เทเลพอร์ต (การย้ายตัวเองไปทางไกลทันที) มนุษย์จะทำได้ไหม และอีกนานแค่ไหนที่เราจะทำได้?

กรณีการ เทเลพอร์ต (teleport) จริงๆ แล้ว คำตอบคือ ‘ทำได้’ ตามทฤษฎีจากวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ควอนตัม คงจะดีถ้าเราลุกขึ้นจากเตียงในตอนเช้าแล้วแต่งตัว จากนั้นก็โผล่มาที่โต๊ะทำงานโดยไม่ต้องนั่งเครียดบนถนนที่เต็มไปด้วยรถติดของกรุงเทพฯ หรือต้องคอยยืนเบียดในช่วงเวลาเร่งรีบบนรถไฟฟ้า การเทเลพอร์ตจะช่วยประหยัดเวลาที่เสียไปกับการเดินทางได้ดีอย่างยิ่ง

“ผู้คนจะนึกถึง Star Trek โดยอัตโนมัติเมื่อได้ยินเรื่องการเคลื่อนย้ายทางไกล” แอนเดรียส วอลราฟฟ์ (Andreas Wallraff) นักฟิสิกส์จากห้องปฏิบัติการณ์อุปกรณ์ควอนตัม ที่สถาบันเทคโนโลยีซูริค สวิตเซอร์แลนด์ กล่าว

ถึงอย่างนั้น ในโลกแห่งความเป็นจริง มันยากในระดับที่ ‘น่าขนหัวลุก’ ตามที่ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ถึงปรากฎการณ์ ‘การพัวพันของควอนตัม’ เพราะเทเลพอร์ตนั้นเกี่ยวข้องกับสาขาฟิสิกส์ที่น่าฉงนนี้ ซึ่งเราสามารถส่งข้อมูลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งที่อยู่ห่างไกลด้วยความเร็วที่ไวกว่าแสง (ซึ่งทำให้ไอน์สไตน์ไม่สบายใจอย่างยิ่ง)

แต่สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อ 3 นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีที่ผ่านมา (2022) พิสูจน์ว่าสำหรับควอนตัมแล้ว อนุภาคสามารถติดต่อกันแม้ไม่ได้เชื่อมโยงกันทางภายภาพกันก็ตาม ราวกับมันเคลื่อนที่ไปยังอีกที่โดยไม่ต้องเดินทาง

“นั่นคือที่มาของความสัมพันธ์ (ในควอนตัม) กับ Star Trek” วอลราฟฟ์ระบุ “คุณสามารถทำให้ข้อมูลหายไปแล้วปรากฎขึ้นอีกครั้งที่จุดอื่นในอวกาศ” เขาเสริมว่ามันเป็นเช่นเดียวกับ Star Trek ที่ย้ายคนจากจุด A ไปยังจุด B โดยไม่ต้องให้บุคคลผู้นั้นเดินทาง พวกเขาหายตัวแล้วไปปรากฏขึ้นอีกครั้ง

แล้วเทเลพอร์ตจะเกิดขึ้นได้จริงไหม? นั่นเป็นคำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้ เพราะเราไม่ได้พูดถึงข้อมูลของอนุภาคเล็ก ๆ หนึ่งอนุภาค แต่เรากำลังกล่าวถึงร่างกายมนุษย์ซึ่งมีอะตอมมากกว่า 7 พันล้านพันล้านอะตอม โดยคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์นั้นจะต้องระบุและวิเคราะห์ข้อมูลของอนุภาคทุกตัวในอะตอม

จากนั้นก็ส่งข้อมูลไปยังเครื่องรับอีกเครื่องหนึ่งให้สร้างข้อมูลทุกอย่างขึ้นมาใหม่ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำของเรา ความรู้สึก หรือปฏิกิริยาเคมีในสมอง ด้วยความแม่นยำถึงที่สุด เพราะแม้แต่โอกาส 1 ในพันล้านก็ทำให้ร่างกายเสียหายได้

หลักความไม่แน่นอนของไฮเซนเบิร์กกล่าวไวว่า ไม่มีทางที่เราจะรู้ข้อมูลของอนุภาคได้ครบทุกด้าน 100 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งไปกว่านั้น เทเลพอร์ตอาจสร้างปัญหาด้านศีลธรรมเมื่อเราสร้างร่างขึ้นมาอีกร่างหนึ่ง จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างที่เป็นต้นฉบับ เราจะถือว่าร่างนั้น ‘ตาย’ แล้วรึยัง และที่สำคัญปัจจุบันนี้ยังไม่มีซุปเปอร์คอมพิวเตอร์หรือควอนตัมคอมพิวเตอร์ใด ๆ จะมีพลังการประมวลผลข้อมูลทั้งหมด

กระนั้นนักวิทยาศาสตร์หลายคนก็เชื่อว่าไม่มีกฎใดของฟิสิกส์ที่บอกว่าการเทเลพอร์ตของมนุษย์นั้นเป็นไปไม่ได้ บางที่เราอาจแค่ต้องศึกษา เรียนรู้ และพัฒนาต่อไป

แต่ในตอนนี้เราหวังได้เพียงว่าคุณจะสามารถจัดการเวลาเพื่อใช้เดินทางในประเทศไทยได้ดีกว่าเดิมด้วยตัวเองไปก่อน

Photo by Mathew Schwartz on Unsplash

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/science/article/130814

https://kids.nationalgeographic.com/books/article/could-humans-teleport

https://beta.nsf.gov/news/teleportation-possible-yes-quantum-world

https://science.howstuffworks.com/science-vs-myth/everyday-myths/teleportation.htm

https://science.howstuffworks.com/science-vs-myth/everyday-myths/teleportation.htm

อ่านเพิ่มเติม เชื่อหรือไม่! มนุษย์จะไปถึงจุด “ ความเป็นอมตะ ” ได้ภายในปี 2030

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.