“แพ้ น้ำตาผู้หญิง ” มีจริง! วิจัยเผย น้ำตาหญิง มี “กลิ่น” ทำผู้ชายลดก้าวร้าว!

น้ำตาผู้หญิง ลดความก้าวร้าวของผู้ชาย การค้นพบนี้อาจอธิบายได้ว่าทำไมมนุษย์ถึงหลั่งน้ำตา นักวิจัยเชื่อพฤติกรรมนี้เป็นจริงทุกเพศทุกวัย 

น้ำตาผู้หญิง – ในปี 1872 ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาผู้ให้กำเนิดทฤษฎีวิวัฒนาการได้เขียนในหนังสือเรื่อง The Expression of Emotions in Man and Animals ว่า การร้องไห้สะอึกสะอื้นนั้น “ไร้จุดหมายเหมือนกับการหลั่งน้ำตาจากการถูกกระแทกภายนอกดวงตา” (หมายความว่าร้องไห้ เพราะอารมณ์เหมือนกับร้องไห้เพราะบาดเจ็บ) 

ด้วยความเชื่อเช่นนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่าน้ำออกมาจากดวงตาขณะ ทั้งที่เกิดจากอารมณ์ทั้งโศกเศร้า สุขใจ หรือโกรธ ต่างเป็นแค่เพียงผลกระทบบางอย่างของร่างกาย ซึ่งทำให้ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นมากเกินไปกว่าการหล่อลื่นและทำความสะอาดดวงตา หรือกระตุ้นให้เกิดความเห็นอกเห็นใจเท่านั้น 

แต่ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา หลักฐานต่าง ๆ เหมือนจะชี้ไปว่า “น้ำตา” อาจมีอะไรมากนั้น นักวิทยาศาสตร์พบว่าสุนัขหลั่งน้ำตาเมื่อพบกับเจ้าของอีกครั้ง หรือน้ำตาของหนูตัวเมียทำให้หนูตัวผู้หยุดทะเลาะกัน

แต่มนุษย์ก็เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ที่มีการสื่อสารข้อมูลด้วยกลิ่น นักวิจัยจึงคิดว่าเป็นไปได้ที่มนุษย์อาจได้รับผลกระทบจากน้ำตา แม้จะไม่ได้มีประสาทรับรู้โดดเด่นในด้านนี้ก็ตาม

หลักฐานแรกที่แสดงให้ว่าน้ำตามีอิทธิพลกับพฤติกรรมมนุษย์ เกิดขึ้นเมื่อปี 2011 เมื่อ โนแอม โซเบล (Noam Sobel) นักประสาทชีววิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์แมนน์ พบว่าน้ำตาของผู้หญิงสามารถลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย) ได้ แต่มันก็ได้สร้างคำถามต่อมาว่าทำไม? และงานวิจัยในครั้งนั้นก็มีปัญหากับ ‘ตัวอย่างน้ำตา’ พอสมควร

เนื่องจากครั้งนั้นทีมงานได้ใช้ทุกวิธีเพื่อให้กลุ่มตัวอย่างหลั่งน้ำตาออกมา ซึ่งรวมถึงการใช้หัวหอมหรือสารระคายเคืองอื่น ๆ แต่พวกเขาก็พบว่าน้ำตาที่ได้จากวิธีนี้ “เป็นน้ำตาประเภทที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง” ชานี อากรอน (Shani Agron) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว ดังนั้นเพื่อทำงานวิจัยครั้งใหม่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทีมงานต้องใช้วิธีที่แตกต่างไปจากเดิม

พวกเขารับสมัครอาสาสมัครที่คิดว่าตนเองร้องไห้ง่ายออกมา มีผู้ชายไม่กี่คนเท่านั้นที่แสดงตัว แต่ก็ไม่มีใครสามารถหลั่งน้ำตาได้มากพอที่จะใช้ศึกษาได้ ขณะเดียวกันผู้หญิง 100 คนที่อาสา มีเพียง 6 คนเท่านั้นที่สามารถหลั่งน้ำตาได้เพียงพอ โดยทีมวิจัยได้ใช้วิธีตั้งแต่การให้ฟังเพลงเศร้าไปจนถึงการอ่านจดหมายเศร้า แต่ส่วนใหญ่อาสาสมัครมักหันไปหา ‘ห้องสมุดภาพยนตร์เศร้า’ มากกว่า

เมื่อรวบรวมได้สำเร็จแล้ว ทีมวิจัยได้ให้อาสาสมัครชาย 25 คนเล่นเกมที่ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความก้าวร้าวออกมา เช่น ผู้เล่นจะถูกขโมยทรัพยากรจากคนอื่นและเลือกได้ว่าจะแก้แค้นโดยไม่ได้ผลประโยชน์กลับคืนมาหรือไม่ จากนั้นทำซ้ำครั้งที่ 2 แต่ให้อาสาสมัครดมกลิ่น ‘น้ำตา’ และเพิ่มการตรวจสอบด้านคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของสมองเข้าไปด้วย พวกเขาว่ามีความก้าวร้าวน้อยลงถึงร้อยละ 44

“ความก้าวร้าวที่ลดลงนั้นน่าประทับใจสำหรับเรา ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นจริง” โนแอม โซเบล บอก “สิ่งที่มีน้ำตา ย่อมลดความก้าวร้าวลงได้จริง” 

พฤติกรรมก้าวร้าวที่ลดลงก็มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเส้นประสาทด้วยเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความก้าวร้าวและการตัดสินใจทำงานลดลง ขณะเดียวกันการประมวลผลทางอารมณ์และเครือข่ายระบบประสาทรับกลิ่นก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าน้ำตามีกลิ่นที่ทำให้ผู้ชายก้าวร้าวลดลงจริง 

“เราพบว่าน้ำตาของมนุษย์มีสัญญาณทางเคมีที่ขัดขวางการคุกคามของผู้ชายเช่นเดียวกับในหนู สิ่งนี้ขัดแย้งกับความคิดที่ว่าน้ำตาที่เกิดจากอารมณ์เป็นสิ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัวของมนุษย์” รายงานระบุ (ทีมวิจัยหมายความว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ร้องไห้เพราะอารมณ์ แต่สิ่งมีชีวิตอื่นก็มีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์เช่นเดียวกัน)

แม้การศึกษาครั้งนี้จะเป็นการทดสอบ ‘น้ำตาผู้หญิง’ แต่ทีมวิจัยเชื่อว่าผลลัพธ์นี้ยังคงเป็นจริงไม่ว่าผู้ที่หลั่งน้ำตาจะเป็นเพศใดหรือวัยใดก็ตาม แต่เนื่องจากอคติสังคมปัจจุบันที่วางกรอบแนวคิดให้ผู้ชายห้ามร้อง และมีแค่เด็กกับผู้หญิงเท่านั้นที่ร้องไห้ได้ ทีมงานจึงมุ่งเน้นการศึกษาไปที่น้ำตาผู้หญิงแทน ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขาเชื่อว่าการหลั่งน้ำตานั้นถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่เป็นทารก

“เด็กทารกไม่สามารถพูดได้ว่า ‘หยุดก้าวร้าวต่อฉันได้แล้ว’ พวกเขามีความสามารถในการสื่อสารที่จำกัดมาก และพวกเขาก็ทำอะไรไม่ถูกเช่นกัน แต่พวกเขามีความสามารถในการลดความก้าวร้าว และนั่นสะท้อนถึงความเป็นจริงที่น่าเศร้าว่ามีการคุกคามต่อเด็กทารก” โซเบล กล่าว “วิวัฒนาการนี้อาจช่วยให้ทารกมีเครื่องมือลดความก้าวร้าว”

ทีมวิจัยหวังจะพิสูจน์สมมติฐานทารกร้องไห้นี้ในอนาคต และเพิ่มการทดสอบผลกระทบของน้ำตาผู้หญิงต่อผู้หญิงด้วยกัน พร้อมกับเสริมว่า ผู้คนสามารถร้องไห้ได้ตลอดทุกช่วงวัย เพราะมันคือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และออกแบบมาเพื่อทำให้เรารู้สึกดีขึ้น

การร้องไห้คือ “พฤติกรรมที่ช่วยเราตลอดชีวิต” ชานี อากรอน บอก

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://journals.plos.org/plosbiology/article?id=10.1371/journal.pbio.3002442
https://www.iflscience.com/sniffing-womens-tears-lower-male-aggression-72157
https://neurosciencenews.com/womens-tears-male-aggression-23591/
https://www.scientificamerican.com/article/sniffing-womens-tears-makes-men-less-aggressive/
https://newatlas.com/science/chemosignals-womens-tears-reduces-male-aggression-decreases-brain-activity/
https://www.theguardian.com/science/2023/dec/21/human-tears-ease-aggression-study-brain


อ่านเพิ่มเติม ขาด ความเห็นอกเห็นใจ โลกกำลังโหดร้ายขึ้นรึเปล่า? ถ้าคุณเกิดคำถามนี้ขึ้นมา บางทีคุณอาจกำลังคิดถูก

ความเห็นอกเห็นใจ
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.