อินโทรเวิร์ต ไม่ใช่ เอ็กซ์โทรเวิร์ต ไม่เชิง หรือเป็น แอมบิเวิร์ต , ออมนิเวิร์ต ?

ไม่ใช่ทั้ง “อินโทรเวิร์ต” และ “เอ็กซ์โทรเวิร์ต” ไม่ได้ชอบ “อยู่คนเดียว” ตลอดเวลา แต่บางครั้งก็เหนื่อยหน่ายกับการ “ออกไปเจอผู้คน” หรือจะเป็น แอมบิเวิร์ต , ออมนิเวิร์ต ?

คำบรรยายถึงบุคลิกภาพทั้งสองแบบนี้มีความแตกต่างหรือความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์มากแค่ไหน? บางทีอาจถึงเวลาที่ต้องใช้คำใหม่ “ แอมบิเวิร์ต ” และ “ ออมนิเวิร์ต ”

หลายปีที่ผ่านมา ผู้คนส่วนใหญ่มักถามคนรอบตัว คนที่เพิ่งรู้จัก หรือคนที่อยู่ในสถานะ “คนคุย” ว่าเธอเป็น “เอ็กซ์โทรเวิร์ต” (Extrovert) หรือเป็น “อินโทรเวิร์ต” (Introvert) จนถึงกับมีแท็กบุคลิกภาพในแอปหาคู่ออนไลน์เกือบทุกแอปพลิเคชั่น แต่หลายคนไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง 

บางช่วงเวลาเราชอบที่จะออกไปเที่ยวสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนในสังคม ชอบความสนุกสนานและชอบทำความรู้จักคนใหม่ ๆ หรือกิจกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของคน “เอ็กซ์โทรเวิร์ต” 

ทว่าบางครั้งก็กลับต้องการเวลาที่จะอยู่คนเดียวไม่ออกไปไหนเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งก็เป็นลักษณะของ “อินโทรเวิร์ต” สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน จนทำให้เราไม่สามารถบอกได้ว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นแบบไหนกันแน่?

เมื่อพูดถึงประเภทบุคลิกภาพ “มันเป็นความต่อเนื่องที่เริ่มจากการเก็บตัวไปสู่บุคลิกภาพที่แสดงออกมา” ศาสตราจารย์ แดน พี. แมคอดัมส์ (Dan P. McAdams) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น และวิลเลียม ดัลลอป (William Dunlop) ผู้เขียนหนังสือ ‘The Person: A New Introduction to Personality Psychology’ กล่าว “มันเป็นเส้นโค้งรูประฆังคว่ำ ที่พวกเราส่วนใหญ่พบว่าตัวเองถูกวางไว้ตรงกลาง” 

จริง ๆ แล้วมีบุคลิกภาพอีกสองประเภทที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักนั่นคือ “แอมบิเวิร์ต” หรือ “Ambiverts” ซึ่งถูกเสนอครั้งแรกโดย เอ็ดวาร์ด เอส. คอนกลิน (Edward S. Conklin) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันในปี 1923 โดยกล่าวถึง ลักษณะนิสัยที่เก็บตัวและเปิดเผยผสมผสานกัน ขณะที่อีกคำหนึ่งคือ “ออมนิเวิร์ต” หรือ “Omniverts” ซึ่งเป็นลักษณะที่ผันผวนกันระหว่างพฤติกรรมการเก็บตัวและเปิดเผยกล่าวอย่างง่าย ๆ แอมบิเวิร์ต คือผสมผสาน แต่ ออมนิเวิร์ต คือ การเปลี่ยนไปมาในบุคลิกภาพทั้งสองแบบอย่างสุดขั้ว 

“ภาษานี้เป็นการปรับเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมสมัยนิยม” ศาสตราจารย์ ลุค สไมล์ลี (Luke Smillie) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาในสาขาจิตวิทยาวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ในออสเตรเลีย กล่าว “คนประเภทเอ็กซ์โทรเวิร์ต-อินโทรเวิร์ตนั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นเราจึงคิดหมวดหมู่อื่น ๆ เหล่านี้ขึ้นมาสำหรับลักษณะทางจิตวิทยาที่อยู่ตรงกลาง” 

ในขณะที่แนวคิดเรื่อง แอมบิเวิร์ต ได้รับการศึกษาและมีปรากฏอยู่ในวรรณกรรมทางจิตวิทยา คำว่า ออมนิเวิร์ต ก็ดูเหมือนจะเป็นโครงสร้างทางจิตวิทยาสมัยใหม่ และผู้เชี่ยวชาญบางคนก็สงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของมัน

“จากประสบการณ์ของผม มันไม่มีอยู่จริง (ออมนิเวิร์ต) – (ผมไม่เชื่อว่า) จะมีใครสับเปลี่ยนไปมาระหว่างความสุดโต่งของทั้งสองนี้” ศาสตราจารย์ ริชาร์ด รอบบินส์ (Richard Robins) จามหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส กล่าว “เป็นไปได้อย่างชัดเจนที่คนคนหนึ่งจะแสดงตัวว่าเป็นคนเปิดเผยอย่างมากในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเฉพาะเท่านั้น” 

“และก็เป็นคนเก็บตัวมาก ๆ ในอีกสถานการณ์หนึ่ง สิ่งที่ผมไม่คิดว่าเป็นไปได้คือ การที่ใครบางคนต้องอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันนับร้อย และมักจะทำตัวเป็นคนเปิดเผยหรือเก็บตัวอย่างมากในทุกข์สถานการณ์ ซึ่งไม่เคยอยู่ตรงกลางเลย” เขาเสริม

แอมบิเวิร์ต แนวคิดที่ขัดแย้งกัน?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแบบทดสอบหรือตัวบ่งชี้ทางบุคลิกภาพที่ได้รับความนิยมอย่างมากนั่นคือ ‘ไมเออร์ส-บริกส์’ (Myers-Briggs) หรือที่เรารู้จักว่า ‘MBTI’ ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทั้งในสถานที่ทำงานหรือสถานศึกษา โดยมีการแบ่งผู้คนออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามคะแนนลักษณะนิสัยในมิติต่าง ๆ เช่น INFJ, ENFP, ESTP, ISFJ และอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

แบบทดสอบนี้เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1975 ทำให้คำอย่าง ‘Extraversion’ และ ‘Introversion’ แพร่หลายไปในสังคม แม้ทั้งสองคำจะถูกนำเสนอครั้งแรกสุดโดยนักจิตวิทยาชาวสวิสที่ชื่อ คาร์ล ยุง (Carl Jung) ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1900 ก็ตาม

เหตุผลก็คือมันมีเสน่ห์ที่น่าดึงดูดใจ “เมื่อคุณได้รับคะแนนลักษณะนิสัย และรู้ว่ามีคนแบบคุณเองอยู่ข้างนอกนั้น มันทำให้คุณรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของทีม” ศาสตราจารย์ แมดอดัมส์ กล่าว ในขณะเดียวกันการผสมผสานตัวอักษรเข้าด้วยกัน ก็ทำให้คุณรู้สึกว่ามีเอกลักษณ์ หรือแตกต่างจากคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

“ผู้คนต่างเคยหมดหวังที่จะเข้าใจตัวเอง” สก็อตต์ แบร์รี่ คัฟแมน (Scott Barry Kaufman) นักวิทยาศาสตร์ด้านความรู้ความเข้าใจจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก และผู้ก่อตั้งศูนย์ศักยภาพมนุษย์ กล่าว “ยิ่งคุณบอกคนอื่นได้ว่าพวกเขาเป็นใคร ก็ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจในโลกที่ไม่แน่นอนนี้มากขึ้น” 

แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ‘ไม่มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์สำหรับการทดสอบของ ‘ไมเออร์ส-บริกส์’ “การวิจัยในด้านจิตวิทยาบุคลิกภาพแสดงให้เห็นอย่างสม่ำเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยานั้นไม่เป็นไปตามตรรกะหรือเหตุผลแบบนั้น” ศาสตราจารย์ แมคอดัมส์ กล่าว แต่มิติต่าง ๆ เช่น การแสดงความสนใจต่อสิ่งภายนอกหรืออื่น ๆ นั้นมีความต่อเนื่องอยู่ภายใน และผู้คนก็อยู่ในจุดที่แตกต่างกันไปในความต่อเนื่องนั้น เขามองว่าสิ่้งเหล่านั้นเป็นคุณลักษณะมากกว่าที่จะเป็นประเภทบุคลิกภาพ

“นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 หลักฐาน (ทางวิทยาศาสตร์) เริ่มมีเป็นกองพะเนินว่าผู้คนมีความแตกต่างกันตามระดับ” ศาสตราจารย์ สไมล์ลี กล่าว อย่างไรก็ตาม รูปแบบนั้นยังคงดึงดูดคนทั่วไปจำนวนมากเรื่อยมา “เราหันไปหาวิธีคิดแบบเด็ดขาดเหล่านี้ เพราะมันทำให้โลกที่ซับซ้อนง่ายขึ้น” เขากล่าวเสริม

ทางบริษัท ไมเออร์ส-บริกส์ เองก็ไม่รับทราบถึงการมีอยู่ขอบเหตุการณ์แวดล้อม (ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อบุคลิกภาพ) และนักจิตวิทยาบางคนก็ทำเช่นนั้น

“ลักษณะเหล่านี้ (ของทั้งเอ็กซ์โทรเวิร์ตและอินโทรเวิร์ต) มีอยู่ต่อเนื่อง และคนส่วนใหญ่ก็อยู่ตรงกลาง ดังนั้นคำว่า ‘แอมบิเวิร์ต’ จึงมีประโยชน์” ศาสตราจารย์ จอห์น เซเลนสกี (John Zelenski) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคาร์เลนตัน ในออตตาวา กล่าว “เราไม่ได้ประพฤติตนแบบเดียวกันในสถานการณ์ที่แตกต่างกันเสมอไป คนส่วนใหญ่มีความยืดหยุ่นในลักษณะนี้ การเป็นคนเข้มงวดมักเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วยทางจิตเวช” (เขาหมายความว่าบุคคลที่เก็บตัวสุดขั้วมากเกินไปตลอดเวลาอาจเป็นโรคทางจิตเวลาบางอย่าง)

แม้ว่าลักษณะเหล่านี้มีความโน้มเอียงทางพันธุกรรม แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้คนมีอายุมากขึ้น “มันเป็นทั้งธรรมชาติและการเลี้ยงดู แต่ธรรมชาติทำให้มันดำเนินต่อไป” ศาสตราจารย์ แมคอดัมส์ กล่าว

อันตรายของการแปะป้ายบุคลิกภาพ

แม้ว่าลักษณะทางบุคลิกภาพแต่ละอย่างจะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกันนิสัยเฉพาะตัว แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป ตัวอย่างเช่น การวิจัยชี้ให้เน้นว่าคน เอ็กซ์โทรเวิร์ต และ แอมบิเวิร์ต มีแนวโน้มที่จะควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าคน อินโทรเวิร์ต

ขณะที่การศึกษาอีกชิ้นก็พบว่าในขณะที่ อินโทรเวิร์ต และ เอ็กซ์โทรเวิร์ต นั้นชอบการพูดคุยกันมากกว่าการส่งข้อความ แต่ แอมบิเวิร์ต จะชอบส่งข้อความมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร ‘Personalization and Social Psychology Bulletin ปี 2023 พบว่า ผู้คนมักตัดสิน เอ็กซ์โทรเวิร์ต ว่าเป็นผู้ฟังที่แย่กว่าคนที่ไม่ได้เป็น เอ็กซ์โทรเวิร์ต

ทว่าลักษณะเหล่านี้ที่แตกต่างกันมักถูกมองข้ามไป ซึ่งเป็นหนึ่งในอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการยึดติดกับหมวดหมู่เหล่านั้นมากเกินไป ทำให้การตีความพฤติกรรมของใครบางคนผิดได้ง่าย “การเก็บตัวมักถูกจัดประเภทผิด ๆ ว่าเป็นคนที่มีความห่างเหิน หรือสนใจคนอื่นต่ำ รวมถึงมีแรงจูงในการมีส่วนร่วมกับสังคมต่ำมาก” ศาสตราจารย์ สไมล์ลี กล่าว

ในทำนองเดียวกัน “เอ็กซ์โทรเวิร์ต ก็มักถูกเข้าใจผิดว่ามีความสามารถมากกว่า เพียงเพราะพวกช่างพูดมากกว่าและดูเหมือนจะมีหัวข้อต่าง ๆ ในการพูดคุย” เขากล่าวเสริม

แต่น่าแปลกที่องค์ประกอบหลักของบุคลิกภาพ เอ็กซ์โทรเวิร์ต ไม่ใช่ความสามารถในการเข้าสังคม แต่กลับเป็นพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงการแสวงหารางวัล งานวิจัยต่าง ๆ พบว่าคนที่ได้คะแนนสูงในด้านเอ็กซ์โทเวิร์ตนั้นจะถูกผลักดันให้มีส่วนร่วมในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะทางสังคมหรือความสนใจทางสังคม

คัฟแมน อธิบายว่าการสนใจต่อปัจจัยแวดล้อมภายนอกนั้นดูเหมือนจะได้รับแรงกระตุ้นจากโดปามีนในวงจรการให้รางวัลของสมอง ซึ่งส่งเสริมการสำรวจและการมีส่วนร่วมทางสังคมมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามแล้ว คนเก็บตัวจะไม่ได้รับรางวัลนี้มากนักจากประสบการณ์ทางสังคมเหล่านี้

ความเข้าใจผิดอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ที่ได้รับคะแนนด้านเอ็กซ์โทรเวิร์ตนั้นมักมีความสามารถในการเข้าสังคมโดยธรรมชาติ แต่ผลการวิจัยระบุว่า เอ็กซ์โทรเวิร์ตนั้น สร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีกว่าเพราะพวกเขาเลียนแบบ (พฤติกรรม) ของคนที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ดีกว่าคน อินโทรเวิร์ต

“บางครั้งการเป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตมักถูกเทียบได้กับทักษะการเข้าสังคม แต่เราพบว่าคน เอ็กซ์โทรเวิร์ต นั้นมีส่วนร่วมในการเลียนแบบพฤติกรรมมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว” คอร์รินา ดัฟฟี่ นักวิทยาศาสตร์การวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด วิทยาเขตแพทย์แอนชูตซ์ กล่าว

ในขณะเดียวกันนั้น เอ็กซ์โทรเวิร์ตเองก็ถูกเชื่อกันมานานแล้วว่าเป็นผู้นำในอุดมคติขององค์กรธุรกิจ แต่การวิจัยใหม่ ๆ เผยว่าบุคลิกภาพแบบอื่นที่มีจุดแข็งเฉพาะตัวก็สามารถทำได้เช่นกัน การศึกษาใน ‘Frontiers in Psychology’ ปี 2023 ชี้ให้เห็นว่า เอ็กซ์โทรเวิร์ต นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสิทธิภาพในด้านพฤติกรรมของผู้นำการทำงานในการตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ 

สิ่งที่สามารถสร้างความแตกต่างได้ในสายตาพนักงานคือ ความสามารถของผู้นำในการสร้างแรงกระตุ้นทางปัญญา และความกระตือรือร้นจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพแบบเก็บตัวมากขึ้น ดังที่นักวิจัยได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้

“ผู้คนมักคิดว่าผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจนั้นเป็นคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต” ศาสตราจารย์ รอบบินส์ กล่าว แต่นั่นไม่จริงเสมอไป ในความเป็นจริงแล้ว “เอ็กซ์โทรเวิร์ตนั้นมีความเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ในชีวิตที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าลักษนะบุคลิกภาพอื่น ๆ เช่นความมีมโนธรรม” 

อดัม แกรนท์ (Adam Grant) นักจิตวิทยาองค์กรจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ตั้งข้อสังเกตว่าแท้จริงแล้ว “เอ็กซ์โทรเวิร์ตหรืออินโทรเวิร์ตนั้นใครมีการขยายประสิทธิผลมากกว่ากัน?” ซึ่ง “โดยธรรมชาติแล้ว พวกเขาทั้งคู่ต่างมีส่วนร่วมในรูปแบบการพูดและการฟังที่ยืดหยุ่น” เขาเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “ข้อได้เปรียบที่ไม่ชัดเจน” 

พบกันครึ่งทาง

ในบางแง่แล้ว คนที่มีลักษณะบุคลิกภาพที่แตกต่างกันเหล่านี้จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันพอสมควรตัวอย่างเช่น แม้จะเป็นคน เอ็กซ์โทรเวิร์ต สูงแต่ก็ยังรู้สึกเหนื่อยล้าจากการเข้าสังคมได้ งานวิจัยเผยว่า อาจต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะรู้สึกหมดแรงดังกล่าว

“เราทุกคนสามารถระบุตัวตันด้วยสถานการณ์ที่ดึงเอาด้านลึก ๆ ต่าง ๆ ของเราและคนอื่น ๆ ออกมาแล้วขดมันไว้เป็นลูกบอลกลมq” คัฟแมน กล่าว “เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมีความสามารถด้านอินโทรเวิร์ตและเอ็กซ์โทรเวิร์ตอยู่ในตัวเรา” 

บางครั้ง การบังคับตัวเองให้ออกจากเขตปลอดภัยนี้ก็อาจนำมาซึ่งความสามารถและประโยชน์ทางจิตใจใหม่ ๆ ได้ งานวิจัยจากเซเลนสกีและเพื่อนร่วมงานพบว่าเมื่อคน อินโทรเวิร์ต โดยธรรมชาติพยายามทำตัว เอ็กซ์โทรเวิร์ตมากขึ้น อารมณ์พวกเขาก็ดีขึ้น

“คนที่ระบุตัวเองว่าเป็น อินโทรเวิร์ตนั้นมักจะพบกับอารมณ์เชิงบวกมากมาย เมื่อพวกเขาประพฤติตนในแบบที่ เอ็กซ์โทรเวิร์ตทำ” เซเลนสกี กล่าว “พวกเขาส่วนใหญ่รายงานว่ารู้สึกจริงใจมากขึ้น เหมือนกับว่าได้เปิดเผยตัวตันที่แท้จริงออกมา” 

ไม่ว่าคุณจะมีลักษณะนิสัยโดยธรรมชาติอย่างไร การสร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวด้านพฤติกรรมของคุณ รวมถึงความสามารถในการปรับคุณสมบัติบางอย่างให้ขึ้นหรือลงเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ศาสตราจารย์ สไมล์ลี กล่าวว่า นี่อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดำเนินชีวิต

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/premium/article/personality-types-introvert-extrovert-ambivert-omnivert


อ่านเพิ่มเติม ทําไมเราถึงชอบสิ่งที่เราชอบ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.