ทำเนียบขาวสั่ง “นาซา” สร้างมาตรฐานเวลาบน “ดวงจันทร์”
นาซา เตรียมสร้างเขตเวลาใหม่ให้กับดวงจันทร์ เพื่อรองรับภารกิจด้านอวกาศต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากไม่มีการปรับเวลาให้ชัดเจนก็อาจจะสร้างปัญหาได้ในอนาคต
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทำเนียบขาว (The White House) ได้มอบหมายอย่างเป็นทางการให้องค์การอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือที่เรารู้จักกันอย่างดีในชื่อ ‘นาซา’ (NASA) กำหนดมาตราฐานเวลาสำหรับดวงจันทร์ที่เรียกว่า ‘Coordinated Lunar Time’ (LTC) เพื่อประสานงานของกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการอวกาศระหว่างประเทศให้แม่นยำมากขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีเขตเวลากลางที่เห็นพ้องร่วมกันบนดวงจันทร์ โดยที่ผ่านมาภารกิจที่ส่งยานขึ้นไปจะใช้เวลาตามแต่ละประเทศของเจ้าของยานนั้น ๆ และที่สำคัญแรงโน้มถ่วงบนดวงจันทร์มีน้อยกว่าบนโลกมา ทำให้เวลาบนนั้นเคลื่อนที่ช้ากว่าเราไป 58.7 ไมโครวินาทีทุกวัน ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยนี้เพียงพอที่จะทำให้การสื่อสารหรือการระบุตำแหน่งของยานและดาวเทียมบนดวงจันทร์ผิดพลาดได้
“เนื่องจากทฤษฏีสัมพัทธภาพทั่วไปและพิเศษ ทำให้ความยาวของวินาทีที่กำหนดบนโลกดูผิดแปลกไปสำหรับผู้สังเกตการณ์ภายใต้สภาวะความโน้มถ่วงที่แตกต่างกัน หรือสำหรับผู้ที่สังเกตการณ์ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสัมพัทธ์สูง” อาราติ ปราบาการ์ (Arati Prabhakar) ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นประมาณ 1 ปีหลังจากที่องค์การอวกาศยุโรป (ESA) เสนอให้มีการสร้างเวลาอ้างอิงทั่วไปบนดวงจันทร์ เนื่องจากเป็นไปได้ว่าภารกิจอวกาศของหน่วยงานระดับชาติและบริษัทเอกชนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
หากไม่มีกรอบอ้างอิงที่ตรงกันและร่วมกัน อาจเกิดความสับสนขึ้นมาได้ตั้งแต่ความไม่สะดวกเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการสื่อสาร ไปจนถึงปัญหาร้ายแรงเช่นความไม่สอดคล้องกันของแผนที่และข้อผิดพลาดในการนำทาง รวมไปถึงดาวเทียมโคจรรอบดวงจันทรที่เป็นไปตามทฤษฏีสัมพัทธภาพของดวงจันทร์ไม่ใช่ของโลก ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อการนำทาง
“ที่ดวงจันทร์ การซิงโครไนซ์ยานบนดวงจันทร์แต่ละแห่งกับมาตราฐานเวลาของโลกนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากผลกระทบเชิงสัมพัทธภาพ เหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นพร้อมกันบนโลก (เช่น การถ่ายทอดสด) ะจไม่เกิดขึ้นพร้อมกันสำหรับผู้สังเกตการณ์ที่ดวงจันทร์” ปราบาการ์ อธิบาย
“การไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างนาฬิกาส่งสัญญาณบนโลกกับวิธีที่เครื่องรับบนดวงจันทร์รับรู้ จะส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดมากมายด้านการใช้งานที่มีความแม่นยำ เช่น การเทียบท่ายานอวกาศหรือการลงจอดจะต้องได้รับความแม่นยำมากกว่าวิธีการปัจจุบันที่ใช้อยู่” ปราบาการ์ เสริม
ทำเนียบขาวระบุว่า นาซา ต้องจัดการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2026 หรือเกือบ 2 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมตัวในขั้นต่อไป พร้อมกันนั้นยังระบุด้วยว่าเวลามาตราฐานบนดวงจันทร์จะต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการร่วมด้วยคือ สามารถตรวจสอบย้อนกลับเชิงตรรรกะไปยังเวลาสากลเชิงพิกัดที่ควบคุมโซนเวลาทั้งหมดของโลก (UTC)
มีความเฉพาะเจาะจงและแม่นยำเพียงพอในระดับที่สั้นมาก ต่อมาเป็นสามารถใช้งานแบบไม่ต้องพึ่งพาเวลาโลกเผื่อกรณีขาดการติดต่อกับโลกได้ และท้ายที่สุดคือ ความสามารถในการขยายขนาดเพื่อครอบคลุมวัตถุบนท้องฟ้าหรือสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ในอวกาศที่สามารถใช้เวลาบนดวงจันทร์อ้างอิงได้
ขอบเขตเวลาเหล่าสนี้จะครอบคลุมไปยังภารกิจสุดสำคัญของ นาซา เช่น โครงการอาร์เทมิส (Artemis) ที่มีกำหนดส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ โดยตามแผนแล้วจะไม่เกิดเดือนกันยายนปี 2026 รวมถึงโครงการของประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น จีนที่ต้องการส่งมนุษย์ขึ้นไปเช่นเดียวกันภายในปี 2020 และอินเดียที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2040
อย่างไรก็ตาม ทั้งจีนและรัสเซียยังไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาเพื่อทำงานร่วมกันอย่างสันติบนดวงจันทร์ การกำหนดเขตเวลาจึงยังไม่มีความแน่นอนตรงจุดนี้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ LTC มากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่มีใครตอบได้ กระนั้นเจ้าหน้าที่หลายคนมองว่าเขตเวลานี้เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดที่ต้องเห็นพ้องร่วมกัน
“ลองจินตนาการดูว่าถ้าโลกไม่ปรับนาฬิกาให้ตรงกัน มันจะก่อกวนแค่ไหน และสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจะกลายเป็นความท้าทายมากขนาดไหน” เจ้าหน้าที่นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำเนียบขาวผู้ไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับรอยเตอร์
“นี่คือเหตุผลที่เราต้องแจ้งเตือนในตอนนี้ โดยบอกว่าเรามาทำงานร่วมกันเพื่อตัดสินใจร่วมกันเถอะ” ปราทริเซีย ทาเวลลา (Patrizia Tavella) หัวหน้าแผนกเวลาที่สำนักงานน้ำหนักและมาตราการระหว่างประเทศในฝรั่งเศส กล่าวกับเนเจอร์นิวส์ กล่าว
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ National Geographic
ที่มา
whitehouse
smithsonianmag.com
livescience
iflscience.com
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.