เราทุกคนล้วนเคยเป็น ทารก “นางเงือก” – เราหายใจในถุงน้ำคร่ำ 9 เดือนก่อนเกิดได้อย่างไร

เราทุกคนล้วนเคยเป็น ทารก “นางเงือก” – เราหายใจในถุงน้ำคร่ำ 9 เดือนก่อนเกิดได้อย่างไร

เมื่ออยู่ในครรภ์ ทารก ในท้องไม่เคยใช้ปอดในการหายใจ แต่พอคลอดออกมาแล้ว กลับสูดลมหายใจแรกได้เกือบจะทันทีที่คลอดออกมา

การเปลี่ยนแปลงอันน่าอัศจรรย์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? “เราทุกคนต่างเคยทำการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งนี้” เดวิด ทินเกย์ (David Tingay) ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิดจากโรงพยาบาลเด็กรอยัลในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียกล่าว “นี่เป็นหนึ่งในกิจกรรมพื้นฐานที่สุดที่เราต้องทำ”

แต่ทารกน้อยหายใจโดยไม่ใช่ปอดเมื่ออยู่ในท้องของมารดาได้อย่างไร? อาจเป็นสิ่งที่เชื่อได้ยาก แต่ “ปลา” และ “มนุษย์” นั้นดูคล้ายกันอย่างน่าทึ่งในช่วง 4 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ

หากดูผ่าน ๆ ตัวอ่อนของทั้งคู่เหมือนกันจนแยกแทบไม่ออก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปลาจะเปลี่ยนโครงสร้างคอที่พับแล้วเป็นเส้นใยเนื้อเยื่อที่เรียกว่าเหงือก แต่ในมนุษย์ โครงสร้างเดียวกันนี้จะกลายเป็นขากรรไกรของเรา

หลังจาก 4 หรือ 5 สัปดาห์ ระบบทางเดินหายใจของเราก็จะเริ่มพัฒนาเป็นปอด เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 8 โครงสร้างพื้นฐานของปอดทั้งหมดจะถูกสร้างขึ้น เนื่อเยื่อปอดจะเริ่มเติบโตและเจริญเต็มที่และพร้อมหายใจเข้ากับหายใจออกในเดือนที่ 9

แต่ในช่วงเวลาที่อยู่ในครรภ์ ปอดของทารกไม่สามารถใช้หายใจได้เลย มันเต็มไปด้วยของเหลวซึ่งหลั่งออกมาจากตัวปอดเองเพื่อทำหน้าที่กันกระแทกและปกป้องอวัยวะที่กำลังพัฒนาจากการบีบอัดหรือความเสียหาย

ดังนั้น การหายใจของทารกจะเป็นหน้าที่ของ “เครือข่ายหลอดเลือด” แทน พูดอีกอย่างคือ เมื่ออยู่ในครรภ์ เราหายใจผ่านของเหลว

เครือข่ายเหล่านี้จะอำนวยความสะดวกในการส่งออกซิเจน สารอาหาร และกำจัดของเสีย ทุกอย่างจะเข้าออกผ่านกระแสเลือดของแม่ นักวิทยาศาสตร์สิ่งนี้เรียกว่า ‘กระบวนการหายใจด้วยรก’

เลือดที่อุดมด้วยออกซิเจนจะกระจายไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาจนในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทารกก็พร้อมที่จะหายใจด้วยตัวเอง

“การคลอดลูกคงเป็นครั้งเดียวที่คุณอยากให้ลูกของคุณร้องไห้ออกมาดังๆ” คาราซิโอโล เฟอร์นันเดส จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ และโรงพยาบาลเด็กเท็กซัสกล่าว “คุณต้องให้พวกเขาร้องไห้ให้มากที่สุด เพราะมันช่วยเปิดปอดได้ดีจริง ๆ”

ขณะที่ทารกเดินทางผ่านช่องคลอด การบีบตัวจะบีบของเหลวบางส่วนออกจากปอด ความดันและการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนต่าง ๆ ก็ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายดูดซึมของเหลวออกมาด้วยเช่นกัน

และเมื่อพวกเขาคลอดออกมา ทุกอย่างจะภายในไม่กี่วินาทีหลังคลอดจะส่งสัญญาณให้ทารกสูดลมหายใจแรก

“ปอดของทารกในครรภ์ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำขนาดใหญ่ที่จู่ ๆ ก็เต็มไปด้วยช่องว่างอากาศ” ทินเกย์กล่าว “นั่นคือสิ่งที่ทารกทำในลมหายใจแรก”

เมื่ออากาศแรกไหลเข้าไป มันจะดันของเหลวที่เหลือในปอดออก ช่วยเปิดปอดให้ทำงานเต็มที่ ของเหลวจะขับออกมาจากการไอ หรือดูดซึมโดยกระแสเลือดและระบบน้ำเหลือง

กระบวนการเหล่านี้ทำให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ไม่แนะนำให้คุณแม่เลือกผ่าคลอด เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
เพื่อกระตุ้นให้ทารกหายใจ

บางคนอาจมีของเหลวค้างอยู่ในปอดทำให้เกิดปัญหาหลังคลอดตามมา รวมถึงการผ่าคลอดก่อนกำหนดอาจทำให้ปอดยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ เว้นเสียแต่แพทย์จะอนุญาต

วิถีทางธรรมชาติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในครรภ์ช่วยให้ทารกได้มีเวลาสร้าง พัฒนา ฝึกฝน และเตรียมพร้อมกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ ระบบประสาท และระบบทางเดินหางใจ เพื่อช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การเปลี่ยนการหายใจด้วยรกเป็นหายใจด้วยปอดของตัวเอง

เราไม่อาจรู้ได้อย่างแน่ชัดว่านางเงือกในเรื่องเล่าสามารถหายใจใต้น้ำได้อย่างไร แต่ตอนนี้เราค่อนข้างรู้มากพอสมควรว่า ทารกนั้นคล้ายกับนางเงือกในแง่มุมหนึ่ง

แอเรียลได้แลกเปลี่ยนเสียงของเธอกับการใช้ชีวิตบนบก เช่นเดียวกัน ทารกก็ได้เป็นอิสระด้วยการหายใจเข้าออกครั้งแรกเพื่อใช้ชีวิตบนโลกใบนี้

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา https://www.nationalgeographic.com/premium/article/mermaids-womb-placenta-uterus-breath-air

อ่านเพิ่มเติม ผู้หญิง ทั่วโลกยุคใหม่ ให้นมลูกยากขึ้น! เหตุเครียด-ร่างกายเปลี่ยน-นมไม่พอ ซ้ำเรายังรู้จัก “นมคน” น้อยกว่า “นมวัว”

Recommend