุ้งเป็นแสงสว่างที่เกิดขึ้นจากแสงประดิษฐ์ในเขตเมือง โดยมีแหล่งกำเนิดจากไฟรถยนต์ ไฟถนน ไฟบนอาคารสำนักงาน โรงงาน และป้ายโฆษณา ที่เปลี่ยนค่ำคืนให้กลายเป็นกลางวันสำหรับคนที่ทำงานและใช้ชีวิตหลังพระอาทิตย์ตกดิน

ประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 80 และกว่าร้อยละ 90 ของชาวอเมริกันและยุโรป อาศัยอยู่ภายใต้แสงฟุ้ง อาจฟังดูสวยงาม แต่แสงฟุ้งบนท้องฟ้าที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์เป็นหนึ่งในรูปแบบของมลภาวะทางแสงที่พบได้มากที่สุด

ผลกระทบจาก มลภาวะทางแสง

แสงประดิษฐ์ในเวลากลางคืนส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์และสัตว์ โดยรบกวนวงจรชีวภาพภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต เช่น รบกวนวงจรการนอนหลับ การหาอาหาร และการอพยพย้ายถิ่น

โดยหนึ่งในกระบวนการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือวงจรการหลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทโดยตรงต่อการนอนหลับ เมลาโทนินจะหลั่งจากสมองเมื่อมีแสงน้อย และในทางตรงกันข้าม แสงสว่างคือตัวยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน

ช่วงแสงสีฟ้าเป็นช่วงของคลื่นแสงที่รบกวนการนอนของมนุษย์ / ภาพถ่าย Ben Sweet

ที่ผ่านมา งานวิจัยหลายฉบับได้ศึกษาบทบาทของเมลาโทนินต่อสุขภาพของมนุษย์ พบว่า ปริมาณเมลาโทนินที่หลังน้อยลงมีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็ง และการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า แสงสีฟ้าเป็นช่วงของคลื่นแสงที่ทำให้ปริมาณเมลาโทนินลดลง โดยแสงสีฟ้ามีแหล่งกำเนิดจากจอภาพของโทรศัพท์มือถือ จอคอมพิวเตอร์ จอโทรทัศน์ รวมไปถึงจากหลอด LED

เมื่อการนอนหลับถูกรบกวนจากแสงสว่างจะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายและอารมณ์ของมนุษย์ ทำให้เกิดภาวะความดันสูง ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ส่งผลให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และอาการเรื้อรังในระยะยาว

แสงไฟจากเมืองรบกวนกิจกรรมของนกบางชนิด / ภาพถ่าย Michel Catalisano

นอกจากนี้ แสงไฟประดิษฐ์ในยามค่ำคืนยังส่งผลกระทบต่อการอพยพประจำฤดูกาลของนกบางชนิด ทำให้นกสับสนและหลงออกจากเส้นทางอพยพ กระทบต่อช่วงเวลาการผสมพันธุ์ และจำนวนประชากรของนก

แมลงเป็นสัตว์ที่รับรู้แสงไฟได้ดีมาก แมลงที่เป็นอาหารของนกและสัตว์ในป่ามักจะบินตามฟุ้งออกมาตอมหลอดไฟและตายลงในท้ายที่สุด ทำให้ประชากรแมลงในป่าลดลง ซึ่งหมายถึงอาหารของสัตว์ป่าก็ลดลงด้วย เมื่อาหารลดลงก็ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ

เราจะช่วยลดมลภาวะทางแสงได้อย่างไร

ผู้คนจำนวนมากกำลังดำเนินกิจกรรมเพื่อลดมลภาวะทางแสง และนำท้องฟ้ายามค่ำคืนกลับมา หลายประเทศได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมแสงไฟประดิษฐ์ที่ติดตั้งกลางแจ้ง และผู้ประกอบการหลายรายได้ผลิตแสงไฟที่มีประสิทธิภาพสููงขึ้น เพื่อช่วยลดมลภาวะทางแสง และประหยัดพลังงาน

ภาคประชาชนสามารถช่วยลดมลภาวะทางแสงด้วยการเปิดไฟในสนาม และนอกบ้าน เท่าที่จำเป็น หรือหากกำลังจะเข้านอนก็ควรปิดไฟนอกบ้านทั้งหมด การปิดผ้าม่าน มู่ลี่ หรือลดที่บังแดดลงในเวลากลางคืนก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันแสงจากในบ้านฟุ้งออกไปนอกตัวบ้าน

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง
https://education.nationalgeographic.org/resource/light-pollution
https://cires.colorado.edu/Artificial-light
https://sos.noaa.gov/catalog/datasets/light-pollution-artificial-sky-brightness/
https://blue-marble.de/
https://www.cigna.co.th/health-wellness/tip/jigsawforgoodlife-ep14
https://www.renovablesverdes.com/th/contaminacion-luminica/

อ่านเพิ่มเติม มลภาวะทางเสียง (Noise Pollution)

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.