เราอาจพบ สิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร แล้วเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ก็ฆ่ามันทันทีโดยไม่ตั้งใจ

พบ สิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร แนวคิดนี้มาจากศาสตราจารย์ เดิร์ก ชูลซ์-มาคุช (Dirk Schulze-Makuch) นักชีวดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ที่ได้เสนอว่า การทดลองของยานไวกิ้งที่สำรวจดาวอังคารเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 ด้วย “การเติมน้ำลงดิน” อาจเป็นการฆ่าจุลินทรีย์ทั้งหมดบนดาวอังคาร

ย้อนกลับไปในขณะนั้น นาซา (NASA) ได้ส่งยานไวกิ้ง 2 ลำไปยังพื้นผิวดาวอังคารพร้อมกับเครื่องมือเพื่อตรวจหาสิ่งมีชีวิต ผลลัพธ์ที่ได้สร้างความสับสนใหักับนักวิทยาศาสตร์อย่างมาก โดยในขั้นต้น มันเป็นผลบวกว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ แต่ขั้นต่อมากลับบอกว่าไม่ใช่

กระนั้น ไวกิ้ง ก็ยังพบร่องรอยของสารอินทรีย์ที่มีคลอรีนอยู่ แต่ถูกตีความว่าเป็นการปนเปื้อนจากโลกเสียเอง ด้วยผลเหล่านี้ทำให้ เจอราล์ด ซอฟเฟน (Gerald Soffen) นักวิทยาศาสตร์โครงการไวกิ้งเมื่อตอนนั้นกล่าวว่า “ไม่มีร่าง ก็ไม่มีชีวิต” หรือพูดง่าย ๆ ว่าถ้าไม่เห็นเป็นตัวจริง ๆ ก็ไม่อาจบอกได้ว่ามีชีวิต

ท้ายที่สุด โครงการไวกิ้งก็ระบุผลการสำรวจว่าไม่เจอชีวิต หรืออย่างน้อยก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ในช่วง 50 ที่ผ่านมา นาซา ส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคารอีกมากมาย โดยเฉพาะกับยานคิวริออซิตี้ (Curiosity) และ เพอร์เซอเวียแรนซ์ (Perseverance) ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าดาวอังคารมีสารประกอบอินทรีย์อยู่จริง

แต่พวกมันอยู่ในรูปของคลอรีน ซึ่งทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า มันเกิดขึ้นจากกระบวนการทางชีววิทยา หรือปฏิกิริยาเคมีที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตกันแน่? ชูลซ์-มาคุช เชื่อว่ามันมาจากสิ่งมีชีวิต เหตุผลของเขาคือ ดาวอังคารเป็นสถานที่ที่แห้งแล้งมากเมื่อเทียบกับโลก

และสิ่งมีชีวิตบนโลกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งจะปรับการใช้น้ำของตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ในทะลายทรายอาตาคามา ประเทศชิลี จุลินทรีย์ในนั้นต่างอยู่ใกล้หินเกลือ หรือครอลีนไอออน บนโลกมักละลายอยู่ในมหาสมุทร และดาวอังคารก็มีหลักฐานว่าเคยมีมหาสมุทรมาก่อน

ก้อนเกลือเหล่านั้นจะดึงน้ำโดยตรงจากความชื้นในอากาศเป็นน้ำ ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ใกล้มันไม่จำเป็นต้องการน้ำ พวกมันแค่ต้องการความชื้นในบรรยากาศเล็กน้อยเท่านั้น บนดาวอังคารก็อาจเป็นเช่นเดียวกัน โดยยานไวกิ้งลงจอดในบริเวณเส้นศูนย์สูตรซึ่งมีปริมาณเกลือในดินค่อนข้างต่ำ

แต่กลับมีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) จำนวนมากในดิน กระนั้น สารประกอบนี้ก็สามารถอุ้มน้ำได้มากเหมือนเกลือ ขณะเดียวกัน ยานไวกิ้งเองก็สังเกตเห็นหมอกบนดาวอังคาร ซึ่งหมายถึงความชื้น ดังนั้นโดยหลักการแล้ว จะมีความชื้นสัมพัทธ์สูงพอในตอนเช้าและตอนเย็น

ทว่า การทดลองของยานไวกิ้งคือการเติมน้ำลงไป การทำเช่นนั้นเป็นเหมือนการยัดเยียดน้ำปริมาณให้คนที่ไม่ได้หิวน้ำมากขนาดนั้นดื่ม บางทีมันอาจมากจนสำลักน้ำหรือน้ำเกินในร่างกายจนเสียชีวิต เช่นเดียวกัน จุลินทรีย์บนดาวอังคารที่ไม่ต้องการน้ำ อาจจมน้ำตายเพราะยานไวกิ้ง

สิ่งนี้สามารถอธิบายผลลัพธ์ของเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจจับสารประกอบอินทรีย์บนยานไวกิ้งได้ ถ้าจุลินทรีย์มีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์อยู่ กระบวนการทดสอบจะฆ่ามันและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จะทำปฏิกิริยากับโมเลกุลอินทรีย์อื่น ๆ ใกล้เคียงและเกิดคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากเหมือนกับที่เครื่องมือตรวจจับได้

“หากเราสันนิษฐานว่าสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารอาจปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมโดยการรวมเอาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้าไปในตัวเซลล์ ก็สามารถอธิบายผลลัพธ์ของยานไวกิ้งเมื่อ 50 ปีก่อนได้” ชูลซ์-มาคุช กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://bigthink.com/hard-science/accidentally-killed-life-mars

https://www.iflscience.com/we-may-have-found-life-on-mars-50-years-ago-then-killed-it-70279

We Might Have Accidentally Killed the Only Life We Ever Found on Mars Nearly 50 Years Ago

อ่านเพิ่มเติม ภาพโลกและดวงจันทร์ จากมุมมอง ดาวอังคาร โดยยานอวกาศอายุ 20 ปี เน้นย้ำให้ตระหนักว่าเราไม่มีดาวเคราะห์สำรองอีกแล้ว

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.