ดอกบัวผุด ดอกไม้ยักษ์กลางป่า และนิเวศวิทยาอันลึกลับของมัน

รู้จัก ดอกบัวผุด ดอกไม้ยักษ์แห่งป่าร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร และนิเวศวิทยาอันลึกลับ

หลังจากสาวเท้าไต่เขามากว่าสองชั่วโมง เหงื่อก็หลั่งพรั่งพรูท่วมหลังเพราะอากาศร้อนอบของป่าดิบชื้นทางใต้ ขณะที่กำลังเริ่มถอดใจนั้นเอง ในเงาครึ้มของแสงสลัวใต้เรือนยอดไม้ จู่ ๆ ก็มีวัตถุสีแดงสดตัดกับสีเขียวของป่าปรากฎขึ้นให้เห็นได้แต่ไกล

ขนาดของวัตถุนั้นใหญ่ประมาณกระบุง เป็นรูปทรงกลมเตี้ยลอยนูนจากพื้นขึ้นมาอย่างผิดสามัญ มันวางตัวสงบนิ่งโดดเด่นอยู่บนพื้นป่าที่ปกคลุมไปด้วยเถาวัลย์และใบไม้ทับถม

เสียงพี่สังข์ คนนำทางของเราตะโกนแว่วมา “ถึงแล้ว ๆ กำลังบานพอดีเลย โชคดีจริง” เราขยับร่างอ่อนเปลี้ยเข้าไปประชิด ดอกไม้ขนาดใหญ่ปานกาละมังสีแดงคล้ำปรากฎอยู่แค่เอื้อม ในที่สุดก็ได้เจอกันเสียที เรานึกในใจ พลางคุกเข่าลงพิจารณาใกล้ ๆ แมลงวันหัวเขียวตัวใหญ่สองสามตัวบินหึ่งออกมาจากดอก พร้อมกลิ่นสาบเน่าฟุ้งขึ้นมาเต็มสูด

แนะนำตัวได้น่ารักเสียจริงนะ เจ้าบัวผุด!

ดอกบัวผุด ดอกไม้ลึกลับ

บัวผุด เป็นหนึ่งในพืชในสกุล Rafflesia ซึ่งในโลกนี้มีอยู่ถึง 36 ชนิดด้วยกัน และทั้งหมดพบได้เฉพาะในป่าเขตร้อนชื้นแถบศูนย์สูตรอย่างตอนใต้ของบ้านเรา ลงไปถึง เกาะชวา เกาะสุมาตรา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเกาะบอร์เนียว จนถึงวันนี้ประเทศที่มีจำนวนชนิดของพืชกลุ่มบัวผุดครองแชมป์มากชนิดที่สุด คือประเทศอินโดนีเซียที่พบถึง 14 ชนิด ตามมาติด ๆ ด้วยฟิลิปปินส์ 13 ชนิด และมาเลเซีย 12 ชนิด ส่วนบัวผุดที่เจอวันนี้นั้นเป็นชนิดเดียวที่พบในบ้านเรา

ความน่าทึ่งและดึงดูดชวนหลงไหลของมัน ทำให้มันเป็นที่คุ้นตาคนทั่วไปและไปปรากฎอยู่ในหลาย ๆ ที่ โดย Rafflesia arnoldii ได้รับเกียรติเป็นหนึ่งในสามดอกไม้ประจำชาติของอินโดนีเซีย ส่วนเจ้าบัวผุด R. kerrii ของเราก็ได้กลายเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในมาเลเซียดอกของบัวผุดปรากฎตัวหราอยู่บน ธนบัตร แสตมป์ ไม่เว้นแม้แต่บนถุงบรรจุอาหาร

นับเป็นดอกไม้แห่งความภาคภูมิใจของภูมิภาคนี้ก็ว่าได้

ดอกห้ากลีบที่มีกำบังดอกสีแดงขนาดใหญ่เท่าลูกฟุตบอล ด้านในมีจานดอกเต็มไปหนามขนาดใหญ่เหมือนกระดานหมากรุก มีแมลงวันหัวเขียวเป็นนายแบบเกาะอยู่ใกล้ๆ

ดอกบัวผุดที่พบในประเทศไทยได้รับการตั้งชื่อเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2527 นี้เอง โดย วิลเลิม เมเยอร์ (Willem Meijer) นักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์จากมหาวิทยาลัยเคนทักกี ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ หมอเคอร์ (Arthur Francis George Kerr) นายแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวไอริช ผู้สำรวจพบพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472

โดยเฉลี่ยบัวผุดชนิดที่พบในบ้านเราจะมีขนาดประมาณ 50 – 80 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมากถึง 6 – 8 กิโลกรัม พบกระจายตัวในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย สถิติดอกที่ใหญ่ที่สุดเป็นบัวผุดที่พบในรัฐกลันตัน มาเลเซีย วัดความกว้างได้ถึง 112 เซ็นติเมตร

ส่วนญาติใกล้ชิดสายพันธุ์ที่อยู่บนเกาะบอร์เนียวคือ R. arnoldii ได้รับการยอมรับว่าเป็นดอกไม้ดอกเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือมีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 90 เซ็นติเมตรใหญ่กว่าของบ้านเรานิดหน่อย และดอกที่ใหญ่ที่สุดที่มีบันทึกไว้ก็คือดอกที่สุมาตราในปี 2019 วัดความกว้างดอกได้ถึง 120 เซ็นติเมตรเลยทีเดียว

ส่วนชื่อของดอกบัวผุดอาจจะได้มาจากพฤติกรรมการปรากฏตัวที่แปลกประหลาดของมัน ที่จู่ ๆ ดอกไม้ขนาดมโหฬารก็โผล่ขึ้นกลางผืนป่า เหมือนผุดขึ้นมาจากดินโดยไม่มีทีท่าใด ไม่มีทั้งต้น ไม่มีทั้งใบ มีแต่ดอกขนาดใหญ่โดดบานให้เห็น แต่ถ้าเรามองให้ใกล้อย่างละเอียด ก็จะเห็นว่ารายรอบดอกที่กำลังบานอยู่นั้นยังมีหน่อของดอกอื่นกำลังเตรียมตัวที่จะบานเป็นลำดับต่อไป บ้างเล็กเท่าลูกปิงปอง บ้างใหญ่เท่าหัวเด็ก ต่างก็เกาะติดอยู่กับเถาของต้นองุ่นป่า (genus Tetrastigma) ที่วางเรียงรายตามพื้น

เป็นเรื่องน่าฉงนที่อยู่ ๆ ดอกไม้นี้ปรากฎบนพื้นป่าได้อย่างไรกัน?

ดอกบัวที่ผุดขึ้นมาจากดิน

ถ้าย้อนเวลาได้เราจะได้เห็นว่ามันเริ่มมาจาก วันดีคืนดีรากขององุ่นป่าก็มีปุ่มปมเล็กขนาดเท่าเหรียญปรากฎขึ้นมา และตุ่มนั้นค่อย ๆ โตขึ้นเหมือนเนื้อร้าย จนมีขนาดสุดท้ายเท่าหัวกะหล่ำผุดขึ้นเป็นก้อนโตเหนือพื้นดิน รวมตั้งแต่ดอกจิ๋วจนถึงเท่ากะหล่ำต้องใช้เวลาถึง 9 เดือนในการเจริญเติบโต

หลังจากฟักตัวอยู่ 9 เดือน กลีบดอกทั้งห้าก็คลี่ออก เปิดให้เห็นกำบังดอกสีแดงขนาดลูกฟุตบอล ภายในมีจานดอกเต็มไปด้วยหนามขนาดใหญ่ พร้อมกันกลิ่นเน่าก็ขจรกระจายไปดึงดูดแมลงวันมากมายให้หลงมาผสมเกสร จึงกลายเป็นที่มาของชื่อฝรั่งคือดอกไม้ศพ (corpse lily)

และในเวลาแค่ไม่เกินสัปดาห์หลังจากดอยไม้เผยอกลีบ บัวผุดก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำและเน่าผุพังกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินดำใต้ป่าดิบครึ้ม รอวันให้เถาองุ่นป่าดูดซึมไปและนำไปหล่อเลี้ยงดอกอื่นต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

ทิ้งไว้เพียงปริศนาที่นักวิทย์พยายามหาคำตอบมาเนิ่นนาน ดอกบัวผุดกระจายเมล็ดได้อย่างไรกันหนอ?

จานดอกขนาดใหญ่เต็มไปด้วยหนามเพื่อดึงดูดแมลงวัน

ปริศนาการกระจายเมล็ดของดอกบัวผุด

การกระจายเมล็ดของเจ้าดอกบัวผุดและญาติของมันยังเป็นความลี้ลับอยู่จนถึงทุกวันนี้ เมื่อดอกย่อยสลายไปจนเหลือผลตรงกลางปรากฎขึ้นมา ภายในถูกบรรจุไว้ด้วยเมล็ดเล็กจิ๋วขนาดเล็กกว่าเมล็ดงามากมายหลายพันเมล็ด เมล็ดพวกนี้มันเดินทางไปหาเถาองุ่นป่าได้อย่างไรกันหนอ?

นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าเมล็ดจิ๋วนี้ ถูกพาโดยสัตว์กีบอย่างเก้งกวาง หรือหมูป่า ที่บังเอิญเดินผ่านมาเหยียบแล้วพาเมล็ดติดกีบไปฝังยังเถาขององุ่นป่าต้นอื่นต่อไป

บ้างก็ว่าเมล็ดโดนพาไปด้วยสัตว์ฟันแทะอย่างกระรอกหรือหนู เพราะมีรายงานกระรอกและกระแตแทะกินผลซึ่งอาจจะบังเอิญเอาเมล็ดไปปลูกได้ บางคนบอกว่าเมล็ดเกาะติดไปกับอุ้งเท้าสัตว์ตีนนุ่มของสัตว์ใหญ่อย่างช้างก็มี

มีแม้กระทั่งสมมุติฐานว่าสัตว์ขาข้อในดินอย่างตะขาบหรือกิ้งกือเป็นผู้พาเมล็ดไป หรือนักวิทย์บางคนก็เชื่อว่ามันถูกพาไปเก็บไว้ในรังใกล้รากองุ่นป่าโดยมด ผ่านการซื้อใจด้วยน้ำมันเล็กน้อยที่มีอยู่ในเมล็ด เหมือนกับเมล็ดของต้นไวโอเล็ตที่มีน้ำมัน ก็อาศัยมดเป็นผู้พาเมล็ดไปเช่นเดียวกัน

ดอกตูมเท่าหัวกะหล่ำ กำลังเตรียมจะบานเป็นลำดับถัดๆไป

สมมุติฐานว่าดอกไม้ขนาดใหญ่โตนี้แพร่กระจายพันธุ์ด้วยสัตว์ตัวเล็กอย่างมด ดูจะมีน้ำหนักขึ้นเมื่อ Pieter B. Pelser (2013) และคณะพบผลของเจ้าพืชกลุ่มบัวผุดที่แตกออกกำลังโดนมดเอวแบนและมดง่าม (Technomyrmex sp. และ Pheidologeton sp.) ช่วยกันฮุยเลฮุยขนเมล็ดมากมายเหล่านั้นกลับไปไว้ที่รัง เขาจึงสันนิษฐานว่า พืชในกลุ่มบัวผุดคงอาศัยมดในการกระจายพันธุ์ และกระบวนการแทรกซึมเข้าไปในรากขององุ่นป่าน่าจะต้องอาศัยราไมคอร์ไรซา เช่นเดียวกับพืชที่มีเมล็ดขนาดเล็กอื่น ๆ อย่างพวกกล้วยไม้หรือพืชอาศัยรา มีการประเมินไว้ว่าวงจรชีวิตตั้งแต่เมล็ดน้อยวนไปจนครบรอบอาจยาวนานถึง 3-4.5 ปีเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามดคือผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ดอกไม้นี้จริง ๆ ดังนั้น จนบัดนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าเจ้าดอกไม้นี้ย้ายเมล็ดเล็กจิ๋วของตัวเองไปฝังอยู่กับพืชอาศัยได้อย่างไรกัน

แฝงตัวไปถึงหน่วยพันธุกรรม

เมื่อเมล็ดหยั่งรากสัมผัสกับเถาขององุ่นป่า เมล็ดเล็กก็จะค่อย ๆ โอบรัดสร้างรากอยู่ล้อมรอบท่อลำเลียงของเถาเจ้าบ้าน ก่อนจะดูดอาหารและน้ำปริมาณมหาศาลมาเพื่อใช้ในการสร้างดอกของมัน มีข้อสังเกตว่าเหตุที่เจ้าบัวผุด เลือกจับจองเฉพาะเถาของพรรณไม้นี้ เพราะเถานี้อุดมไปด้วยน้ำปริมาณมากที่ใช้ขนส่งไปเลี้ยงทรงพุ่มที่อยู่ปลายยอดสูงลิบฟ้าของมัน การที่บัวผุดยึดท่อลำเลียงกลางทางเสีย ก็เป็นที่รับประกันได้ว่าดอกของมันจะสามารถดูดอาหารและน้ำได้มากมายจนพอเพียงไปเลี้ยงกลีบอวบน้ำขนาดมหึมาได้

หน่อเล็กขนาดลูกปิงปองบนเถาขององุ่นป่า ที่เตรียมจะเติบโตกลายเป็นดอกตูมขนาดมโหฬาร

ความลึกลับของเจ้าบัวผุด ไม่ได้หยุดยั้งแค่เรื่องนิเวศวิทยาของมันเท่านั้น แต่ยังข้ามไปถึงวงวานตระกูลของมันที่นักพฤกษศาสตร์ต่างก็ฉงนกับการจัดมันไว้ในสาแหรกวิวัฒนาการของต้นไม้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาพันธุกรรมของเจ้าบัวผุดเพื่อจะบรรจุลงในสาแหรกวิวัฒนาการเขาก็ตะลึงเมื่อพบว่าพืชในกลุ่มบัวผุดทุกชนิดที่พบในภูมิภาคนี้ ต่างก็มีต้นตระกูลร่วมกัน (monophyletic) และต้นสายตระกูลของดอกไม้มหึมานั้นกลับกลายเป็นพืชในวงศ์ยางพารา (spurge family) ผสมกับยีนของเจ้าบ้าน!!!!  โดยพบยีนของเจ้าบ้านปะปนอยู่ 2-3% ในนิวเคลียสของเซลล์ และมีมากถึงเกือบ 50% ใน mtDNA ทีเดียว นั่นแสดงว่า ในระหว่างวิวัฒนาการเจ้าบัวผุดของเรานั้น มีการแลกเปลี่ยนยีนของมันกับพืชที่เป็นเจ้าบ้านเกิดขึ้น

คือไม่ได้แค่อาศัยเขา แต่ถึงกับกลืนเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง

เป็นความสัมพันธ์อันน่าซับซ้อนชวนสับสน เมื่อพืชที่ดูเผิน ๆ เหมือนแค่กาฝากอาศัยเขากิน กลับมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งถึงขนาดรับเอาหน่วยพันธุกรรมของเจ้าบ้านมาเป็นส่วนหนึ่งของตัว ข้อมูลนี้ทำให้เราต้องมองพวกมันเปลี่ยนไปว่าบัวผุดไม่ใช่ไม้โบราณทึนทึก แต่ฉลาดเป็นกรดจนถึงกับสร้างการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกับพืชเจ้าบ้านขึ้นมา แถมพันธุกรรมที่ผสมกันเหล่านี้ทำให้เส้นแบ่งชนิดระหว่างปรสิตและเจ้าบ้านพร่าเลือนลง

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า กระบวนการรับเอาพันธุกรรมของเจ้าบ้านเข้ามานี้ อาจจะเกิดขึ้นเพื่อการพรางตัวให้เจ้าบ้านยอมรับการฝังรากแทรกซึมเข้าไปในตัวของได้ง่ายขึ้นก็เป็นได้!

วิวัฒน์มาจากดอกไม้เล็ก ๆ

และเมื่อนักวิทย์ค้นคุ้ยจนเจอต้นตระกูลของบัวผุดว่าเป็นพืชในวงศ์ยางพารา ก็เกิดคำถามตามมาว่า จากพืชที่เคยมีดอกเล็กจิ๋วไม่กี่มิลลิเมตรทำไมถึงได้พัฒนาตัวเองมาจนกลายเป็นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปได้

คำตอบอาจจะอยู่ที่กลวิธีการผสมเกสรด้วยแมลงวันของมันนี่เอง

ดอกเก่าที่โรยราจะสูญสลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของผืนดินอย่างรวดเร็ว ดอกนี้ยังพอมองเห็นรูปร่างเดิมอยู่บ้าง

จานดอกที่มีหนามขนาดใหญ่เหมือนกระดานหมากรุก และกำบังดอกสีแดงขนาดใหญ่นั้น ถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจเพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสูดในการดึงดูดแมลงวันเป้าหมาย ดอกสีแดงคล้ำเหมือนเนื้อที่กำลังเน่าเฟะ จานดอกเต็มไปด้วยหนามแหลมก็เป็นรูปร่างที่แมลงวันชอบ กำบังดอกขนาดเท่าลูกฟุตบอลยังทำหน้าที่ปรับอุณหภูมิให้อบอุ่นทำให้แมลงคึกคัก แถมยังช่วยกักกลิ่นเนื้อเน่าเอาไว้ยั่วยวนให้แมลงมาวนเวียน จวบจนแมลงหลงบินเข้าไปในส่วนที่มืดที่สุดอันเป็นตำแหน่งที่เกสรอยู่

เกสรของดอกบัวผุดก็วิวัฒนาการมาให้อยู่ในรูปสารเหนียว จะเกาะติดกับหลังของตัวแมลงที่หลงกลและแห้งกรังติดไป เกสรนี้สามารถติดทนอยู่กับแมลงได้นานหลายวันหรืออาจจะเป็นสัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่าเกสรจะติดอยู่จนกว่าแมลงจะบินไปเจอดอกไม้ที่แสนหายากนี้ดอกอื่นต่อไป การมีเกสรที่กลายเป็นสารเหนียวนี้เป็นคุณลักษณะพิเศษของเจ้าบัวผุด มีไว้เพื่อช่วยแก้ปัญหาจำนวนดอกที่บานน้อยและหายาก ถ้าหากมันมีเกสรเป็นธุลีเหมือนดอกไม้อื่น คงหลุดหายไปจากแมลงก่อนจะทันได้ผสมแน่นอน

เมื่อขนาดของดอกมีผลต่อการดึงดูดแมลงผู้ผสมเกสร ดอกบัวผุดของเราจึงค่อยๆปรับให้ตัวเองมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีการประมาณไว้ว่าดอกของพืชกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นในอัตรา 20 เซ็นติเมตรในทุกหนึ่งล้านปี (Davis et al. 2007)

ผ่านมาไม่กี่ล้านปี จากพรรณไม้ดอกเล็กจิ๋วก็กลายเป็นดอกไม้ขนาดมหึมาร่วมเมตรเหมือนที่เราเห็นในปัจจุบัน

คุณค่าของดอกไม้

เช่นเดียวกับชีวิตปรสิตอื่นที่พวกมันวิวัฒนาการตัวมาจนถึงปลายสุดสายสัมพันธ์แล้ว ดอกบัวผุดจึงกลายเป็นพรรณไม้หายากเนื่องจากความซับซ้อนในการผสมและกระจายพันธุ์ ความจำเพาะกับพืชอาศัย รวมถึงอีกหลายปัจจัยโดยมนุษย์

ไม่ว่าจะการลักลอบเก็บมาทำยาโดยมีความเชื่อว่าเป็นยาบำรุงหรือลดไข้ ในเกาะบอร์เนียวพวกมันถูกเก็บไปเป็นยาสมุนไพรให้หญิงกินหลังคลอดบุตร รวมไปถึงการรบกวนแบบใหม่อย่างการเหยียบย่ำดอกตูมโดยไม่ตั้งใจของนักท่องเที่ยวที่อยากชื่นชมอย่างใกล้ชิด

ทำให้นับวันการจะหาดูพวกมันในธรรมชาติก็เป็นเรื่องยากมากขึ้นเรื่อย ๆ พี่สังข์คนนำทางของเราก็บอกว่า พวกมันเคยมีอยู่หลายจุดแต่ก่อนชาวบ้านก็เข้ามาแอบเก็บไปขายบ้าง แต่หลัง ๆ นี้พอคนเข้ามาดูบ่อยเข้าดอกก็น้อยลงแล้ว บางแหล่งก็หายไปจากที่เคยบานเลยก็มี

น่าเสียดายเสียจริง

เวลามีคนถามว่า คุณค่าหรือประโยชน์ของสรรพสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติคืออะไร ส่วนใหญ่แล้วพวกมนุษย์สายธรรมชาติอย่างพวกเรา จะต้องเดือดร้อนพยายามคิดค้นหาเหตุผลในการดำรงอยู่สิ่งนั้นขึ้นมา เพื่อให้คุยภาษาเดียวกับคนเหล่านี้ให้ได้ ไม่ว่าจะมีไว้รักษาสมดุลธรรมชาติ ทำหน้าที่ให้บริการทางนิเวศ หรือแม้กระทั่งให้ความสุขยามได้ยล แต่ส่วนตัวเราคิดว่าคำถามเหล่านั้นเป็นคำถามที่ไม่มีความหมาย

เพราะการที่ชีวิตใดชีวิตหนึ่งผ่านร้อนหนาวมานับล้านปี วิวัฒน์ตัวเองจนมีความโดดเด่นเป็นเอกหาใครเหมือนไม่ได้ หรือไม่ก็สร้างสายสัมพันธ์เกาะเกี่ยวกับชีวิตอื่นนับร้อยนับพัน มันมีคุณค่าเต็มเปี่ยมในตัวมันเองอยู่แล้วโดยไม่ต้องหาเหตุผลใดมาเสริม เหมือนเจ้าดอกบัวผุดและผองเพื่อนนี้ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและร่องรอยวิวัฒนาการอยู่เต็มไปหมด

การจะถามหาประโยชน์จากสิ่งที่งดงามเป็นเรื่องไร้สาระ เหมือนถามหาประโยชน์จากภาพเขียนจิตกรรมชิ้นเอกของโลกซักชิ้น

ไม่มีใครเขาทำกัน

เรื่องและภาพ วรพจน์ บุญความดี

อ้างอิง

a-review-of-the-biology-of-rafflesia-wha

parasitic plants

Harvard magazine

Semantic Scholar


อ่านเพิ่มเติม กุหนุงปาลุง หัวใจสีเขียวแห่งป่าฝนล้านปีของ เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.