แต่อย่างไรก็ตาม หากนับตั้งแต่ ‘ฐานถึงยอด’ แล้ว เอเวอเรสต์ไม่ใช่ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก แต่กลับเป็น ‘เมานาเคอา’ (Mauna Kea) ในฮาวายที่สูงจาก ‘ระดับนน้ำทะเล’ เพียง 4,250 เมตรกลายเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในโลก ตัวเลขนี้อาจทำให้หลายคนสับสนได้ เพราะน้อยกว่า เอเวอเรสต์ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งหมดแตกต่างที่วิธีการนับ
หากนับจาก ‘ระดับน้ำทะเล’ เอเวอเรสต์คือยอดที่สูงที่สุดไม่มีใครเทียบ แต่หากนับจาก ‘ฐานถึงยอด’ ผู้ชนะจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเมานาเคอานั้นมีฐานส่วนหนึ่งจมอยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งฐานนั้นสูงมากถึงประมาณ 6,000 เมตร กล่าวอีกนัยหนึ่ง “เกินกว่าครึ่งของเมานาเคอาจมอยู่ใต้น้ำ”
เมื่อนับรวมกันทั้งหมดแล้ว ทำให้มันมีความสูงถึงราว 10,210 เมตร สูงกว่าเอเวอเรสต์เกือบ 2 กิโลเมตร กลายเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในโลกเมื่อนับจากฐานถึงยอด ไม่เพียงเท่านั้น เมานาเคอา ยังเป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันก่อตัวขึ้นเหนือจุดร้อนของเปลือกโลก ซึ่งเป็นบริเวณที่หินหนืด (หรือแมกมา)จากชั้นแมนเทิล (เนื้อโลก) พุ่งผ่านระหว่างเปลือกโลกและปะทุขึ้นสู่พื้นผิว เมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนผ่านจุดร้อน ภูเขาไฟหลายลูกก็ก่อตัวขึ้น
เมานาเคอา อาจก่อตัวขึ้นเมื่อราว 1 ล้านปีก่อน และปัจจุบันยังคงเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว โดยครั้งสุดท้ายที่มันคำรามคือเมื่อประมาณ 4,500 ปีก่อน นอกจากนี้ เมานาเคอา ยังเป็นที่ตั้งของหอดูดาวทางดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหอฯ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อเดียวกับภูเขา นั่นคือ เมานาเคอา เช่นกัน
ด้วยระดับความสูงนี้ทำให้มันสูงกว่าร้อยละ 40 ของชั้นบรรยากาศโลก ทำให้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 30 เมตร มูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ (ราว 4 หมื่นกว่าล้านบาท) มองเห็นวัตถุในจักรวาลที่อยู่ห่างไกลได้อย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น และมีการรบกวนจากชั้นบรรยากาศน้อยลง
สิ่งที่น่าสนใจคือ “โลกของเราไม่ได้เป็นทรงกลมสมบูรณ์” แถบเส้นศูนย์สูตรของโลกนั้นนูนออกมา ทำให้ผู้คนที่อยู่แถบนั้นเช่นประเทศ เอกวาดอร์ เคนยา แทนซาเนีย อินโดนีเซีย อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าคนที่อาศัยแถบขั้วโลกเหนือหรือใต้ถึง 21 กิโลเมตร (ไทยอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย)
แต่แน่นอนว่าสำหรับนักปีนเขาที่ปีนเขาเอเวอเรสต์จะยังคงได้รับการชื่มชมถึงที่สุดต่อไป เนื่องจากความยากลำบากในการไปถึงยอด ซึ่งต้องใช้แรงกายและแรงใจเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย นักปีนเขาต้องใช้เวลาราว 10 วันเพียงเพื่อไปถึงเบสแคมป์ของเอเวอเรสต์
จากนั้นก็ต้องอยู่ที่นั่นอีกประมาณ 6 สัปดาห์เพื่อให้ชินกับสภาพอากาศและความเบาบางของออกซิเจน แล้วต้องปีนขึ้นไปท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บอย่างยากลำบากอีกราว 9 วัน ดังนั้น ผู้ที่ทำสำเร็จคือหนึ่งในสุดยอดผู้กล้าของโลกซึ่งพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุด เมื่อวัดจากระดับน้ำทะเล
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.iflscience.com/the-worlds-tallest-mountain-isnt-mount-everest-69831
https://www.sciencealert.com/mount-everest-isn-t-really-the-tallest-mountain-earth-science
https://www.zmescience.com/feature-post/natural-sciences/geography/tallest-mountain-world