ทำความรู้จักกับ พริกไทยปะเหลียน GI ชื่อดังจากตรัง รสเผ็ดร้อน ช่วยลดน้ำหนักและลดลิ่มเลือดในสมอง

พริกไทยปะเหลียน คือหนึ่งในสมุนไพรตัวอย่างองค์ความรู้ทางแพทย์แผนไทยและทางด้านวิทยาศาสตร์ในการเพิ่ม

ความเชื่อมั่นในสมุนไพรไทยนำไปสู่การบริโภคอาหารเป็นยา

พริกไทยตรังชนิดนี้ สามารถเป็นหนึ่งในพืชที่ช่วยผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งทางรัฐบาลไทยมุ่งเน้นทำความเข้าใจต่อประชาชนทั้งในและต่างประเทศ และช่วยสร้างรายได้สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศของกระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการศึกษาวิจัยพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน ซึ่งเป็นพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดตรัง เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกกันมาตั้งแต่โบราณ มีประวัติการปลูกมานับ 100 ปี และยังคงมีต้นพันธุ์ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ มีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น คือ มีรสชาติที่เผ็ดร้อนกำลังดี มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมล็ดเล็ก ฝักแน่น เหมาะกับการรับประทานสดและแห้ง จึงเป็นที่นิยมในร้านอาหารเป็นอย่างมาก และมีการพบการกระจายตัวในการปลูกทั้งจังหวัดตรัง และในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำเทคโนโลยีทางชีววิทยาระดับโมเลกุลในการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน ร่วมด้วยกับการศึกษาทางด้านองค์ประกอบสารเคมี เอกลักษณ์ทางเภสัชเวท ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งสามารถนำมาศึกษาความหลากหลาย การพัฒนาพันธุ์พืชพริกไทยที่มีคุณภาพ และสร้างเครื่องหมายทางพันธุกรรมของพืชสมุนไพรไทย เพื่อใช้ในการตรวจพิสูจน์สายพันธุ์ ทั้งนี้การศึกษาวิจัยพริกไทยพันธุ์ปะเหลียนจะเป็นโมเดลที่ใช้ในการพัฒนาพันธุ์สมุนไพรที่มีคุณค่าชนิดอื่นๆ ของประเทศ โดยใช้ข้อมูลและวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ร่วมกับการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อนำมาศึกษาความหลากหลาย การตรวจระบุชนิด การจัดทำฐานข้อมูลจีโนม และเครื่องหมายทางพันธุกรรมของพืชสมุนไพรของประเทศไทย ร่วมกับการจำแนกพันธุ์ตามหลักการทางอนุกรมวิธานพืช ในการคัดเลือกพันธุ์ของพืชสมุนไพร ที่เหมาะต่อการปลูกและขยายพันธุ์ ได้พืชสมุนไพรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีประโยชน์ทางการแพทย์และพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คุณค่าทางโภชนาการของพริกไทย ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน (11.3%) แป้ง (50%) แคลเซียมฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอาซิน วิตามินซี น้ำมันหอมละเหย และสารอื่นๆ อีกมากมาย

พริกไทยปะเหลียน

ด้านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ร่วมกับเครือข่ายทีมวิจัยที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้โมเดลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน นำมาศึกษาและจัดจำแนกความแตกต่างของชนิดและสายพันธุ์ โดยอาศัยหลักทางพฤกษอนุกรมวิธาน ร่วมกับการตรวจระบุชนิดด้วยเทคนิคทางพันธุกรรมในระดับโมเลกุล

อย่างไรก็ตาม การทำ Genome sequencing และ DNA barcode เพื่อบ่งบอกลักษณะเฉพาะของพันธุ์พืชแต่ละชนิด รวมถึงการจัดทำเป็นข้อมูล ของพืชประจำถิ่น และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพริกไทยแต่ละพันธุ์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านสมุนไพรของประเทศ เพิ่มมูลค่าทางการค้า เพื่อตอบโจทย์ในการใช้ประโยชน์ และนำไปต่อยอดทางธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจต่อไป

สำหรับ พริกไทยพันธุ์พื้นเมืองปะเหลียน ได้ชื่อว่าเป็นสินค้า GI หลัง กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พริกไทยตรัง ในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2564 กับคุณสมบัติอย่างรสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นฉุนเป็นเอกลักษณ์ โดยเริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในตลาดยุโรป แต่ปี 2441 พริกไทยเริ่มราคาตก ทางปีนังไม่ใคร่รับซื้อ พระยารัษฎาฯ จึงส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนพริกไทย เช่น มะพร้าว หมาก จันทน์เทศ และยางพารา

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า พริกไทย (Piper nigrum L.) เป็นพืชในกลุ่มวงศ์ Piperaceae เป็นพืชจำพวกไม้เถาเลื้อย มีความสูงประมาณ 5-6 เมตร มีลักษณะลำต้นเป็นข้อปล้อง มีรากส่วนที่อยู่ในดิน และรากฝอยออกตามข้อสำหรับการยึดเกาะ เป็นพืชที่มีอายุยืน ผลมีลักษณะเป็นช่อไม่มีก้านผล ซึ่งพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองของไทยมีความโดดเด่นไม่ด้อยกว่าพันธุ์พริกไทยนำเข้าของต่างประเทศ เช่น มีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นสาบ เมื่อทำพริกไทยแห้งรสเผ็ดร้อน ไม่แทรกรสขม ผลกรอบไม่เหนียวเหมาะกับการทำอาหารและเป็นเครื่องยาในยาแผนไทย

พริกไทยตรัง

อนึ่ง จากการทำงานร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร และคณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มีผลวิจัยพบว่า พริกไทยตรังมีกรดแกมมาไลโนเลนิก (Gamma Linolenic Acid) 14.88 mg/100 g. ส่วนพริกไทยพันธุ์ซาราวัค, ซีลอน และจันทบุรี ไม่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดนี้เลย จึงทำให้พริกไทยตรังเป็นพริกไทยชนิดเดียวในประเทศไทยที่มีสรรพคุณช่วยสลายลิ่มเลือดในสมอง

ขณะเดียวกันกลับไม่พบ กรดไมริสติก (myristic acid) ในพริกไทยตรังเลย ส่วนในพริกไทยพันธุ์ซาราวัค, ซีลอน และจันทบุรี พบกรดไขมันอิ่มตัวชนิดนี้มากถึง 13.18, 96.03 และ 72.48 mg/100 g. ตามลำดับ ดังนั้นคุณสมบัตินี้เลยทำให้พริกไทยตรังเหมาะที่นำไปทำเป็นยาช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย

 

ที่มา

https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1796

บทความที่เกี่ยวข้อง พืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก ที่พบในประเทศไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.