นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การทำให้มนุษย์เติบโตตั้งแต่เริ่มต้น นับตั้งการ ตั้งครรภ์ ทำให้อายุทางชีววิทยาของเราเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่ 2 ถึง 14 เดือน
“การตั้งครรภ์มี ‘ค่าใช้จ่าย’ ที่ดูเหมือนจะตรวจพบได้แม้กระทั่งในช่วงอายุ 20 ปีของคุณ” คาเลน ไรอัน (Calen Ryan) นักชีววิทยามนุษย์จากคณะสาธารณะสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์กซิตี้ และผู้นำการวิจัย กล่าว
ยูซิน ซูช (Yousin Suh) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ศึกษาว่าการตั้งครรภ์ส่งผลต่อการสูงวัยอย่างไร และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวถือเป็น “การศึกษาที่สำคัญ” ที่ยืนยันถึงสิ่งที่ผู้หญิงรู้อยู่แล้วว่าการตั้งครรภ์นั้นมีผลกระทบต่อร่างกายอย่างมาก
รายงานนี้เผยแพร่ในวารสาร ‘Proceedings of tha National Academy of Sciences’ เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา
อายุทางชีววิทยานี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุตามลำดับเวลาเมื่อคลอดออกมา และก็ไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนรอบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งปี แต่มันคือ “อายุของเซลล์และอวัยวะของเราเอง” โดยพิจารณาในมุมมองจากชีวเคมี
ไรอันกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ร่างกายของเราแก่เร็วหรือช้ากว่าจำนวนปีนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยจำนวนมากโดยเฉพาะกับสิ่งที่เรียกว่า ‘อีพิเจเนติกส์’ (Epigenetics) หรือก็คือการที่ร่างกายของเราตัดสินใจว่าจะเปิดหรือปิดยีนอย่างไรและเมื่อใด
ดังนั้น เหตุการณ์ในชีวิตบางอย่างเช่น การเจ็บป่วยที่สำคัญ การบาดเจ็บ หรือช่วงเวลาของความเครียดรุนแรง ดูเหมือนว่าจะทำให้เกิด ‘การกระโดด’ ครั้งใหญ่ของอิพิเจเนติกส์ เนื่องจากร่างกายต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทางพลังงานและทรัพยากรเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น
และเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาเกิดขึ้นอย่างมากในช่วงของการเติบโต 9 เดือน นักวิทยาศาสตร์จึงสงสัยว่าการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะกับการตั้งครรภ์แฝด จะต้องแลกมาด้วยกับอายุทางชีววิทยามากเพียงใด?
หากจีโนมของเราเป็นคู่มือการใช้งานร่างกาย อิพิเจเนติกส์ก็จะเป็นระบบซับซ้อนที่มีการคั่นหน้า ไฮไลท์ และขีดเส้นใต้ไว้เพื่อบอกเซลล์ของเราว่าควรอ่านยีนใดในเมื่อไหร่ สิ่งนี้มักเกิดขึ้นผ่านเมทิลเลชั่น (Methylation) ซึ่งก็คือกระบวนการแท็กสารเคมีเล็ก ๆ ที่เรียกว่ากลุ่มเมทิลติดอยู่กับส่วนของดีเอ็นเอ
กลุ่มเมทิลเหล่านี้จะต้องมีการเคลื่อนย้ายและแทนที่บ่อยครั้ง เพื่อระบุว่ายีนใดที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ของเรา ระบบนี้ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมขณะที่เรายังคงอยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น เครื่องจักรในการบำรุงรักษานี้ดูเหมือนว่าจะเริ่มเกิดข้อผิดพลาดมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เมทิลชันสะสมในบางที่และหายไปในบางที่
การเก็บตัวอย่างเลือดและการนับเมทิลบุ๊กมาร์กในตำแหน่งสำคัญ ๆ ตามรหัสพันธุกรรม ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณอายุอิพิเจเนติกส์ของแต่ละบุคคลได้ ผ่านชุดอัลกอริธึมที่มีชื่อว่า ‘นาฬิกา’ โดยนาฬิกาเหล่านี้จะเป็นตัวทำนายความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และภาวะแทรกซ้อนด้านสุขภาพ
แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครทราบแน่ชัดว่าภาวะเจริญพันธุ์ส่งผลต่อายุทางชีวภาพของเราอย่างไร เพื่อที่จะเรียนรู้ให้ได้มากขึ้น ไรอันและเพื่อนร่วมงานของเขาหันมาศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพในวัยรุ่นที่ประเทศฟิลิปปินส์แบบระยะยาว โดยวิเคราะห์จากตัวอย่างเลือดของผู้เข้าร่วมที่เป็นเพศหญิงจำนวน 825 คนที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 22 ปี
ทีมวิจัยสามารถระบุความแตกต่างได้อย่างชัดเจน โดยเห็นความเปลี่ยนแปลงของอิพิเจเนติกส์อย่างมากในดีเอ็นเอ ผลลัพธ์เผยให้เห็นว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มีอายุทางชีววิทยาเพิ่มขึ้นระหว่าง 4 ถึง 14 เดือน มากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ แม้ว่าจะควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่นระดับรายได้ นิสัย และการสูบบุหรี่แล้วก็ตาม
แม้จะมีอายุใกล้เคียงกัน แต่ผู้หญิงในการศึกษานี้มีวิถีการเจริญพันธุ์ที่แตกต่างกันมา บางคนไม่เคยตั้งครรภ์ บางคนรายงานว่าเคยตั้งครรภ์ 1 ครั้งหรือมากกว่านั้น และบางคนก็ตั้งครรภ์ขณะเก็บตัวอย่าง นั่นทำให้เกิดคำถามสำคัญอย่างหนึ่ง: การตั้งครรภ์หลายครั้งทำให้เกิดผลสะสมของการสูงวัยหรือไม่? หรือระบุให้ลึกกว่านั้นว่า การตั้งครรภ์แต่ละครั้งจะทำให้อายุทางอิพิเจเนติกส์ของมารดาเพิ่มมากขึ้นหรือไม่?
นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างงใหม่จากผู้หญิงกลุ่มเดิมจำนวน 331 คน ซึ่งตั้งครรภ์ในระยะเวลา 4 ถึง 9 ปีต่อมา โดยใช้ตัวอย่างเลือดชุดแรกเป็นเกณฑ์พื้นฐาน ด้วยการเปรียบเทียบภาพรวมอายุอิพิเจเนติกส์ของผู้หญิงแต่ละคน พร้อมกับคำนวณผลกระทบของการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นในแค่ละครั้งที่ผ่านมา
“ผู้หญิงที่มีการตั้งครรภ์มากขึ้นในช่วงเวลานั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอายุของอิพิเจเนติกส์มากขึ้น” ไรอัน บอก เขาเสริมว่า การตั้งครรภ์แต่ละครั้งจะเพิ่มอายุชีววิทยาทบเข้าไปอีก 2 ถึง 3 เดือนจากอายุชีววิทยาเดิมของผู้ตั้งครรภ์
ศาสตราจารย์ ซูช กล่าวว่า การค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญ ในการทำความเข้าใจว่าการตั้งครรภ์หลายครั้งส่งผลต่อายุทางชีววิทยาอย่างไร เนื่องจากงานวิจัยส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ทำการตรวจสอบการตั้งครรภ์แค่เพียงครั้งเดียว
เธอเสริมว่าการวิจัยครั้งใหม่นี้สอดคล้องกับสิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับอัตราการเกิดที่สูง ว่าการตั้งครรภ์หลายครั้งอาจทำให้อายุขัย (อายุตามปี) สั้นลง และมีความเสี่ยงสูงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผู้ที่ต้องการเป็นพ่อและแม่ไม่ควรสิ้นหวังเมื่อได้อ่านงานวิจัยนี้ แม้จะไม่แน่ใจว่าอายุอิพิเจเนติกส์ที่สูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงวัยเจริญพันธุ์อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นอีกในหลายทศวรรษต่อมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าอายุมี ‘จุดที่น่าสนใจ’ เกิดขึ้นสำหรับการเจริญพันธุ์
ศาสตราจารย์ ซูช ได้ยกตัวอย่างเช่น การตั้งครรภ์หนึ่งหรือสองครั้งอาจดีกว่าการไม่ตั้งครรภ์เลย เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่าการตั้งท้องสามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งบางชนิดได้ และการมีลูกอย่างน้อย 1 คนก็สัมพันธ์กับอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นเล็กน้อย (อายุทางชีววิทยาที่เพิ่มขึ้นไม่ได้หมายความเราจะเสียชีวิตเร็วขึ้น)
การที่นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความชราและภาวะเจริญพันธุ์นี้ช่วยให้ “เราสามารถทำงานเพื่อระบุบุคคลที่อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าได้” ไรอันเสริม และคิดแนวทางป้องกันเพื่อลดผลกระทบจากการตั้งครรภ์
งานวิจัยได้เผยให้เห็นต้นทุนทางอิพิเจเนติกส์ของการตั้งครรภ์ว่าอาจแตกต่างกันไปตามประเทศและวัฒนธรรม โดยแนะนำว่าการสนับสนุนจากผู้ปกครอง และการเข้าถึงการรักษาพยาบาล อาจมีบทบาทสำคัญในการทำให้อายุอิพิเจเนติกส์ลดลงได้
ศาสตราจารย์ ซูช เสริมว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อคลี่คลายผลกระทบในการเลี้ยงดูลูกตั้งแต่การคลอดบุตร ต่ออายุอิพิเจเนติกส์ พร้อมทั้งตรวจสอบว่าต้นทุนของการตั้งท้องจะมีมากขึ้นหรือไม่ หากพ่อแม่มีอายุมากกว่าในงานวิจัยนี้
แม้ว่านี่อาจเป็นเหมือนความรู้ทั่วไปว่าการตั้งครรภ์ทำให้เรา ‘แก่’ แต่แนวคิดนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ทางวิทยาศาสตร์ และศาสตราจารย์ ซูช ก็ระบุว่างานวิจัยแบบเดียวกับของไรอันนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความสนใจมานานแล้ว
“ฉันรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นที่มีการศึกษาประเภทนี้ดำเนินการอยู่” ศาสตราจารย์ ซูช กล่าว
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/premium/article/pregnancy-aging-dna-genetics