กล้อง เจมส์ เว็บบ์ พบดาวกว่า 500,000 ดวง! ณ ห้วงกาแล็กซี ที่วุ่นวาย

ภาพใหม่จาก เจมส์ เวบบ์ เผยให้เห็นพื้นที่อวกาศห้วงลึกอันวุ่นวายที่สุดใน ห้วงกาแล็กซี ทางช้างเผือกของเรา ซึ่งมีดาวมากกว่า 500,000 ดวงที่ท้าทายแนวคิดการเกิดดาวฤกษ์ในปัจจุบัน

ห้วงกาแล็กซี – ภาพนี้ถูกถ่ายโดยกล้องอินฟราเรดช่วงใกล้ (NIRCam) อุปกรณ์ที่ทรงพลังของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST ; James Webb Space Telescope) ด้วยการจ้องมองไปยังพื้นที่ที่ชื่อว่า Sagittarius C ซึ่งเป็นบริเวณกำเนิดดาวฤกษ์ที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ และอยู่ห่างจากหลุมดำมวลมหาศาล ณ ใจกลางทางช้างเผือกของเราที่มีชื่อว่า Sagittarius A* ประมาณ 300 ปีแสง

พื้นที่ให้กำเนิดเหล่าดาวแห่งนี้ตั้งชื่อว่า Sagittarius C (Sgr C) ซึ่งอยู่ห่างจากหลุมดำมหึมาที่ใจกลางทางช้างเผือก Sagittarius A* ประมาณ 300 ปีแสง Image Credit: NASA, ESA, CSA, STScI, S. Crowe (UVA)

“ใจกลางดาราจักรเป็นสภาพแวดล้อมที่สุดขั้วที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ซึ่งทฤษฎีการกำเนิดดาวฤกษ์ในปัจจุบันสมารถนำมาทดสอบในระดับที่เคร่งครัดที่สุดได้” โจนาธาน แทน (Jonathan Tan) ศาสตราจารย์และนักวิจัยด้านดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย กล่าว
.
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พื้นที่แห่งนี้ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 500,000 ดวง พวกมันกำลังก่อตัวท่ามกลางกลุ่มเมฆฝุ่นที่หนาแน่น
.
และบางดวงกลายเป็นดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 30 เท่า ทำให้เกิดความสงสัยที่ว่าพวกมันอยู่รอดได้อย่างไรในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงเช่นนี้?
.
การศึกษาใจกลางทางช้างเผือกโดยเจมส์ เวบบ์ สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการเหล่านี้ได้ อีกทั้งยังอาจช่วยตอบคำถามที่ว่า ดาวฤกษ์มวลสูงมีแนวโน้มที่จะก่อตัวใกล้ใจกลางกาแล็กซี มากกว่าขอบนอกหรือพื้นที่อื่น ๆ ในดาราจักรหรือไม่?
.
“ไม่เคยมีข้อมูลอินฟาเรดใด ๆ ในพื้นที่นี้ที่มีระดับความละเอียดและความไวเท่าที่เราได้รับจาก เวบบ์ ดังนั้นเราจึงเห็นคุณสมบัติมากมายที่นี่เป็นครั้งแรก” ซามูเอล โครว์ (Samuel Crowe) ผู้วิจัยหลักและนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย กล่าว
.
“เวบบ์เปิดเผยรายละเอียดจำนวนมหาศาล ทำให้เราสามารถศึกษาการก่อตัวของดาวฤกษ์ในสภาพแวดล้อมนี้ในแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน” โครว์ กล่าวเสริม ลักษณะที่ดูแปลกต่างที่สุดอาจเป็นพื้นที่สีฟ้าซึ่งอยู่ด้านล่างของภาพ
.
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สิ่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยโฟตอนที่มีพลังงานสูงจากดาวฤกษ์มวลมากอายุน้อยกระทบกับไฮโดรเจนที่แตกตัวเป็นไอออนรอบ ๆ สร้างสีฟ้าขึ้นมาในภาพ แต่พวกเขายังคงไม่เข้าใจว่าอะไรทำให้เกิดก๊าซพลังงานจำนวนมากเกินปกติตามที่คิดกันก่อนหน้านี้
.
“ภาพจากเวบบ์น่าทึ่งมาก และข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่จะได้รับจากภาพนั้นก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก” โครว์บอก “ดาวมวลมากเป็นโรงงานผลิตธาตุหนักในแกนนิวเคลียร์ ดังนั้นการเข้าใจพวกมันให้ดีขึ้นก็เหมือนกับการเรียนรู้เรื่องราวต้นกำเนิดของจักรวาลส่วนใหญ่”
.
ใจกลางดาราจักรทางช้างเผือกเป็นพื้นที่ที่ยังได้รับการศึกษาน้อย เนื่องจากความวุ่นวายของดวงดาวต่างปล่อยคลื่นวิทยุและคลื่นต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งมีเมฆฝุ่นหนาแน่นอยู่จำนวนมากจนบดบังแสงดาวฤกษ์ให้ส่องผ่านได้น้อย กระนั้นมันก็เป็นพื้นที่สำคัญของกาแล็กซีที่คอยเลี้ยงดูดาวฤกษ์รุ่นใหม่ให้เติบโต
.
กาแล็กซีทางช้างเผือกมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 100,000 ปีแสง ประเมินกันว่ามีดาวฤกษ์อยู่ราว 100 ถึง 400 พันล้านดวง สำหรับระบบสุริยะของเรานั้นอยู่ห่างจากใจกลางดาราจักรราว 27,000 แสง

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.iflscience.com/jwst-looks-into-heart-of-our-galaxy-and-spots-mysterious-features-71644
.
https://edition.cnn.com/2023/11/20/world/webb-telescope-milky-way-heart-scn/index.html
.
https://www.nasa.gov/missions/webb/nasas-webb-reveals-new-features-in-heart-of-milky-way/


อ่านเพิ่มเติม รวมภาพ 12 ปี กว่าจะมาเป็น กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.