กุหนุงปาลุง หัวใจสีเขียวแห่งป่าฝนล้านปีของ เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย

กุหนุงปาลุง หัวใจสีเขียวแห่งป่าฝนล้านปีของ เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย

กุหนุงปาลุง เริ่มจากการเป็นเขตสงวนอันห่างไกลของอินโดนีเซีย จนปัจจุบันขยายตัวเป็นอุทยานแห่งชาติอันไพศาล ปกป้องป่าฝนสำคัญที่สุดบางส่วนของโลก และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยที่นั่นเป็นแหล่งพักพิง

กุหนุงปาลุง – ขณะห้อยต่องแต่งอยู่บนเชือกสูงขึ้นไปราว 12 เมตร ท่ามกลางเขาวงกตของกิ่งก้านเขียวครึ้มของหมู่ไม้ ฉันมองลงมาและถามตัวเองว่า สติดีหรือเปล่าที่ขอให้ชายสองคนที่อยู่ไกลออกไปด้านล่างดึงฉันขึ้นมาบนเรือนยอด ของป่าฝนแห่งนี้ หนึ่งในนั้นคือช่างภาพ ทิม เลเมน ก่อนหน้านี้ เขาเอาเชือกผูกลูกศรแล้วยิงมันขึ้นไปเหนือง่ามไม้ สูงช่วงหนึ่ง จากนั้นก็ร่วมมือกับผู้ช่วย ใช้ระบบรอกยกฉันขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่มนุษย์น้อยคนเคยมาเยือน

เป้าหมายของการผจญภัยครั้งนี้คือการปีนขึ้นไปบนคาคบของต้นไม้สูง 45 เมตรในสกุล โชเรีย ซึ่งมีต้นไม้สูงที่สุดในโลกบางชนิดรวมอยู่ด้วย และเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นป่าฝนในที่ต่ำสภาพสมบูรณ์แห่งท้ายๆที่เหลืออยู่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุทยานแห่งชาติกุหนุงปาลุงซึ่งอยู่ต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตรเพียงเล็กน้อย เป็นเขตอนุรักษ์พื้นที่ 1,080 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมภูเขาปาลุงและปันตีบนเกาะบอร์เนียวส่วนของอินโดนีเซีย (เกาะนี้มีสามประเทศเป็นเจ้าของ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน) พื้นที่รอบภูเขาปาลุงคือจุดแรกที่ประกาศให้เป็นเขตสงวนธรรมชาติเมื่อปี 1937 และขยายเขตแดนออกไปเรื่อยๆตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งในปี 1990 รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศให้ที่นี่เป็นอุทยานแห่งชาติ

กุหนุงปาลุง, อินโดนีเซีย, ป่าฝน, เกาะบอร์เนียว
หมอกยามเช้าลอยเรี่ยเรือนยอดป่าฝนในที่ลุ่มบริเวณเชิงเขาปาลุง อุทยานแห่งชาตินี้มีระบบนิเวศป่าที่ต่างกัน เก้าระบบเรียงต่อกันขึ้นไปตามลาดเขาสูงชัน เริ่มจากป่าชายเลนและป่าพรุไปถึงป่ายอดเขาที่เต็มไปด้วยมอสส์ (ภาพถ่าย: ทิม เลเมน, กับผู้บังคับโดรน ตรี วาห์ยุ ซูซันโต)
กุหนุงปาลุง, อินโดนีเซีย, ป่าฝน, เกาะบอร์เนียว, อึ่ง, อึ่งกรายหัวแหลม, พรางตัว
อึ่งกรายหัวแหลมเกือบกลืนหายไปกับเศษใบไม้ การพรางตัวเอื้อให้มันมีข้อได้เปรียบเหนือแมลงที่เป็นเหยื่อ เสียงร้องโดดเด่นของมันคือหนึ่งในสรรพเสียงนับไม่ถ้วนของป่าฝน ขณะที่สัตว์ชนิดนี้พบบนเกาะอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงด้วย สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่าร้อยละ 70 ในกุหนุงปาลุงพบเฉพาะบนเกาะบอร์เนียวเท่านั้น

ปัจจุบัน อุทยานมีระบบนิเวศป่าไม้ที่ต่างกันเก้าระบบเรียงซ้อนกันขึ้นไปบนเทือกเขาสูงชันหลายซับหลายซ้อน จากป่าชายเลนและป่าพรุไปถึงป่ายอดเขาที่ปกคลุมไปด้วยมอสส์

เมื่อทั้งคู่ดึงฉันขึ้นไปสูงเท่าที่จะดึงไหวแล้ว การปีนส่วนที่เหลือตกเป็นหน้าที่ของฉัน มันเชื่องช้าอย่างน่าเจ็บปวด ไม่มีอะไรเหมือนการปีนขึ้นเรือนยอดแบบสบายๆของไพรเมตชนิดอื่นที่ฉันเคยเห็น

ฉันได้แต่ปลอบใจตัวเองว่าที่ลงทุนลงแรงทำไปทั้งหมดนี้จะคุ้มค่า เพราะหมายถึงโอกาสที่จะพบเห็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในโลกสีเขียวเหนือศีรษะ ตลอดทั้งสัปดาห์ ฉันมีความสุขกับการฟังเสียงร้องของลิง ค่าง และชะนี เคล้าเสียงประสานของหมู่นกและกบเขียด โดยมีเสียงฮัมและเสียงหวีดแหลมของแมลงคลออยู่เบื้องหลัง เนื่องจากเรือนยอดคือที่พำนักของนักดนตรีเหล่านี้ ฉันจึงหวังจะได้เจอสัตว์อะไรสักตัวจากระดับสายตาของพวกมัน

กุหนุงปาลุง, อินโดนีเซีย, ป่าฝน, เกาะบอร์เนียว, ด้วงไทรโลไบต์, ด้วง
ด้วงไทรโลไบต์สามารถ “อายุเยาว์ไปตลอดกาล” ด้วยการคงสภาพตัวอ่อนตลอดระยะตัวเต็มวัย
กุหนุงปาลุง, อินโดนีเซีย, ป่าฝน, เกาะบอร์เนียว, ตัวปาด
นอกจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมราว 70 ชนิดในกุหนุงปาลุง สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายพันชนิดแออัดกันอยู่ในป่าฝนใน ที่ต่ำเช่นปาดเขียวตีนดำที่มีอุ้งเท้าพังผืดใหญ่เป็นพิเศษช่วยในการร่อนตัวระหว่างเรือนยอด

พูดกันจริงๆ สิ่งที่ฉันตื่นเต้นอยากเจอที่สุด คือดาราใหญ่ประจำเกาะอย่างอุรังอุตัง ไพรเมตขนสีแดงเพลิงนี้เป็นเอปใหญ่ชนิดเดียวที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย และอุรังอุตังเกาะบอร์เนียว (Pongo pygmaeus) ก็เป็นตัวแทนจิตวิญญาณของกุหนุงปาลุงมาช้านาน และมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาวะของป่าด้วย อุรังอุตังราว 2,500 ตัวท่องไปตามเรือนยอดเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นจำนวนไม่น้อยเมื่อคำนึงถึงสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของพวกมัน ดังนั้นเมื่อเลเมนบอกว่า เขาสามารถพาฉันขึ้นไปสู่อาณาจักรของพวกมันได้ ฉันจึงไม่ลังเลเลยที่จะตอบตกลง

ที่ความสูงราว 30 เมตร ฉันยังอยู่ต่ำกว่าเรือนยอดบนสุดมาก แต่สูงพอจะเห็นสันโค้งของภูเขาห่มหมอกตระหง่านเหนืออุทยานที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้หนาแน่นรกชัฏ ฉันเหวี่ยงตัวขึ้นไปบนง่ามของกิ่งไม้ใหญ่สองกิ่งแล้วนั่งลงชื่นชมทัศนียภาพ และเผื่อจะโชคดีเห็นอะไรบางอย่างที่มีขนปุยหรือขนนก เวลาผ่านไป ฉันจ้องและฟังอย่างคาดหวัง กิ่งไม้ส่ายน้อยๆ และเสียงเสียดสีของใบไม้ก็คล้ายจะหัวเราะเยาะฉัน เพราะนอกจากนี้แล้ว ทุกอย่างเงียบสงบ เวลาผ่านไปอีก ไม่มีนกสวยๆบินมาหากิน ไม่มีไพรเมตช่างจ้อเหวี่ยงตัวผ่าน ฉันไม่แปลกใจหรอก ทั้งช่วงเวลาของวันและต้นไม้ ที่ไร้ผลนี้ล้วนไม่เหมาะกับการส่องสัตว์ ถึงอย่างนั้น ฉันออกจะผิดหวังนิดหน่อยที่ไม่มีใครอยู่ “บ้าน” เลย

ทางช้างเผือก, กุหนุงปาลุง, อินโดนีเซีย, ป่าฝน, เกาะบอร์เนียว
ทางช้างเผือกปรากฏให้เห็นผ่านช่องว่างระหว่างเรือนยอด ป่าฝนบนเกาะบอร์เนียวมีอายุหลายล้านปีและเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่นี่คือบ้านของสิ่งมีชีวิตหลายพันชนิดที่พบเฉพาะที่นั่น หวังว่ามนุษย์จะยอมให้พวกมันเติบโตต่อไปในอนาคต
กุหนุงปาลุง, อินโดนีเซีย, ป่าฝน, เกาะบอร์เนียว, ตั๊กแตนตำข้าว, ตั้๊กแตน
ตั๊กแตนตำข้าวพรางตัวเป็นใบไม้แห้งเพื่อล่าเหยื่ออย่างผีเสื้อ ผึ้ง และเพลี้ยอ่อน

กุหนุงปาลุงอยู่ในเขตหนองบึงทางตะวันตกเฉียงใต้ของบอร์เนียว ในจังหวัดกาลีมันตันตะวันตกของอินโดนีเซีย สำหรับนักวิทยาศาสตร์ ความห่างไกลและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่จำกัดของอุทยานถือเป็นข้อดี เพราะทำให้ กุหนุงปาลุงเป็นเหมือนแคปซูลเวลาที่เผยให้เห็นสภาพเกาะอย่างที่เคยเป็นตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา ฉันหวังว่า การสำรวจโลกดงดิบเก่าแก่นี้ด้วยตัวเองจะทำให้เห็นความอัศจรรย์ของมันด้วยดวงตาสดใหม่ และค้นพบมากขึ้นว่า ชีวิตที่นี่ยังคงเจริญงอกงามต่อไปอย่างไร

ป่าฝนของบอร์เนียววิวัฒน์มาตลอดหลายล้านปี เป็นกระบวนการที่ให้ผลเป็นความอุดมสมบูรณ์ของ พืชพรรณพิเศษเฉพาะ ดูจากกล้วยไม้กว่าหนึ่งพันชนิด หรือพืชกินสัตว์หลายสิบชนิด หรือไม้ยืนต้นกว่า 3,000 ชนิด ดูก็ได้

ที่ไหนสักแห่งในป่ามีเสือลายเมฆ ช้างแคระเกาะบอร์เนียว ค้างคาวแม่ไก่ ปาดบิน บ่าง งูบิน นกเกือบ 700 ชนิด ค้างคาวร่วมหนึ่งร้อยชนิด และมดกว่าหนึ่งพันชนิด ไหนจะแมลงอีกนับไม่ถ้วน สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แมงมุม เห็ดรา และจุลชีพ นี่คือผืนป่ามีชีวิตไม่เหมือนที่อื่นใดในโลก

หนอนบุ้ง, กุหนุงปาลุง, อินโดนีเซีย, ป่าฝน, เกาะบอร์เนียว
หนอนบุ้งของผีเสื้อหนอนร่านเตือนสัตว์นักล่าให้อยู่ห่างๆ ด้วยขนเล็กๆ ที่ทำให้เจ็บปวด
ค่างแดง, ค่าง, กุหนุงปาลุง, อินโดนีเซีย, ป่าฝน, เกาะบอร์เนียว
ค่างแดงซึ่งรวมถึงแม่ลูกอ่อนคู่นี้ กินผลมะเดื่อตลอดปีและกินผลไม้อื่นๆที่สุกตามฤดูกาล ไพรเมตที่เรารู้จักจากเสียงร้องแหลมเหล่านี้ ปรับตัวได้ดีกับป่ารุ่นที่ขึ้นทดแทนหลังต้นไม้โบราณถูกตัดโค่นไป

หนึ่งในนักพฤกษศาสตร์คนแรกๆที่ปลุกจินตนาการของโลกตะวันตกเกี่ยวกับสิ่งอัศจรรย์เหล่านี้คือ โอโดอาร์โด เบกการี ชาวอิตาลี ผู้มาเยือนเกาะบอร์เนียวเมื่อปี 1865 เขาอายุ 21 ปีและเพิ่งเรียนจบหมาดๆตอนมาถึงเกาะนี้ เพื่อท่อง “ป่าใหญ่ไพรสณฑ์” บันทึกการเดินทางของเขาเต็มไปด้วยคำบรรยายพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตที่เหมือนมาจากโลกอื่น เขาเจอบัวผุดดอกมหึมาซึ่งมีกลีบดอกสีแดงอมส้มกว้างกว่าครึ่งเมตรและมีกลิ่นเหมือนซากเน่า และเห็ด เรืองแสงที่ตกกลางคืนส่องแสงสว่างมากพอให้เขาอ่านหนังสือพิมพ์ได้

สำหรับเบกการี ผืนป่าดูเหมือนดงพืชพรรณที่ต่างงัดแผนและกลยุทธ์ออกมาใช้ชนิดไม่ยอมลดราวาศอก เขาอัศจรรย์ใจที่กล้วยไม้และพืชดอกอื่นๆหาทางขึ้นไปอยู่บนยอดของต้นไม้สูงใหญ่เพื่อรับแสงอาทิตย์ และใช้สีสันที่สดใส รูปร่างแปลกตา และกลิ่นอันทรงพลัง ดึงดูดเหล่าแมลงที่ช่วยพวกมันถ่ายเรณูและขยายพันธุ์ “เพื่อให้มั่นใจในความสำเร็จ” เบกการีเขียนไว้ “ธรรมชาติใช้เล่ห์กลทุกอย่างที่เป็นไปได้ การล่อลวงทุกประเภท และความโหดร้าย ทุกรูปแบบ”

เสือลายเมฆ
เสือลายเมฆที่พบเห็นได้ยาก มีการศึกษาน้อยนิด และจัดว่ามีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เดินผ่านกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ใกล้สถานีวิจัยจาบังปันตี เสือที่ออกหากินตอนกลางคืนชนิดนี้มีอุ้งเท้ากว้าง ขาหลังยืดหยุ่น และหางยาว ซึ่งช่วย พวกมันในการปีนขึ้นต้นไม้ ลงจากต้นไม้โดยเอาหัวนำ และกระทั่งห้อยตัวจากกิ่งไม้ขณะคว้าจับเหยื่อ พวกมันกินได้ ทุกอย่าง ตั้งแต่ลิง กวาง และหมูป่าบาบิรูซา ไปถึงปลา ชะมด และเม่น
ไก่ฟ้า, นกหว้า, กุหนุงปาลุง, อินโดนีเซีย, ป่าฝน, เกาะบอร์เนียว
นกหว้าเพศผู้ ไก่ฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ซึ่งอาจมีความยาวจากจะงอยปากถึงปลายหางได้ถึงสองเมตร รำแพนขนหางที่มีลายคล้ายดวงตาขนาดใหญ่อวดว่าที่คู่ครอง พร้อมร่ายรำเล็กน้อย พวกมันจะเก็บเศษกิ่งไม้ใบไม้ ออกก่อนเพื่อสร้าง “เวที” สำหรับการแสดง

เราอาจนึกอยากทึกทักเอาว่า ระบบนิเวศอันซับซ้อนนี้เจริญงอกงามได้เพราะไม่มีมนุษย์เข้ามาแทรกแซง แต่เกาะบอร์เนียวมีผู้คนอาศัยอยู่อย่างน้อยก็หลายหมื่นปีแล้ว ภาพเขียนเก่าแก่ที่สุดที่รู้จักกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นภาพสัตว์คล้ายวัวป่า พบในถ้ำแห่งหนึ่งของบอร์เนียวและมีอายุอย่างน้อย 40,000 ปี และเมื่อการเดินเรือก้าวหน้าขึ้น พ่อค้าจากทั่วเอเชีย และต่อมาก็จากยุโรป ต่างมุ่งหน้ามายังเกาะแห่งนี้เพื่อเสาะหาต้นไม้ แร่ธาตุ และส่ำสัตว์

ทุกวันนี้ ความสูญเสียหนักหนาสาหัสที่สุดเกิดจากการแผ้วถางป่าเพื่อทำเกษตร รวมถึงสวนปาล์มน้ำมันซึ่งให้ ผลผลิตเป็นสารที่นำไปใช้อย่างกว้างขวางในอาหารสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไฟป่าที่เกิดจากภัยแล้งยังเผาทำลายต้นไม้โบราณด้วย และในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคทำให้การลักลอบตัดไม้และการทำเหมืองเถื่อนขยายตัวอย่างหนัก โดยรวมแล้ว คาดว่าเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซียสูญเสียป่าไม้ ไปเกือบหนึ่งในสามระหว่างปี 1973 ถึง 2010

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย, ป่าฝน
อุรังอุตังเพศเมียกินผลมะเดื่อสุกบนเรือนยอดในป่าฝนของอุทยานแห่งชาติกุหนุงปาลุง ซึ่งอยู่บนเกาะบอร์เนียว ในจังหวัดกาลีมันตันตะวันตกของอินโดนีเซีย พื้นที่ 1,080ตารางกิโลเมตรของอุทยานเป็นที่อยู่ของเอปที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งราว 2,500 ตัวและต้นไม้ 2,500 ชนิด (ภาพถ่าย: รัสเซล เลเมน กับผู้บังคับโดรน ตรี วาห์ยุ ซูซันโต)

ขณะที่การค้าไม้ผิดกฎหมายลดลงทั้งในและรอบๆกุหนุงปาลุง ประวัติศาสตร์ที่พลิกผันเอาแน่เอานอนไม่ได้ ของภูมิภาคทำให้การเดินทางมาของฉันแฝงนัยของความเร่งด่วน เชริล นอตต์ นักไพรเมตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งเป็นผู้นำโครงการศึกษาอุรังอุตังในอุทยาน บอกฉันว่า แม้ป่าในเขตอุทยานจะฟื้นตัวค่อนข้างดี โดยเฉพาะเมื่อการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดขึ้น และขณะที่งานวิจัยและการอนุรักษ์ขยายตัวและสร้างงานให้คนท้องถิ่น “แต่หากไม่มีการสอดส่องดูแลอย่างต่อเนื่อง อะไรๆ ก็อาจเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามได้ง่ายๆ”

เรื่อง เจนนิเฟอร์ เอส. ฮอลแลนด์

ภาพถ่าย ทิม เลเมน

แปล  ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

ติดตามสารคดี หัวใจสีเขียวของเกาะบอร์เนียว ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/601207


อ่านเพิ่มเติม เกาะบอร์เนียว : ท่องแดน ถ้ำหลวง อลังการ

Recommend