“การรู้ว่าเที่ยวบินสุดท้ายสิ้นสุดที่ใด และอะไรนำไปสู่สถานที่สูญหาย ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ยังคงมีความสำคัญ นี่คือคำถามที่ฉันต้องกลับมาถามอีกครั้งด้วยความกระวนกระวายใจและความคับข้องใจ ฉันไม่อาจมีวันรู้เลยตลอดชีวิต” เคเอส นาเรนดราน (Ks Narendran) หนึ่งในญาติของผู้สูญหาย เที่ยวบิน MH370 กล่าวกับ สำนักข่าวเดอะการ์เดียน
ในวันที่ 8 มีนาคมปี 2014 เครื่องบินโบอิ้ง 777-200ER รุ่นใหม่ (ในขณะนั้น) พร้อมผู้โดยสารจำนวน 239 คนทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ด้วยสายการบินของมาเลซียแอร์ไลน์รหัส MH370 โดยมีกำหนดจุดหมายจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ไปยังกรุงปักกิ่งประเทศจีน แต่แล้วก็มีบางอย่างผิดปกติ
เกิดอะไรขึ้น?
เมื่อเที่ยวบินดังกล่าวขึ้นบินได้ประมาณ 60 นาที ฝ่ายควบคุมการจราจรทางอากาศก็สูญเสียการติดต่อ ณ บริเวณเหนือทะเลจีนใต้ ทว่าต่อมาไม่นานนัก เครื่องก็ถูกตรวจพบโดยเรดาห์ทหารซึ่งกำลังข้ามคาบมหาสมุทรมลายู จากนั้น MH370 ก็ได้ถูกพบครั้งสุดท้ายด้วยเรดาห์ที่อยู่เหนือทะเลอันดามันในมหาสมุทรอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ
การสื่อสารผ่านดาวเทียมอัตโนมัติระหว่างเครื่องบินและดาวเทียมโทรคมนาคม ‘อินมาร์เซท’ (Inmarsat) ของบริษัทอังกฤษได้ระบุว่า เครื่องบินลำดังกล่าวไปสิ้นสุดที่มหาสมุทรอินเดียตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวโค้งที่ 7 ของชุดพิกัดตำแหน่ง
ประโยคสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ควบคุมการบินได้ยินจากเครื่องคือ “ราตรีสวัสดิ์ชาวมาเลเซีย สาม เจ็ด ศูนย์”
และจากนั้น MH370 ก็หายไปอย่างที่ไม่ใครติดตามได้ ไม่มีใครทราบว่าอะไรทำให้เครื่องบินเปลี่ยนเส้นทางหรืออะไรทำให้สูญหายไป ซึ่งเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบแม้ในปัจจุบัน
การค้นพบเที่ยวบินที่สาบสูญ
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2014 สิบวันหลังจากการสูญหายของ MH370 ทีมค้นหาจากหลายประเทศได้กำหนดพื้นที่สำรวจเบื้องต้น โดยมีสำนักงานความปลอดภัยการขนส่งทางอากาศของออสเตรเลียเป็นผู้นำในการค้นหามหาสมุทรอินเดียตอนใต้พร้อมกับเครื่องบินอีกจำนวนมาก
การค้นหาทางอากาศได้ขยายพื้นที่ไปยังทะเลจีนใต้และทะเลอันดามันด้วยเช่นกัน ปฏิบัติการนี้ดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 28 เมษายนปีเดียวกัน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทรถึง 4,500,000 ตารางกิโลเมตร แต่ทว่ากลับไม่พบร่องรอยใด ๆ เลย
หลายฝ่ายยังไม่ยอมแพ้ มีการค้นหาใต้น้ำในมหาสมุทรอินเดีย 2 ครั้งตามมา ในจุดที่อยู่ห่างจากชายฝั่งออสเตรเลียตะวันตกราว 2,800 กิโลเมตร ครั้งแรกนำโดยออสเตรเลียเองซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 120,000 ตารางกิโลเมตร และขยายออกไปอีก 50 ไมล์ทะเลเพื่อข้ามส่วนโค้งที่ 7 ใช้เวลาทั้งหมด 1,046 วันจึงมาสิ้นสุดในวันที่ 17 มกราคมปี 2017
การค้นหาใต้น้ำครั้งที่สองเกิดขึ้นโดย ‘โอเชียนอินฟินิตี้’ (Oacean Infinity) บริษัทสำรวจพื้นทะเลของสหรัฐฯ ในปี 2018 โดยครอบคลุมพื้นที่กว่า 112,000 ตารางกิโลเมตร ภารกิจนี้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน แต่ทว่าทั้งสองครั้งก็ไม่พบอะไรเลย
ในระหว่างนั้นมีทฤษฏีมากมายผุดขึ้นมาตามโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นแนวคิดที่น่าตกใจ บางคนเชื่อว่ากัปตันอาจเป็นสาเหตุ การก่อวินาศกรรม และการถูกยิงตกหรือทำให้หายไปโดยรัฐบาลที่ ‘ชั่วร้าย’ ไม่ก็ลงจอดในสถานที่ลึกลับ ไปจนถึงเอเลี่ยน
รายชื่อผู้โดยสารและลูกเรือทุกคนถูกตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อค้นเงื่อนงำที่ชาวอินเตอร์เน็คคิดว่ามี ทฤษฏีสมคบคิดเหล่านี้ถูกโหมกระหน่ำด้วยสถานการณ์การเมืองของมาเลเซีย ซึ่งนายกรัฐมตรี นาจิบ ราซัก ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นถูกจำคุกด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ที่น่าเศร้าคือครอบครัวของนักบินนั้นถูกโจมตีอย่างหนักเนื่องจากตกเป็นเป้าของเหตุการณ์ MH370 ที่หายไป
“ครอบครัวของกัปตัน ซาฮารี อาเหม็ด ชาช์ (Zaharie Ahmed Shah) ยังคงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับคำตอบที่ยังไม่ถูกปิด จะต้องมีคำอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น” ดร. โกฮยูส โมฮ์ด นอร์ (Ghouse Mohd Noor) เพื่อของกัปตัน กล่าว
“ภรรยาและลูก ๆ ของเขายังคงเป็นกลาง แต่เครื่องหมายคำถามใหญ่ยังคงเปิดอยู่ ทุกคนต้องการปิดมัน ผมอธิษฐานทั้งวันทั้งคืนว่าเครื่องบินลำนี้จะถูกพบ เราจะสนับสนุนทุกความพยายามและครั้งใหม่ ๆ ที่กำลังถูกเสนอ”
แล้วเรื่องซากล่ะ?
แม้ว่าจะยังไม่พบจุดเกิดเหตุหลัก แต่ก็มีเศษซากเครื่องบินหลายชิ้นโผล่ขึ่นมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดการสูญหายขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2015 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานความปลอดภัยการขนส่งทางอากาศของออสเตรเลียระบุว่าอาจมีเศษซากถูกพัดมาถึงเกาะสุมาตรา นี่ดูเป็นเรื่องแปลก เนื่องจากมันขัดแย้งกับกระแสน้ำในมหาสมุทรของภูมิภาค
กระแสน้ำที่แรงที่สุดในมหาสมุทรอินเดียนั้นคือกระแสน้ำเส้นศูนย์สูตรใต้ โดยน้ำจะไหลจากตะวันออกไปตะวันตกระหว่างพื้นที่ทาางตอนเหนือของออสเตรเลียและมาดากัสการ์ แต่ยังไงก็ตามเป็นไปได้ว่าเศษซากอาจข้ามไปได้
จนในวันที่ 30 กรกฏาคมปี 2015 หรืออีกราวหนึ่งเดือนต่อมา มีการพบเห็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่อย่าง ‘Flaperon’ (ส่วนที่เคลื่อนไหวของปีกเครื่องบิน) มาเกยตื้นบนเกาะเรอูนียง ในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก ซึ่งต่อมาได้รับการยืนยันว่าเป็นของ MH370
การค้นพบนี้เป็นไปตามที่คาดว่าจากแบบจำลองการเคลื่อนตัวของมหาสมุทรซึ่งสร้างขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย (UWA) เมื่อ 12 เดือนก่อนหน้าการค้นพบ โดยระบุว่าซากเศษซากใด ๆ ที่มาจากส่วนโค้งที่ 7 (ตำแหน่งสุดท้ายของ MH370) จะจบลงในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก
ทำให้ในเดือนต่อ ๆ มา พบซากเครื่องบินเพิ่มเติมทั้งในมหาสมุทรอินเดียตะวันตกในมอริเชียส แทนซาเนีย โรดริเกซ มาดากัสการ์ โมซัมบิก และแอฟริกาใต้ ไม่เพียงเท่านั้น นักผจญภัยชาวอเมริกัน เบลน กิบสัน (Blaine Gibson) และคนอื่น ๆ ได้พบชิ้นส่วนหลายสิบชิ้น โดย 3 ชิ้นในนั้นได้รับการยืนยันแล้วว่ามาจาก MH 370 ขณะที่อีกหลายชิ้นอาจมีความเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม เศษซากดังกล่าวเป็นเพียงหลักฐานทางกายภาพแรกและกายภาพเดียวที่เชื่อมโยงกับ MH370 ได้ หลายคนเชื่อว่าซากที่เหลืออาจจมลงใต้มหาสมุทร นั่นนำไปสู่ความพยายามในการค้นหาครั้งใหม่
การค้นหาครั้งใหม่
การค้นหาใหม่ที่นำเสนอโดย โอเชียนอินฟินิตี้ ระบุว่า ได้จำกัดพื้นที่เป้าหมายแคบลงอย่างมาจากที่ผ่าน ๆ มา โดยอยู่ภายในระหว่างละติจูดที่ 36°S และ 33°S ซึ่งอยู่ห่างจากตำแหน่งเดิมที่ส่วนโค้งที่ 7 ไปทางทิศใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร ทาง โอเชียนอินฟินิตี้ ชี้ว่าปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีที่ดีกว่าการสำรวจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยานใต้น้ำควบคุมระยะไกลที่มีความละเอียดยิ่งขึ้น และเซ็นเซอร์ที่จะคอยตรวจสอบข้อมูลจำนวนมาก
รวมถึงพื้นที่ที่จะทำการค้นหานั้นมีความลึกอยู่ที่ประมาณ 4,000 เมตร และอุณหภูมิของน้ำที่ 1-2°C พร้อมกับมีกระแสน้ำต่ำ ซึ่งหมายความว่าเศษซากอาจอยู่อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบอะไรบางอย่าง หากการค้นหาประสบความสำเร็จ มันจะช่วยตอบคำถามจำนวนที่แพร่ในโลกออนไลน์ เพื่อมองไปยังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
และที่สำคัญ มันจะช่วยปลอบประโลมครอบครัวผู้สูญหายที่อย่างน้อยพวกเขาก็จะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับคนที่พวกเขารัก
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.sciencealert.com/mh370-tragic-mystery-of-vanished-flight-lingers-10-years-later
https://theconversation.com/mh370-disappearance-10-years-on-can-we-still-find-it-224954
https://edition.cnn.com/2024/03/04/asia/malaysia-renew-search-missing-plane-mh370-intl/index.html