ตายแล้วไปไหน ? แม้ความตายจะดูน่ากลัว แต่สำหรับธรรมชาติ ความตายคือ “ของขวัญ” ส่งต่อให้อีกหลายชีวิต

ตายแล้วไปไหน ? แม้ความตายจะดูน่ากลัว แต่สำหรับธรรมชาติ ความตายคือ “ของขวัญ” ส่งต่อให้อีกหลายชีวิต

ตายแล้วไปไหน โดยทั่วไป เมื่อแพทย์ระบุว่าร่างกายหนึ่งได้เสียชีวิตลง กล่าวคือ ไม่มีชีพจร ไม่มีลมหายใจ ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง รูม่านตาไม่ขยาย รวมไปถึงสัญญาณอื่น ๆ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะจัดการกับศพในขั้นตอนที่เรียกว่า ‘การดองศพ’ เพื่อให้ญาตินำไปประกอบพิธีทางศาสนาตามความเชื่อต่อไป

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทิ้งศพไว้ให้ธรรมชาติและปล่อยให้เป็นไปตามทางของมัน? เมื่อเราตาย ร่างกายจะเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า Autolysis หรือการย่อยตัวเอง หัวใจที่หยุดเต้นจะทำให้ทุกเซลล์ในร่างกายขาดออกซิเจน ปฏิกิริยาเคมีที่เป็นพิษเริ่มสะสมอยู่ภายใน เอนไซม์จะย่อยเซลล์ให้แตกออก

เนื้อเยื่อและอวัยวะทุกส่วนจะเริ่มสลายตัวด้วยวิธีนี้ รวมถึงหลอดเลือดด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมผิวหนังถึงเปลี่ยนสี อุณหภูมิร่างกายก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากไม่มีการผลิตพลังงานอีกต่อไป จากนั้นเซลล์กล้ามเนื้อจะเกร็งและล็อคอยู่กับที่เกิดร่างกายที่แข็งตัว พร้อมกับระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่ทำงานอีกแล้ว

เมื่อไม่มีภูมิคุ้มกัน จุลินทรีย์ต่าง ๆ จะกระจายไปทั่วร่างอย่างอิสระ ซึ่งมักจะเริ่มขึ้นในลำไส้ตรงรอยต่อระหว่างลำไส้เล็กและใหญ่ พวกมันจะเริ่มย่อยเนื้อเยื่อจากภายในสู่ภายนอก แผ่ขยายไปที่ตับและม้าม จากนั้นจึงเข้าสู่หัวใจและสมอง อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ของแบคทีเรียจะแตกต่างกันไปตามร่างกายที่ไม่เหมือนกัน

การศึกษาของ กุลนาซ จาวาน (Gulnaz Javan) นักนิติวิทยาศาสตร์เมื่อปี 2014 ระบุว่า จุลินทรีย์ใช้เวลาเดินทางไปถึงตับหลังการตาย 20 ชั่วโมง และใช้เวลาอย่างน้อย 58 ชั่วโมงเพื่อกระจายไปยังอวัยวะทั้งหมด เมื่อการย่อยตัวเองดำเนินไป การเน่าเสียก็จะเกิดขึ้นจากแบคทีเรียที่ไม่ใช่ออกซิเจน

มันสร้างผลพลอยได้เช่นก๊าซมีเทน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ แอมโมเนีย รวมถึงของเหลว และเกลือ ความดันของก๊าซได้สะสมอยู่ในร่างกายจนทำให้เกิดแผลพุพองทั่วร่าง จากนั้นผิวหนังจะค่อย ๆ เลื่อนหลุดออก หรืออาจเรียกสถานะนี้ง่าย ๆ ว่า ‘ขึ้นอืด’

เมื่อจุลินทรีย์ได้ทำงานอย่างเต็มที่ แมลงจะมาเข้าร่วมโดยเฉพาะแมลงวันที่มาตอมศพราวกับตอมกลิ่นของหวาน แมลงแต่ละตัวจะฝากไข่ประมาณ 250 ฟอง และก็ฟักภายใน 24 ชั่วโมง ไข่เหล่านั้นฟักออกมาเป็นหนอนแมลงวัน ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม อาจมีหนอนปริมาณมากที่กินร่างกายจนทำให้อุณหภูมิศพสูงขึ้นได้ถึง 10 องศาเซลเซียส

พวกมันจะกินจนใหญ่ขึ้นและอ้วนขึ้น วนเวียนจนไม่มีอะไรเหลือให้พวกมันกิน จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นดักแด้แล้วกลายเป็นแมลงวันตัวเต็มวัย ไม่เพียงหนอนเท่านั้น มันยังดึงดูดผู้ล่าต่าง ๆ ที่กินหนอนแมลงวันเป็นอาหาร ศพหนึ่งศพสามารถสร้างระบบนิเวศที่ไม่เหมือนใครขึ้นมาได้ในช่วงเวลาการเน่าเปื่อย

ท้ายที่สุด พื้นที่เล็ก ๆ เหล่านี้คือ “เกาะซากศพ” ที่อุดมสมบูรณ์ ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางเคมีของดินข้างใต้อย่างมีนัยสำคัญและอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายปี ปล่อยสารอาหารลงสู่ดิน และกระจายโมเลกุลเคมีไปสู่สิ่งแวดล้อมที่กว้างขึ้น

ประมาณการว่าร่างกายมนุษย์โดยเฉลี่ยประกอบด้วยน้ำร้อยละ 50-70 มวลร่างกายทุก ๆ 1 กิโลกรัมจะปล่อยไนโตรเจน 32 กรัม ฟอสฟอรัส 10 กรัม โพแทสเซียม 4 กรัม และแมกนีเซียม 1 กรัมลงในดิน แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะฆ่าพืชรอบ ๆ ในตอนแรก แต่หลังจากผ่านไป ทั่วทั้งระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารจะได้รับประโยชน์ในท้ายที่สุด

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

https://www.bbc.com/future/article/20150508-what-happens-after-we-die

https://my.clevelandclinic.org/health/articles/23144-what-happens-when-you-die

https://www.britannica.com/story/what-happens-to-our-bodies-after-we-die

https://www.iflscience.com/when-someone-dies-what-happens-to-the-body-69652

อ่านเพิ่มเติม เชื่อหรือไม่! มนุษย์จะไปถึงจุด “ ความเป็นอมตะ ” ได้ภายในปี 2030 ตามคำทำนายของนักอนาคตศาสตร์

Recommend