ขาด ความเห็นอกเห็นใจ โลกกำลังโหดร้ายขึ้นรึเปล่า? ถ้าคุณเกิดคำถามนี้ขึ้นมา บางทีคุณอาจกำลังคิดถูก

ขาด ความเห็นอกเห็นใจ โลกกำลังโหดร้ายขึ้นรึเปล่า? ถ้าคุณเกิดคำถามนี้ขึ้นมา บางทีคุณอาจกำลังคิดถูก

ผู้เชี่ยวชาญเผยปัจจัย 3 ประการที่อาจทำให้มนุษย์ทั้งโลกขาด ความเห็นอกเห็นใจ มากขึ้น Schadenfreude คือคำเรียกของความรู้สึกที่เรายินดีไปกับความโชคร้ายของคนอื่น ที่หลายคนอาจเคยประสบมาเช่น พอล ไวเนอร์ (Paul Weiner) ศิลปินชาวอเมริกันที่ถูกนายหน้าค้างานศิลปะชวนคุยเกี่ยวกับความทุกข์ยากของเขา “เธอรู้สึกยินดีที่ได้ยินเกี่ยวกับความลำบากของผม”

ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เช่นในสุภาษิตโบราณของญี่ปุ่นที่กล่าวว่า “ความโชคร้ายของผู้อื่นมีรสชาติเหมือนน้ำผึ้ง” และ ฟรีดริช นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาในศตวรรษที่ 19 ก็กล่าวถึงมันเช่นกัน

ในปัจจุบันมีปัจจัย 3 ประการที่ทำให้ผู้คนรู้สึกแบบ Schadenfreude

1. มีตำแหน่งงานระดับสูงที่เหมาะสมกับความสามารถไม่พอ
งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นถึง ‘การเปรียบเทียบในระดับที่สูงขึ้น’ ซึ่งมีรากฐานมาจากความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวย แต่สิ่งที่ทำให้อารมณ์นี้เกิดมากขึ้นนั้นมาจาก ‘คนที่มีสถานะทางสังคมเดียวกัน’

เพราะเมื่อสังคมผลิตคนที่ร่ำรวยและมีการศึกษาสูงมากเกินไป แต่กลับไม่มีตำแหน่งที่เหมาะกับคุณสมบัติเหล่านี้มากเพียงพอ ส่งผลให้บางคนต้อง ‘ยินดีอย่างเงียบ ๆ’ เมื่อเพื่อนร่วมงานต้องเปลี่ยน (หรือเลื่อน) ตำแหน่งงาน เพราะนั่นหมายถึงคู่แข่งในการทำงานนั้นเติบโตไปก่อนเสียแล้ว

2.วิกฤตโรคระบาดที่ทำให้ชัดเจนขึ้น

ซิลเวีย มอนทิกลิโอ (Silvia Montiglio) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ กล่าวว่า โรคระบาดได้สร้างพายุที่สมบูรณ์แบบของความเหนือกว่าทางศีลธรรม พฤติกรรมโอ้อวด และความโชคร้าย เขาเสริมว่า Schadenfreude คือตัวการที่อยู่เบื้องหลังที่ทำให้คนเยาะเย้ยคนอื่นที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือคนที่ฉีดและสวมหน้ากากแล้วก็ยังป่วยอยู่ดี

3. จากนั้นโซเชียลมีเดียก็กระจายมัน

โคลิน ลีช (Colin Leach) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและผู้เขียนงานเกี่ยวกับ Schadenfreude ซึ่งระบุว่า ความสุขจาก Schadenfreude นั้นรุนแรงขึ้นเมื่อเรามีคนที่เราไม่ชอบ และโซเชียลมีเดียก็มักจะส่งเสริมอารมณ์เช่นนั้น มันเป็นสถานที่ที่มีการเปรียบเทียบอยู่บ่อยครั้ง

มันทำให้ผู้คนจำนวนมากได้เห็นความโชคร้ายของคนอื่น และหลายคนก็หัวเราะเยาะหรือแชร์มีมเหตุการณ์ที่เรือดำน้ำไททันประสบ

ดังนั้นอย่าปล่อยให้ Schadenfreude แย่งสิ่งดี ๆ ไปจากหัวใจของคุณ
Schadenfreude นั้นสร้างความแตกแยกในสังคม มันทำให้เราไม่สนใจความเป็นมนุษย์และมองผู้อื่นอย่างมุ่งร้าย อาร์เธอร์ ซช็อบเพนเฮอร์ (Arthur Schopenhauer) นักปรัชญาชาวเยอรมันเคยกล่าวไว้ว่ามันเป็น “สัญญาณที่ผิดพลาดของจิตใจที่เลวร้ายอย่างยิ่ง”

แต่ยาแก้พิษภาวะนี้คือ ‘การรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น’ “การตอบสนองอย่างมีเมตตาที่สุดต่อความโชคร้ายของผู้อื่นคือความเห็นอกเห็นใจซึ่งเกิดขึ้นได้จากการเอาใจใส่” ลีชกล่าว ขณะเดียวกัน ซา-คีรา ฮัดสัน (Sa-Kiera Hudson) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาัลยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ ฮาส์เสิรมว่า

“สร้างพื้นที่ที่ทุกคนสามารถชนะได้ จะทำให้ Schadenfreude มีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้น” เธอกล่าว ซึ่งก็คือเลี่ยงบุคคลหรือสถานที่ใด ๆ ที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกการเปรียบเทียบต่าง ๆ โดย ลืช อธิบายเพิ่มเติมว่า Schadenfreude นั้นมักถูกขับเคลื่อนโดย “ความรู้สึกไม่ดีพอ” ของตนเอง

“เมื่อเราอ้างว่าเหตุร้ายที่เกิดกับคนๆ หนึ่ง นั้น “สมควร” แล้ว เราควรแน่ใจว่ามันสมควรที่จะเกิดขึ้นอย่างยุติธรรมจริงๆ ไม่ใช่เพราะเราดีใจที่เห็นพวกเขารู้สึกเจ็บปวด” ลืชบอก “อย่างน้อยที่สุดให้รักษาความสุขซึ่งแยกจากความโชคร้ายของคนอื่น”

“ถ้าคุณรู้สึกขัดแย้งกับ Schadenfreude ของตัวเอง นั่นเป็นสัญญาณที่ดี” ลีชระบุ “มันเป็นความรู้สึกดีที่ไม่เกิดขึ้นจากความเจ็บปวดของคนอื่นซึ่งกำลังเจอกับความโหดร้ายของชีวิต”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Image by Freepik

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/premium/article/cruel-schadenfreude-misfortune-pleasure-empathy

อ่านเพิ่มเติม การล้อเลียน ความอ้วน วิพากษ์วิจารณ์ถึงน้ำหนัก ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น – อาจทำซึมเศร้าจนเสียชีวิต แต่ก็ยังมีคนทำอยู่บ่อยๆ

Recommend