รู้จัก กัมมันตรังสี ‘ ซีเซียม-137 ’ สารอันตรายที่หายไปอย่างน่ากังวล

รู้จัก กัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ สารอันตรายที่ใครส่งคืนมีรางวัล 5 หมื่นบาท นักวิทย์ฯ ยกเปรียบเทียบเหตุการณ์โคบอลต์-60

ไม่กี่วันมานี้ คนไทยบางรายอาจเพิ่งได้ยินชื่อของ “ ซีเซียม-137 ” (Cesium-137) จากกรณีท่อเก็บสารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ (Cesium-137) เป็นวัสดุทรงกลม ยาว 8 นิ้ว กว้าง 5 นิ้ว หนัก 25 กก. หายไปจากโรงงานไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เมื่อหลายวันก่อน และช่วงสายวันนี้ (15 มี.ค.66) ก็ยังค้นหาไม่พบ และล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ตั้งรางวัล 50,000 บาท สำหรับคนที่ให้ข้อมูลนำสารดังกล่าวกลับคืนมาได้

รายงานข่าวจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ระบุว่า การค้นหาสารอันตราย ซีเซียม-137 เจ้าหน้าที่ได้ค้นหาร้านขายของเก่ากว่า 40 ร้านใน จ.ปราจีนบุรี พร้อมขอความร่วมมือประชาชนห้ามผ่า เพราะอาจทำให้สารกัมมันตรังสีที่บรรจุอยู่ด้านในรั่วไหลได้ และเกิดผลกระทบโดยฉับพลันกับผู้สัมผัสหรืออยู่ใกล้ในรัศมี 1-2 เมตร

ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปราจีนบุรีรายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก ซึ่งกรณีนี้หากยังอยู่ในสภาพเดิม จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

สำหรับสารซีเซียม-137 เป็นกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) คือ สารไอโซโทปของซีเซียม ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี ปล่อยรังสีบีตา และรังสีแกมมา โดยอันตรายที่จะเกิดขึ้นหากสัมผัสในช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน แต่หากสัมผัสในระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้นจะเริ่มมีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย หากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในนัยน์ตา ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ

นอกจากนี้ หากสารดังกล่าวปนเปื้อนลงไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ ขึ้นกับปริมาณการรับและการสะสม หากสัตว์รับสารรังสีเข้าไปจะเพิ่มความเข้มข้นสะสมในห่วงโซ่อาหาร แต่ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนว่าจะถึงขั้นเปลี่ยนระบบนิเวศน์ใต้ทะเลหรือไม่

บทความจากสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย เคยให้ข้อมูลถึงซีเซียม-137 (Caesium-137) ว่า ซีเซียม-137เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชันที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ซีเซียม-137มีครึ่งชีวิต 30.17 ปี ประมาณ 95% สลายตัวโดยการปลดปล่อยรังสีบีต้าแล้วกลายเป็นแบเรียม-137m (barium-137m) ซึ่งเป็นไอโซโทปกึ่งเสถียร (metastable) หรือไอโซเมอร์ของแบเรียม-137 (137mBa, Ba-137m) ส่วนอีก 5% สลายตัวไปเป็นไอโซโทปเสถียรโดยตรง แบเรียม-137m (Ba-137m) สลายตัวให้รังสีแกมมา โดยมีครึ่งชีวิต 2.55 นาที ซีเซียม-137 ปริมาณ 1 กรัม มีกัมมันตภาพรังสี 3.215 เทราเบคเคอเรล (terabecquerel, TBq)

โฟตอนจากไอโซโทปรังสีแบเรียม-137m มีพลังงาน 662 keV สามารถใช้ประโยชน์ในการฉายรังสีอาหาร (food irradiation) ใช้ในด้านรังสีรักษา (radiotherapy) สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง มีการใช้ซีเซียม-137 สำหรับการถ่ายภาพด้วยรังสีทางอุตสาหกรรมไม่มากนัก เนื่องจากเป็นวัสดุที่ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี เกลือของซีเซียมละลายน้ำได้ดีทำให้ควบคุมความปลอดภัยได้ยาก จึงมีการใช้โคบอลต์-60 (Cobalt-60) ในงานด้านการถ่ายภาพด้วยรังสีมากกว่า นอกจากจะเป็นโลหะที่ไวต่อปฏิกิริยาน้อยกว่าแล้ว ยังให้รังสีแกมมาพลังงานสูงกว่า การนำมาใช้งาน เราจะพบซีเซียม-137 ได้ในอุปกรณ์วัดความชื้น เครื่องวัดอัตราการไหลหรืออุปกรณ์ตรวจวัดชนิดอื่นที่ใช้หลักการทำงานคล้ายกัน

สำหรับการนำมาใช้ประโยชน์ มีการนำซีเซียม-137 มาใช้ไม่มากนัก ถ้าปริมาณน้อยๆ จะใช้สำหรับปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสี ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน ใช้เป้นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง รวมทั้งใช้ในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความหนาของวัสดุ เครื่องวัดการไหลของของเหลว

ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์นี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เปรียบเทียบการสูญหายของซีเซียม-137กับกรณี โคบอลต์-60 ที่เคยเป็นข่าวเมื่อปี 2543

“ซีเซียม-137คือสารไอโซโทปของซีเซียม ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี ปล่อยรังสีบีตา และรังสีแกมมา และนับเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งโอกาสที่จะเป็นมะเร็งต้องได้รับสารปนเปื้อนเข้าไปในร่างกาย ส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ ตับ และไขกระดูก”

เรื่องนี้น่ากังวลเหมือนสมัยก่อนที่เคยมีข่าว ปี 2543 ที่มีคนเก็บของเก่า เอาส่วนหัวของเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ โคบอลต์-60 ไปแกะแยกส่วน แล้วมีผู้ป่วยถึง 10 คนโดยเสียชีวิตไป 3 ราย จึงหวังว่าจะได้รับคืนมาโดยเร็ว และไม่มีใครไปแกะไปผ่ามันนะครับ” รศ.ดร.เจษฎา อธิบาย

ที่มา : สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย

https://www.nst.or.th/article/article54/article54-004.html


อ่านเพิ่มเติม ธาตุกัมมันตรังสี (Radioactive Element) คึออะไร มีการนำประโยชน์ และข้อควรระวังอย่างไร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.