ซากุระบานเร็วขึ้นอีกครั้ง ความสวยงามที่แฝงสัญญาณอันตราย

ซากุระบานเร็วขึ้นอีกครั้ง ความสวยงามที่แฝงสัญญาณอันตราย

ซากุระ บานเร็วกว่าปกติอีกครั้งในปีนี้ ปรากฏการณ์ที่คนส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นที่น่ายินดี แต่ความสวยงามนี้กลับแฝงไปด้วยสัญญาณอันตราย บันทึกดอกซากุระที่มีอายุ 1,200 ปีแสดงให้เห็นว่าสภาพอากาศปัจจุบันของเราเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต

ช่างเป็นวิถีธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อดอกสีเขียวปรากฎตัวขึ้นมาบนกิ่งไม้ราวกับลูกนกที่มองท้องฟ้าจากรังของแม่ ดอกย่อยเล็ก ๆ จะปรากฎขึ้นถัดไป แล้วค่อย ๆ กางกลีบดอกออกเพื่ออาบแดดอีกสักเล็กน้อย ในที่สุดดอกซากุระจำนวนหนึ่งก็บานสะพรั่งอย่างสวยงาม

โดยเฉพาะกับเมืองเกียวโต ดอกซากุระนี้ได้ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกด้วยภาพที่ชวนหลงใหล และเป็นโอกาสพิเศษที่จะกลิ่นคล้ายอัลมอนด์ของดอกไม้ แต่ทว่าช่วงเวลาอันตระการตานี้กลับบานเร็วขึ้นถึงเกือบ 2 สัปดาห์นับตั้งแต่ปี 1850 และเวลาของการบานนี้เป็นหนึ่งในเกณฑ์มาตราฐานที่มีค่าสูงสุดสำหรับนักวิทยาศาสตร์ในการติดตามผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อพืชดอก

“ตอนนี้ เรากำลังทึ่งกับสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ในมุมมองใด ๆ ก็ตามที่เราเคยเห็นในฐานะมนุษย์” อลิซาเบธ โวลโควิช (Elizabeth Wolkovich) รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ผู้ศึกษาชุมชนพืชและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กล่าว

เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะโลกร้อนนั้นได้รับแรงหนุนส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้ทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงมากในปี 2023 จนกลายเป็นหนึ่งในปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ จากนั้นก็ตามมาด้วยเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของปี 2024 ที่อบอุ่นที่สุดเป็นประวัติการณ์

“สำหรับฉัน บันทึกดอกซากุระนี้แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงได้อย่างแท้จริง” โวลโควิช กล่าว เธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดงานการแข่งขันทำนายผลดอกซากุระนานาชาติ อธิบายเสริมว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโดยมนุษย์ กำลังกระตุ้นให้เกิดช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งส่งผลให้ดอกซากุระบานเร็วขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ เช่น เกียวโต

“เราไม่เคยเจออะไรแบบนี้” โวลโควิช บอก “มันทำให้ยุคน้ำแข็งเล็กหรือยุคกลางที่อบอุ่น หดตัวลงจริง ๆ นั่นคือโลกใหม่ที่เรากำลังมุ่งไป” (อธิบายเสริม: ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าโลกอยู่ในช่วงยุคน้ำแข็งเล็ก เนื่องจากยังมีน้ำแข็งอยู่ตามขั้วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากยุคน้ำแข็งใหญ่เมื่อราวหมื่นปีก่อน ดังนั้นแทนที่จะเป็นยุคน้ำแข็งเล็กปกติ แต่โวลโควิช หมายความว่ายุคนี้หดตัวลงอย่างผิดปกติ)

การผลิบานที่มาถึงเร็ว

ฤดูใบไม้ผลิที่อุ่นกว่าจะกระตุ้นให้ดอกซากุระบานเร็วขึ้นนั้น เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในเกียวโตเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นในที่อื่นด้วย รวมถึง วอชิงตัน ดี.ซี. (เช่นเดียวกับดอกพญาเสือโคร่งของไทยที่บานเร็วขึ้นทุก ๆ ปี)

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ต้นซากุระที่เป็นโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ในศาลากลางของประเทศ มีสถิติบานเร็วที่สุดเป็นอันดับของประวัติศาสตร์ 2,000 ปีตามข้อมูลของ EPA (สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ) โดยเกิดขึ้นเกือบ 1 สัปดาห์ก่อนเวลาปกติ

โดยทั่วไปแล้วการบานจะขึ้นถึงจุดสูงสุดหรือเกือบ 2 ใน 3 ของทั้งหมดจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศและสายพันธุ์ ในอดีตการบานของ ‘โซเมอิโยชิโนะ’ (Yoshino Cherry) ในวอชิงตัน ดี.ซี. จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน แต่นักวิทยาศาสาสตร์เชื่อว่าสิ่งนี้กำลังเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วของโลก

แม้ว่าเวลาออกดอกจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่แนวโน้มระยะยาวแสดงให้เห็นว่าซากุระบานเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่ แพทริค กอนซาเลซ (Patrick Gonzalez) นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนักนิเวศวิทยาป่าไม้จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าว

“ใน ดี.ซี. ความรวดเร็วของการบานนั้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากมนุษย์ แต่ไม่มีสาเหตุทางวิทยาศาสตร์” กอนซาเลซ บอก ซึ่งหมายความว่า แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะตรวจพบการเปลี่ยนแปลงทางสถิติที่แตกต่างจากการแปรผันตามธรรมชาติเดิม แต่พวกเขายังไม่ได้ถือว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดจากผลกระทบที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมนุษย์โดยตรง

แต่อาจเป็นอิทธิพลเชิงสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้เช่น ผลกระทบของเกาะความร้อนในเมือง (Urban heat island effect) และนั่นคือจุดที่การวิจัยในเกียวโตมีความสำคัญอย่างยิ่ง บันทึกซากุระของเมืองที่ย้อนกลับไปได้มากกว่า 1,200 ปี ได้นำเสนอข้อมูลด้านสภาพอากาศในอดีตซึ่งให้ผลที่ตรงข้ามกัน

ไม่เหมือนกับใน ดี.ซี. งานวิจัยเกี่ยวกับการบานของซากุระในเกียวโตระบุว่า “ได้รับการตรวจพบและเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์” กอนซาเลซ กล่าว

ในปี 2020, 2021 และ 2023 ซากุระของเกียวโตบานเร็วขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเร็วสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาตามรายงานจากบีบีซี ผลการศึกษาเมื่อปี 2022 พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีมนุษย์เป็นสาเหตุหลักนั้น ทำให้ฤดูใบผลิเกิดเร็วขึ้นถึง 11 วัน และนั่นส่งผลให้ดอกซากุระบานเร็วขึ้น

มีการจำลองภายใต้สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกปานกลาง งานวิจัยได้คาดการณ์ว่าฤดูกาลของดอกซากุระบานในเกียวโตจะมาเร็วกว่าปกติเพิ่มอีกเกือบ 1 สัปดาห์ภายในปี 2100 สำหรับบางคน รูปแบบนี้เป็นสัญญาณที่น่าตื่นตระหนก

“นี่เป็นหนึ่งในสัญญาณที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดสำหรับผู้คน ถึงผลกระทบของมลพิษคาร์บอนของมนุษย์ที่มากเกินไป” กอนซาเลซ กล่าว พร้อมเสริมว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อนเื่องอาจทำให้ต้นซากุระบานเร็วยิ่งขึ้นไปอีกภายใต้สถานการณ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน ‘กรณีที่เลวร้ายที่สุด’

“มันเป็นสัญญาณบอกว่าเราจำเป็นต้องลดมลภาวะคาร์บอนอย่างจริงจังเพียงใด เพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” กอนซาเลซ เสริม

ทำไมปรากฏการณ์บานเร็วจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิและต้นซากุระที่เร่งบานในเวลาต่อมา อาจส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักทางระบบนิเวศ ซึ่งรวมถึงทำให้ดอกไม้ไม่มาตรงเวลากับแมลงผสมเกสร และความเปราะบางของต้นไม้เองที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศ

แม้ว่าซากุระไม่ได้ผลิตผลไม้ที่กินได้ แต่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนั้นยังคงเป็นตัวอย่างที่เหมาะสมในต้นไม้ที่ให้ผลผลิตอื่น ๆ เช่น แอปเปิ้ล ที่กำลังเกิดขึ้นพร้อม ๆ และหากฤดูหนาวนี้ยังคงอบอุ่นขึ้นเร็วกว่าฤดูร้อนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ปริมาณการสัมผัสกับสภาพอากาศหนาวเย็นที่ต้นไม้ต้องการในช่วงพักตัว ก็อาจไม่เป็นไปตามกำหนด ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องทำให้บางต้นไม่สามารถออกดอกได้เลยในฤดูใบไม้ผลิ

สำหรับซากุระ ต้องใช้เวลาหนึ่งเดือนในการสัมผัสกับอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส จึงจะบานได้เต็มที่ในช่วงที่อากาศอบอุ่นขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นราว ๆ 0.2 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2023 ทำให้คาดการณ์กันว่า การสัมผันฤดูหนาวที่ไม่เพียงพอได้คร่าชีวิตดอกไม้ไปประมาณครึ่งหนึ่ง

“(วันที่ดอกไม้บาน)อาจจะเร่งขึ้นอีกในอนาคต” ลูอิส ซิสกา (Lewis Ziska) นักพฤษศาสตร์และรองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าว “แต่ผลลัพธ์ของการไม่มีดอกเมื่อไม่มีฤดูหนาว ก็อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคิด”

ความรู้สึกของจิตวิญญาณ

ต้นซากุระไม่เพียงเป็นเครื่องมือสำหรับนักวิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การออกดอกของต้นไม้ยังแสดงถึงสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน

“มองเห็นได้ชัดเจนมาก” สำหรับผู้คนในการเฉลิมฉลองการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ คิม ซูฮยอง ( Soo-Hyung Kim) นักพฤกษศาสตร์และศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าว “การมาถึงของฤดูใบไม้ผลิเต็มไปด้วยความรู้สึก มีความอบอุ่นอยู่รอบ ๆ” คิมเสริม พร้อมกับบอกว่ามันเป้นประสบการณ์ที่ “น่าตื่นตาตื่นใจ”

และไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพียงเกียวโตกับวอชิงตัน ดี.ซี. เท่านั้น สวนซากุระที่ซีแอตเทิลก็เพิ่งบานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้สถานที่หลายสิบแห่งในสหรัฐฯ ได้พบกับความสวยงามของดอกไม้ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีโอกาสได้เดินเล่นใต้ร่มเงาของต้นซากุระที่บานสะพรั่ง ซิสกา กล่าวว่ามันเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง

“คุณสามารถจินตนาการถึงสีสันต่าง ๆ สีชมพูทุกเฉด สีแดงทุกเฉด และท้องฟ้าสีครามอยู่เบื้องหลัง และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ก็ไม่มีคำใดสามารถบรรยายหรืออธิบายได้” ซิสกา กล่าว “มันเป็นความรู้สึกของจิตวิญญาณ มันสัมผัสส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของคุณที่ไม่สามารถเข้าถึงด้วยวิธีอื่น”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา Nationalgeographic

อ่านเพิ่มเติม :รศ.ชัชรี แก้วสุรลิขิต เล่าเรื่อง “หญ้าทะเลไทย” ให้ไกลไปกว่า “พะยูน”

Chatcharee.-KU

 

Recommend