ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก โดยเฉพาะ ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ที่เกี่ยวโยงทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งจึงมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องรับผิดชอบร่วมกัน ตั้งแต่ระดับนโยบายไปถึงภาคประชาชน
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เป็นหนึ่งหน่วยงานที่มีพันธกิจในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม เป็นศูนย์ข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศจากข้อมูลดาวเทียม และข้อมูลสำรวจจากแหล่งอื่น ๆ รวมถึงให้การสนับสนุนข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปประยุกต์สำหรับการวางแผนและกำหนดนโยบายการบริหารพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งด้วยเช่นกัน
ด้วยความโดดเด่นเรื่องข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศที่ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นภาพรวมของพื้นที่ และเห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ทันต่อสถานการณ์ จึงช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2534 GISTDA ยังไม่ได้ก่อตั้งหน่วยงานขึ้นมา แต่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ ภายใต้กองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ และได้เริ่มต้นงานสำรวจทางด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในโครงการระบบสำรวจข้อมูลทางสมุทรศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางทะเล หรือ SEAWATCH
โดยในขณะนั้นได้ใช้ระบบการเก็บข้อมูลด้วยทุ่นลอยสำรวจสมุทรศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 GISTDA ได้ก่อตั้งขึ้น และได้ดำเนินโครงการ SEAWATCH ต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2551 ที่ใช้เพียงระบบรีโมตเซนเซอร์ร่วมกับภาพถ่ายจากดาวเทียม
กระทั่งปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน GISTDA ได้พัฒนาระบบการเก็บข้อมูลที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการติดตั้งสถานีเรดาร์ชายฝั่ง เพื่อทำงานร่วมกับระบบรีโมตเซนเซอร์ ภาพถ่ายดาวเทียม ระบบ UAV – Unmanned Aerial Vehicles และ GNSS – Global Navigation Satelite System ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดทำให้เกิดเป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ พร้อมกับข้อมูลของตำแหน่ง ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้งานต่อไปได้
ข้อมูลจำนวนมหาศาลทั้งหมดที่ได้จากเทคโนโลยีทางทะเลต่าง ๆ จะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของ GISTDA และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งได้หลากหลาย เช่น การติดตามสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง การติดตามสถานการณ์ของป่าชายเลน คุณภาพน้ำทะเล และติดตามการกระจายของคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเล เป็นต้น
เทคโนโลยีที่ทาง GISTDA ได้พัฒนาเพื่อการติดตามสถานการณ์ท้องทะเลไทย และนำข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นข้อมูลสนับสนุนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีอยู่หลายส่วนที่มีความโดดเด่น ประกอบด้วย
สถานีเรดาร์ชายฝั่งของ GISTDA มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจวัดข้อมูลกระแสน้ำและคลื่นในทะเลเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งในทะเลและชายฝั่ง โดยปัจจุบันสถานีเรดาร์ชายฝั่งที่ GISTDA ได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้วในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ประกอบด้วย
นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดลมในทุกสถานี และกล้อง CCTV เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจวัดให้มากขึ้น และในปัจจุบัน ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงหน่วยงานที่ต้องการทราบข้อมูลจากเรดาร์ชายฝั่ง ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน GCOAST ได้อย่างสะดวกสบาย
GMaS คือ แพลตฟอร์มที่ได้นำข้อมูลเชิงพื้นที่จากหลาย ๆ แหล่งมาวิเคราะห์ประมวลผลร่วมกัน ภายในแพลตฟอร์มประกอบด้วยชุดเครื่องมือ และแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์และจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง สำหรับช่วยตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งให้เป็นไปได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ติดตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเล วิเคราะห์และติดตามผลกระทบจากสถานการณ์น้ำมันรั่วในทะเล รวมถึงชี้เป้าเรือที่อาจจะเป็นผู้ก่อเหตุทำให้น้ำมันรั่วลงสู่ทะเล เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เร่งด่วนและสนับสนุนข้อมูลแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อน อย่างมีประสิทธิภาพ
GISTDA ได้พัฒนาระบบ Marine GI Portal โดยมีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ ระบบคลังข้อมูลภูมิสารสนเทศทางทะเลและชายฝั่ง และระบบสนับสนุนการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล ซึ่งทั้งสองส่วนต่างมีข้อมูลและเครื่องมือที่พร้อมให้บริการตามความต้องการของผู้ใช้บริการ
ความโดดเด่นของระบบ Marine GI Portal คือการสนับสนุนการวางแผนพื้นที่ทางทะเลแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยผู้ใช้งานสามารถป้อนข้อมูล ค้นหาข้อมูล สร้างข้อมูลเชิงพื้นที่ และแบ่งปันข้อมูลกับผู้ใช้อื่น ๆ ได้อย่างง่ายและรวดเร็ว
ดังนั้น ผู้ใช้งานจะสามารถเห็นข้อมูลเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ขึ้นอยู่กับชั้นข้อมูลที่ผู้ใช้เลือกไว้ และนำมาวางซ้อนกันเพื่อให้เห็นข้อมูลสำหรับการวางแผนและการตัดสินใจในเชิงนโยบายต่อไป
เช่น การวางแผนการสร้างท่าเทียบเรือบนแผ่นดิน หรือเกาะต่าง ๆ การใช้แผนที่ทางทะเลในกรณีเกิดข้อพิพาทเรื่องการใช้ประโยชน์ทางทะเล การติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนในรอบปี และการติดตามการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมัน เป็นต้น
Marine GI Portal จึงสามารถใช้รวบรวมข้อมูลสำหรับการสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อนำไปวางแผนการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ที่ผ่านประเทศไทยมีข้อมูลที่สำคัญทางทะเลและชายฝั่งอยู่มากมายแต่ยังไม่สามารถนำมาใช้เพื่อการวางแผนและบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากยังขาดข้อมูลในรูปแบบที่เป็นเชิงพื้นที่ที่มีความทันสมัยทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ อีกทั้งข้อมูลก็ถูกเก็บอยู่อย่างกระจัดกระจายขาดการบูรการร่วมกัน และข้อมูลของแต่ละหน่วยงานก็ยังเป็นข้อมูลที่มีมาตรฐานที่เเตกต่างกันทำให้ไม่สามารถนำมาทำงานร่วมกันได้ ทำให้หน่วยงานที่มีภารกิจด้านการบริหารจัดการพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งต้องเสียเวลาและงบประมาณจำนวนมากเพื่อจัดซื้อซอฟต์แวร์เพื่อมาจัดทำข้อมูล เเละรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการด้วยตัวเอง
ดังนั้น การมีแพลตฟอร์มกลางสำหรับบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับทะเลและชายฝั่งของไทยสามารถเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งลดเวลาและงบประมาณในการจัดทำข้อมูลที่มีโอกาสจะซ้ำซ้อนกัน และมีข้อมูลที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน
ส่วนสำคัญที่จะประกอบขึ้นเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลเชิงพื้นที่ขึ้นมาได้ จึงต้องมี “ข้อมูลเชิงพื้นที่” เช่น พื้นที่การใช้ประโยชน์ในทะเล ขอบเขตของทรัพยากรทางทะเล เส้นทางการขนส่งทางทะเล พื้นที่ทำการประมง รวมทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเชิงพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นฐานของแพลตฟอร์ม ที่จะช่วยกระดับให้การวางแผนการใช้ประโยชน์ทางทะเลอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
หลายประเทศจึงต่างเร่งพัฒนาเครื่องมือช่วยสนับสนุนในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ที่รวมถึงแพลตฟอร์มกลางให้มีข้อมูลที่ทันสมัยครอบคลุมความต้องการของทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งในส่วนของการรักษาไว้ของความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นผ่านการบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่จากทุกภาคส่วน