พืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก ที่พบในประเทศไทย

พืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก ที่พบในประเทศไทย

นักวิชาการไทยค้นพบ พืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก และรายงานครั้งแรกในไทยอีกหนึ่งชนิด บ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพของไทย

วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับปีนี้ นักวิชาการไทยค้นพบ พืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก เช่น กระเจียวจรัญ กระเจียวรังสิมา ขมิ้นน้อย ขมิ้นพวงเพ็ญ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิงและนักพฤกษศาสตร์ของไทย นอกจากนี้ยังพบพืชวงศ์ขิงที่มีการรายงานใหม่ในประเทศไทยอีกหนึ่งชนิด เตรียมศึกษาอนุรักษ์ระยะยาว

รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นักวิจัยสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข นักวิจัยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ได้รับทุนวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อดำเนินโครงการองค์ความรู้พื้นฐานโครโมโซมของพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย

ในช่วง ปี 2563 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยสำรวจและเก็บข้อมูลพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย เพื่อนำตัวอย่างพืชมาศึกษาโครโมโซม และได้ตรวจสอบลักษณะพืชเพื่อจำแนกพืชให้ได้ชื่อวิทยาศาสตร์พืชแต่ละชนิด แบ่งเป็นสกุลสกุลขมิ้นหรือสกุลกระเจียว (Curcuma) 6 ชนิด และสกุลเปราะ (Kaempferia) 2 ชนิด มีลักษณะพืชที่แตกต่างและไม่ตรงกับพืชชนิดอื่นๆ โดยผู้วิจัยตั้งชื่อตามกฎเกณฑ์การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช และได้ตีพิมพ์ในวารสาร Biodiversitas เรียบร้อยแล้ว

พืชวงศ์ขิง, วงศ์ขิง, ค้นพบพืชชนิดใหม่, ความหลากหลายทางชีวภาพ,
(บนและล่าง) ดอกขมิ้นน้อย / ภาพถ่าย สวทช.

พืชวงศ์ขิง, วงศ์ขิง, ค้นพบพืชชนิดใหม่, ความหลากหลายทางชีวภาพ,

รศ.ดร.สุรพล แสนสุข กล่าวว่า การค้นพบพืชตระกูลขิงชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิด ประกอบด้วย ชนิดที่หนึ่ง ขมิ้นน้อยหรือ “Khamin-Noi” Curcuma chantaranothaii Boonma & Saensouk เป็นพืชป่าจากจังหวัดนครนายก ที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วประเทศไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดนี้ตั้งเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย ผู้เป็นนักพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในแวดวงพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยและของโลก

พืชวงศ์ขิง, วงศ์ขิง, ค้นพบพืชชนิดใหม่, ความหลากหลายทางชีวภาพ
กระเจียวรังสิมา

ชนิดที่สอง กระเจียวรังสิมา หรือ Krachiao Rangsima” หรืออีกชื่อคือบุษราคัม หรือ Bussarakham มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma rangsimae Boonma & Saensouk พบในจังหวัดนครนายก สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา ชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตั้งเป็นเกียรติแก่ คุณรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมอาวุโส โปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ บุคคลที่อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

พืชวงศ์ขิง, วงศ์ขิง, ค้นพบพืชชนิดใหม่, ความหลากหลายทางชีวภาพ,
ขมิ้นพวงเพ็ญ

ชนิดที่สาม ขมิ้นพวงเพ็ญหรือ “Khamin-Puangpen” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma puangpeniae Boonma & Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดราชบุรี ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย

พืชวงศ์ขิง, วงศ์ขิง, ค้นพบพืชชนิดใหม่, ความหลากหลายทางชีวภาพ,
(บนและล่าง) กระเจียวจรัญ / ภาพถ่าย สวทช.

พืชวงศ์ขิง, วงศ์ขิง, ค้นพบพืชชนิดใหม่, ความหลากหลายทางชีวภาพ,

ชนิดที่สี่ กระเจียวจรัญ หรือ “Krachiao Charan” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma charanii Boonma & Saensouk อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดลพบุรี ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ดร.จรัญ มากน้อย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิง โดยเฉพาะสกุล Curcuma ในประเทศไทย

พืชวงศ์ขิง, วงศ์ขิง, ค้นพบพืชชนิดใหม่, ความหลากหลายทางชีวภาพ
พญาว่าน / ภาพถ่าย สวทช.

ชนิดที่ห้า พญาว่าน หรือ “Phraya Wan” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma phrayawan Boonma & Saensouk พบที่จังหวัดนครนายก และปลูกเป็นพืชสมุนไพรทั่วไทย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามชื่อพื้นเมืองที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “พญาว่าน

พืชวงศ์ขิง, วงศ์ขิง, ค้นพบพืชชนิดใหม่, ความหลากหลายทางชีวภาพ
กระเจียวม่วง / ภาพถ่าย สวทช,

ชนิดที่หก กระเจียวม่วง หรือ “อเมทิสต์” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma purpurata Boonma & Saensouk พบที่จังหวัดศรีสะเกษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามสีม่วงของดอกพืช

รศ.ดร.สุรพล กล่าวเสริมว่า สำหรับพืชวงศ์ขิงที่พบเพิ่มเติมแต่อยู่ในสกุลเปราะ (Kaempferia) 2 ชนิด คือ ชนิดที่เจ็ด นิลกาฬ หรือ Nillakan มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia nigrifolia Boonma & Saensouk พืชชนิดใหม่ของโลกนิลกาฬนี้ได้ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ พบทางภาคกลางของประเทศไทย ได้ศึกษาโดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ชื่อพื้นเมือง คือ นิลกาฬ หรือ Nillakan ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ ดังนั้นลักษณะเด่น คือ ใบสีดำดอกและสีม่วง

ว่านกระจายดำเทียม / ภาพถ่าย สวทช.

และชนิดที่เจ็ด ว่านกระชายดำเทียม มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia pseudoparviflora Saensouk and P. Saensouk ลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีใบเดียว ก้านช่อดอกสั้น และช่อดอกอัดแน่น พบทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้ศึกษาโดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ชื่อพื้นเมือง คือ ว่านกระชายดำเทียม

นิลกาฬ / ภาพถ่าย สวทช.

ชนิดสุดท้าย เป็นพืชวงศ์ขิงที่มีการรายงานใหม่ในประเทศไทย 1 ชนิด คือ ว่านหัวน้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma peramoena Souvann. & Maknoi. พบครั้งแรกที่ สปป. ลาว และมีการพบในประเทศไทยที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ลักษณะเด่นช่อดอกอัดแน่น ดอกสีขาวปนสีชมพูอ่อน กลีบปากมีแถบสีเหลือง

การค้นพบพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิดนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ” รศ.ดร.สุรพล กล่าวและเสริมว่า เพราะพืชวงศ์ขิง “เป็นพืชที่มีประโยชน์ทั้งสรรพคุณของสมุนไพรไทย เป็นพืชผักพื้นบ้าน เป็นไม้ดอกไม้ประดับ และยังมีความสวยงามของต้นและดอกสีสันสดใส ควรค่าแก่การอนุรักษ์ รักษา

คณะผู้วิจัยกำลังมีแนวทางในการขยายพันธุ์จากเหง้าและขยายพันธุ์โดยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ที่เกิดจากงานวิจัย ถ่ายทอดลงสู่ชุมชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป เพื่อทำการอนุรักษ์สายพันธุ์ต่างๆ ในระยะยาวต่อไป

นับเป็นข่าวดีต้อนรับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ International Day of Biological Diversity ซึ่งตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CDB) เริ่มมีผลบังคับใช้คือวันที่ 22 พ.ค. 2535 เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม

ทั้งนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง สิ่งมีชีวิตนานาชนิด เช่น พืชและสัตว์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันตามหน่วยของพันธุกรรมและสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นสายพันธุ์ หากถิ่นที่อยู่อาศัยมีความแตกต่างกันมากเพียงใดก็ยิ่งมีสิ่งชีวิตหลากหลาย มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การค้นพบราแมลงชนิดใหม่ของโลก (new species) 47 สายพันธุ์

Recommend