ดาวพฤหัสบดี คือดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ ที่มีมวลประมาณ 1 ใน 1,000 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ ราว 10 เท่า แต่ใหญ่กว่าโลกถึง 11 เท่า ถ้าจะให้เห็นภาพก็คือ หากดาวพฤหัสบดีมีขนาดเท่าลูกบาสเกตบอล โลกจะมีขนาดเท่าลูกปิงปอง
สำหรับชื่อละตินของดาวพฤหัสบดีได้แก่ จูปิเตอร์ มาจากเทพเจ้าโรมัน เทพแห่งท้องฟ้า ราชาแห่งเทพและมนุษย์ทั้งมวล ผู้ปกครองเขาโอลิมปัส
(ในกรีกเรียกว่า ซุส) สัญลักษณ์แทนดาวพฤหัสบดี เป็นรูปทรงสายฟ้าของเทพเจ้าจูปิเตอร์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ดาวยักษ์
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ดาวพฤหัสบดี ก็มีวงแหวนเหมือนกับ ดาวเสาร์ แต่มีความเลือนลางและขนาดเล็กกว่า สามารถเห็นได้ในรังสีอินฟราเรดทั้งจากกล้องโทรทรรศน์ที่พื้นโลกและจากยานกาลิเลโอ
วงแหวนของดาวพฤหัสค่อนข้างมืด โดยอาจประกอบด้วยเศษหินขนาดเล็ก และไม่พบน้ำแข็ง เหมือนที่พบในวงแหวนของดาวเสาร์ วัตถุที่อยู่ในวงแหวนของดาวพฤหัสอาจไม่อยู่ในวงแหวนนาน เนื่องจากแรงเหวี่ยงที่เกิดจากบรรยากาศและสนามแม่เหล็ก
อนึ่ง มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าวงแหวนได้วัตถุเพิ่มเติมจากฝุ่นที่เกิดจากอุกกาบาตตกชนดาวบริวารวงใน ซึ่งเนื่องจากพลังงานมหาศาลจากแรงดึงดูดขนาดใหญ่ของดาวพฤหัสบดี
ดาวพฤหัสบดี ดาวลำดับที่ 5 ในระบบสุริยะ และเป็นวัตถุที่สว่างที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในท้องฟ้า แต่บทบาทที่สำคัญจริงๆ ของ ดาวพฤหัสบดี น่าจะอยู่ที่การรับเอาดาวหางและอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่เข้ามาในระบบสุริยะแทน โลก รวมถึงดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ
เหตุการณ์ดาวหางชนดาวพฤหัสบดีครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์คือเมื่อ ปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9
ประกอบด้วยดาวหางจำนวน 21 ชิ้น เคลื่อนที่ไล่ตามกันเหมือนขบวนรถไฟ มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 กิโลเมตร ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่าแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีได้ฉีกดาวหางแตกออกเป็นชิ้นๆ โดยเป็นครั้งแรกๆ ที่มนุษย์สามารถสังเกตการณ์ได้จากโลก
ดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9พุ่งเข้าชนดาวพฤหัสบดีตรงด้านซีกใต้โดยเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม ถึง 22 กรกฎาคม ปี 1994 ด้วยอัตราเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อวินาที เกิดการระเบิดเทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 6 ล้านตัน หรือเทียบเท่าระเบิดปรมาณูที่ถล่มฮิโรชิมา 100 ล้านลูก แรงระเบิดมีรัศมีกระจายไปถึง 8,000 กิโลเมตร ทำให้เกิดฝุ่นดาวหางปกคลุมสูงขึ้นมาเหนือเมฆในชั้นบรรยากาศโจเวียนถึง 3,000 กว่ากิโลเมตร จนกระทั่งเกิดรอยคล้ำบนชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี เห็นได้ชัดเจนต่อเนื่องกันนานเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากนั้น
แน่นอนว่ามันจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่ผ่านมา ดาวพฤหัสบดี เผชิญกับการพุ่งชนของดาวหางและอุกกาบาตขนาดใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า เนื่องจากตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีตรงกับเข็มขัดดาวเคราะห์น้อยของระบบสุริยะทำให้ อำนาจแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีเกิดเป็น จุดลากรางจ์ ขึ้นมา ซึ่งเป็นจุดที่วัตถุใด ๆ ก็ตามที่อยู่ในบริเวณนี้จะโคจรไปพร้อมๆ กับดาวพฤหัสบดี
ดังนั้น เมื่อมีวัตถุจากนอกระบบสุริยะทะลุเข้ามาในบริเวณแถบดาวเคราะห์ อำนาจแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีจะทำหน้าที่เป็น เครื่องดูดฝุ่น ของระบบสุริยะเพื่อดักจับวัตถุแปลกปลอมอย่างดาวเคราะห์น้อยที่หลุดเข้ามาไม่ให้ผ่านเข้าไปในแถบดาวเคราะห์ชั้นในได้ ซึ่งวัตถุบางส่วนที่ไม่อยู่ในจุดลากรางจ์ หากอยู่ใกล้ ดาวพฤหัสบดี มากพอก็จะถูกดูดให้ไปชนกับมันในที่สุด สมกับตำแหน่งผู้พิทักษ์ของระบบสุริยะ
ดาวพฤหัสบดี กับ ดาวเสาร์ ผลัดกันแย่งตำแหน่ง ดาวที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุด โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2023 มีการพบดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีเพิ่มอีก 12 ดวง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 92 ดวง จึงสามารถล้มแชมป์เก่าอย่าง ดาวเสาร์ ที่มีดวงจันทร์บริวารอยู่ 83 ดวงได้สำเร็จ
ทว่า ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติได้รายงานการค้นพบดวงจันทร์ของดาวเสาร์เพิ่มอีก 62 ดวง ทำให้รวมแล้วดาวเสาร์มีดวงจันทร์มากถึง 145 ดวง กลับมาเป็นดาวที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดในระบบสุริยะเหมือนเดิม
กระนั้น ศักยภาพของดวงจันทร์บริวารดาวพฤหัสบดี ยังถือว่ามีขนาดใหญ่และมีประโยชน์กว่าดวงจันทร์ของดาวอื่นๆ ในระบบสุริยะ ดาวบริวารที่มีมวลมากที่สุด 4 ดวงหรือดวงจันทร์ของกาลิเลโอ (กลุ่มกาลิเลียน) ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1610 ถือเป็นวัตถุในระบบสุริยะกลุ่มแรกๆ ที่ถูกค้นพบว่าโคจรรอบดาวดวงอื่นที่ไม่ใช่โลกหรือดวงอาทิตย์ นับตั้งแต่สิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมีดาวบริวารขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกค้นพบและได้รับการตั้งชื่อตามชื่อคนรักหรือธิดาของเทพเจ้าจูปิเตอร์ของโรมัน ได้แก่ แกนีมีด ,ไอโอ , คาลลิสโต และ ยูโรปา
ดวงจันทร์แกนีมีด เจ้าของตำแหน่งดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ (ใหญ่กว่าดาวพุธ) และวัตถุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะหากไม่นับรวมดวงอาทิตย์กับดาวเคราะห์ชั้นเอกทั้ง 8 ดวง แต่มวลของแกนีมีดกลับน้อยกว่าดาวพุธ 45% เนื่องจากพื้นผิวของดวงจันทร์ดวงนี้มีน้ำแข็งและแอมโมเนียเป็นส่วนประกอบหลัก แตกต่างจากพื้นผิวของดาวพุธที่เป็นหินซิลิกาซึ่งมีความหนาแน่นสูง
ดวงจันทร์ไอโอ ดวงที่อยู่ในสุด เส้นผ่านศูนย์กลาง 3,642 กิโลเมตร พื้นผิวดาวบริวารมีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับมากกว่า 400 ลูก ซึ่งยังปะทุซัลเฟอร์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมา
ดวงจันทร์คาลลิสโต (คัลลิสโต) เป็นดาวบริวารวงนอกสุดของดาวพฤหัสบดีมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 99% ของเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวพุธ แต่มีมวลเพียงประมาณหนึ่งในสามของดาวพุธ พื้นผิวประกอบไปด้วยหิน และน้ำแข็ง
ดวงจันทร์ยูโรปา คือดาวบริวารที่เล็กที่สุดในกลุ่มกาลิเลโอ ยังมีมวลมากกว่ามวลของดาวบริวารนอกกลุ่มทั้งหมดรวมกันถึง 5,000 เท่า วงโคจรก็มีทั้งเกือบเป็นวงกลมสมบูรณ์ เอียง และเป็นวงรี หลายดวงยังโคจรไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการหมุนของดาวพฤหัสบดีอีกด้วย
นอกจาก ดาวพฤหัสบดี จะรับเอาวัตถุอวกาศแทนดาวอื่นๆ ในระบบสุริยะแล้ว แกนีมีด ,ไอโอ , คาลลิสโต , ยูโรปา และดวงจันทร์บริวารอื่นๆ ในวงนอกก็ถูกดาวหางกับอุกกาบาตพุ่งชนเช่นกัน
แม้ว่าส่วนใหญ่เรามักได้ยินว่า ดาวอังคาร คือดาวที่ใกล้เคียงกับการที่มนุษย์จะสามารถย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ได้ในอนาคต เพราะมีโซนที่มีนํ้าแข็งอยู่ แต่นาซาก็ออกมายืนยันว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ไม่อาจไปใช้ชีวิตอยู่บนดาวอังควรได้ เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หนาแน่น , สภาพอากาศที่หนาวจัด และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แทรกซึมอยู่ในดิน
อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์พบว่า มีมหาสมุทรในจุดที่ลึกภายใต้โลกน้ำแข็งบนดวงจันทร์ 3 ดวงของดาวพฤหัสบดี คือ คาลลิสโต ยูโรปา และแกนีมีด ซึ่งเมื่อเทียบองค์ประกอบต่างๆ ยูโรปา คือดาวที่นักวิทยาศาสตร์ในโลกสนใจที่สุด เนื่องจากเชื่อว่ามีมหาสมุทรขนาดใหญ่ใต้เปลือกน้ำแข็งบนผิวที่อาจมีมวลน้ำมากกว่ามหาสมุทรบนโลก
ขณะเดียวกัน ยูโรปาอาจ ยังมีธาตุองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิต เช่นเดียวกับพลังงานจากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงอันทรงพลังของดาวพฤหัสบดี ซึ่งทั้งสามอย่างเป็นปัจจัยสำคัญให้ชีวิตบนโลกดำรงอยู่ได้ จึงกลายเป็นหนึ่งความหวังของมนุษย์ที่สักวันหนึ่งอาจไปตั้งรกรากบนนั้นได้
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพจาก ILLUSTRATION BY A.FAZEKAS, SKYSAFARI
ข้อมูลอ้างอิง