หลังจากตายแล้ว คุณจะรู้ว่าคุณตาย – ชีวิตอาจไม่ได้สิ้นสุดลงทันทีที่ หัวใจหยุดเต้น เพราะสมองยังทำงานอยู่สักพัก รวมถึงจิตใต้สำนึกของเรา

หัวใจหยุดเต้น แต่สมองยังทำงาน ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาประสบการณ์เฉียดตาย (Near-Death Experiences) เพื่อพยายามทำความเข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว ความตายค่อย ๆ คืบคลานเข้ามา หรือเกิดขึ้นทันทีทันใดเมื่อเกิดการเสียชีวิตแล้ว

ในทางการแพทย์ เมื่อบุคคลหนึ่งเข้าสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นและไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปยังสมองได้อีกต่อไป เขาจะถูกพิจราณาว่าตายแล้ว

แม้จะมีขั้นตอนอื่น ๆ อีก แต่การที่หัวใจหยุดเต้นจะเป็นสัญญาณหลักที่บ่งบอกการเสียชีวิต เมื่อนักวิทยาศาสตร์เจาะลึกลงไปในช่วงเวลานี้พวกเขาก็พบสิ่งที่น่าประหลาดใจ

การศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสโตนีบรู๊ค (Stony Brook University) ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาพบว่า เมื่อร่างกายตาย หรือหัวใจหยุดเต้นลง จะมีกระแสไฟฟ้ากระชากเข้าสู่สมองช่วงหนึ่งก่อนที่จะตาย ส่งผลให้ภายในหัวของหนูที่ทดลองอยู่ในสภาวะตื่นตัวขึ้นชั่วขณะก่อนเสียชีวิต

ดร. แซม พาร์เนีย (Sam Parnia) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยดูแลผู้ป่วยวิกฤตและการช่วงชีวิตกล่าวว่ากระบวนการเหล่านี้อาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดร่วมกับกิจกรรมไฟฟ้าที่ผิดปกติร่วมกัน ซึ่งอาจอธิบายประสบการณ์ที่ผู้ป่วยบางคนรู้สึกเหมือนลอยอยู่เหนือร่าง หรือมองเห็นอุโมงค์ที่มีแสงสว่าง

“หลายครั้งผู้ที่มีประสบการณ์เฉียดตายได้พูดถึงเกี่ยวกับการลอยไปรอบ ๆ ห้องและตระหนักถึงทีมแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับร่างกายของพวกเขา” ดร.พาร์เนีย กล่าว

“พวกเขาจะบรรยายถึงการได้ดูแพทย์และพยาบาลทำงาน บรรยายถึงการตระหนักรู้ในบทสนทนาอย่างเต็มที่ มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น”

กระแสไฟฟ้าครั้งสุดท้ายที่หัวใจส่งให้สมองหลังจากหยุดเต้นอาจยังทำให้มีสติอยู่ได้นาน 2 ถึง 20 วินาที ดร.พาร์เนียระบุว่า นั่นคือระยะเวลาที่เปลือกสมองสามารถคงอยู่ได้โดยไม่มีออกซิเจน และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคิด การตัดสินใจ รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับการถอดรหัสข้อมูลที่รวบรวมมาจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเรา

“คุณจะสูญเสียปฏิกิริยาตอบสนองของก้านสมองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยาตอบสนอง การสะท้อนของรูม่านตา ทุกสิ่งต่างหายไป ในทางเทคนิคแล้วนั่นคือวิถีที่คุณจะเจอเมื่อความตายกำลังมา” ดร.พาร์เนียอธิบาย พร้อมเสริมว่าอาจต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่อวัยวะความคิดของเราปิดตัวลงอย่างสมบูรณ์

สิ่งนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับตอนทำ CPR ซึ่งจะค่อย ๆ รีสตาร์ทหัวใจและเริ่มการทำงานของสมองอีกครั้ง ดร.พาร์เนีย กล่าวว่า “ยิ่งคุณทำ CPR นานเท่าไหร่ เส้นทางการตายของเซลล์สมองก็จะยังคงเกิดขึ้น แต่เกิดในอัตราที่ช้าลงเล็กน้อย”

ทว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับประสบการณ์นี้ รายงานเกี่ยวกับประสบการณ์เฉียดตายระบุว่ามีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่กล่าวถึงการตระหนักรู้อย่างเต็มที่ ขณะที่ 46% ได้พูดถึงความทรงจำขณะถูกช่วยชีวิต ขณะส่วนที่เหลือนั้นไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรืออย่างน้อยผู้ป่วยก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

แต่ทำไมเราต้องศึกษาความตาย? ดร.พาร์เนียชี้ให้เห็นว่าการสังเกตการทำงานของสมอง และการตอบสนองของร่างกายที่เกิดขึ้นขณะหัวใจหยุดเต้นได้ให้ข้อมูลมีค่ามากมาย เช่น ต้องใช้ออกซิเจนเท่าไหร่ในการเริ่มให้สมองทำงานได้อีกครั้ง?

การเรียนรู้ว่าเส้นความตายถูกขีดไว้ตรงไหน อาจช่วยปรับปรุงเทคนิคการช่วยชีวิตซึ่งจะรักษาชีวิตคนได้อีกนับไม่ถ้วน

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

https://bigthink.com/surprising-science/after-death-youre-aware-that-youve-died-scientists-claim

https://www.huffingtonpost.co.uk/entry/when-you-die-your-consciousness-knows-that-youre-dead_uk_59e86d7be4b00905bdaed63

https://www.cbc.ca/life/wellness/ugh-when-you-die-your-brain-knows-you-re-dead-1.4365039

https://www.livescience.com/38817-electrical-activity-surges-in-dying-brain.html

อ่านเพิ่มเติม ตายแล้วไปไหน ? แม้ความตายจะดูน่ากลัว แต่สำหรับธรรมชาติ ความตายคือ “ของขวัญ” ส่งต่อให้อีกหลายชีวิต

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.