หนึ่งวันกับการเสพงานศิลป์

งานศิลปะ สามารถบ่งบอกถึงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์

หากพูดถึง งานศิลปะ ใจกลางกรุงก็คงหนีไม่พ้นงาน  Bangkok Art Biennale 2018 (BAB 2018)  งานนี้รวม 75 ศิลปินจาก 33 ประเทศทั่วโลกมาจัดแสดงในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2018 – 3 กุมภาพันธ์ 2019 วันนี้ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก มีโอกาสมาชมงานศิลปะในย่านสยาม ทางหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC), Siam Discovery, Siam Center, Siam Paragon และ Central World ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน BAB 2018 ถือเป็นการเชิญชวนให้คนทั่วไปหันมาสนใจงานศิลปะได้อย่างอิสระ และเปิดกว้างให้ผู้พบเห็นงานศิลปะได้วิจารณ์งานกันตามประสบการณ์ของแต่ละคน

เมื่อเดินเข้ามาในตัวอาคารของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณโถงด้านล่างคุณจะได้พบกับงานศิลป์ “Basket Tower”  ผลงานที่นำตะกร้าลักษณะแตกต่างกันมาผสมผสานและเชื่อมต่อกันได้อย่างลงตัว ด้วยสีสันสดใสตระการตา จากการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติท่านหนึ่งที่เข้ามาชมงานศิลปะ เธอกล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้สามารถดึงดูดความสนใจจากเธอได้มากเลยทีเดียว เป็นเพราะเธอไม่ค่อยได้พบงานศิลปะในลักษณะเช่นนี้บ่อยครั้งนัก เธอจึงรู้สึกว่ามันพิเศษ สีของผลงานทำให้เธอรู้สึกผ่อนคลายได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แน่นอนว่าเป็นผลงานของศิลปินอย่าง ชเว จอง ฮวา เขาเลือกใช้วัสดุที่ผู้คนต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ผ่านการนำเสนอผลงานภายใต้คอนเซ็ปต์ “Happy Happy Project”

บริเวณทางเข้าแกลลอรี่ชั้น 7 มีงานประติมากรรม “Genetic Manipulation” ตุ๊กตาหุ่นเชิดร่างมนุษย์ถูกดัดแปลงพันธุกรรมใหม่ด้านล่างของตัวหุ้มด้วยเครื่องจักรกลที่ดูแปลกตา ซึ่งลักษณะคล้ายคลึงกับหนังตะลุงของไทย เป็นผลงานของ เฮริ โดโน ศิลปินชาวอินโดนีเซีย เมื่อเดินเข้าไปในห้องโถงใหญ่ซึ่งเป็นส่วนของแกลลอรี่ภาพถ่าย และงานประติมากรรมจากศิลปินหลากหลายประเทศ

เมื่อฉันเดินเข้ามาก็ได้พบกับภาพถ่ายของศิลปินชาวสวีเดน แอนเน โอลอฟสัน โดยชื่อผลงานว่า “Mourningsและ “Hide and seek” ภาพที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ครั้งแรกฉันมองภาพถ่ายเหล่านี้ฉันรู้สึกว่ามันดูลึกลับและน่าหวาดกลัว แน่นอนว่ามนุษย์เราย่อมมีความกลัวในเรื่องอายุขัย ซึ่งศิลปินอย่างโอลอฟสัน เลือกใช้สีดำเพื่อสื่อถึงความหวาดกลัว ความโศกเศร้า ความตาย เธอต้องการให้ผู้คนรู้สึกถึงพลังของภาพถ่ายว่า ภาพหนึ่งภาพสามารถบ่งบอกถึงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ได้เช่นกัน

ในช่วงต้นปีแบบนี้บริเวณชั้น G Siam Discovery จัดแสดงผลงาน “Alchemy” “Plastic Shotguns” และ “Anthuriums Flowers”  ผลงานของศิลปิน และนักออกแบบอย่าง ชเว จอง ฮวา ผลงานทั้งสามถูกจัดวางเรียงกันเป็นแนวยาวดึงดูดสายตาจากคนที่เดินผ่านไปมาได้เป็นอย่างดี ทั้งสีสันมีความโดดเด่นและความร่วมสมัย

ฉันชื่นชอบผลงาน Alchemy”  ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงาน Happy Happy Project” ของ ชเว จอง ฮวา ได้จัดวางประติกรรมชิ้นนี้ด้วยสีสันหลากหลายละลานตา เป็นงานประติมากรรมแท่งสีจัดวางอยู่บนพื้นกระจก มีกระจกคั่นอยู่ตรงกลางระหว่างแท่งสีทั้งสองฝั่ง ฉันคิดว่างานชิ้นนี้สื่อให้เห็นว่า แท่งสีเปรียบเสมือนมนุษย์ทุกคนที่แตกต่างกันและมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ถึงแม้ตัวเราจะพยายามเหมือนกับคนอื่น สุดท้ายกระจกจะสะท้อนความเป็นตัวตนของแต่ละคนออกมา

“ผมไม่คาดหวังปฎิกิริยาตอบรับ แบบตายตัวจากคนดู เช่น มาดูแล้วต้องชอบ ไม่จำเป็นเลย ขอแค่มาดู แล้วใจของคุณจะบอกเองว่าคุณรู้สึกกับมันยังไง ชอบ ไม่ชอบ ตลก หรือ เศร้า มันคือเสน่ห์ ที่ทุกคนจะตอบสนองต่องานศิลปะแตกต่างกัน”

– ชเว จอง ฮวา

แน่นอนว่ามาถึง Siam Paragon ก็ไม่ควรพลาดชมผลงานของศิลปินชื่อดังอย่าง ยาโยอิ คุซามะ ศิลปินชาวญี่ปุ่น เชื่อว่าหลาย คนคงจดจำเธอได้จากผลงานลายจุด ตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรม รวมทั้งงานศิลปะจัดวางไม่มีจุดสิ้นสุด (infinity installations) ครั้งนี้เธอได้นำเสนอภาพลายจุดออกมาในรูปทรงของฟักทอง ใช้ชื่อผลงานว่า I Carry on Living with the Pumpkins ฉันคิดว่าคุซามะใช้ฟักทองบ่งบอกถึงช่วงเวลาในวัยเด็กของเธอได้เป็นอย่างดี ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดุดตา

เมื่อเดินมาถึง Central World มีผลงาน 14 Pumpkins งานประติมากรรมจัดวางได้รังสรรค์โดย คุซามะ อีกหนึ่งชิ้น ฉันคิดว่าฟักทองถูกจัดให้ห้อยลงมาเหมือนกับโมบาย แน่นอนว่าเจ้าบอลลูนฟักทองมันถูกโชว์อยู่บริเวณลานกลางห้าง ที่มีบอลลูนฟักทองถึง 14 ลูก ทั้งขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ สีและลวดลายล้วนเป็นแบบเดียวกันทั้งหมดคือ ฟักทองสีขาวแต่งแต้มด้วยลายจุดสีแดง ถ้าสังเกตบริเวณด้านล่างของบอลลูนจะเห็นเป็นรูปของ ยาโยอิ คุซามะ ตรงจุดกึ่งกลางของบอลลูนบริเวณโดยรอบ เขียนว่า YAYOI KUSAMA และ LOVE FOREVER ผู้คนพบเห็นต่างก็ให้ความสนใจ และหยิบมือถือขึ้นมาบันทึกภาพผลงานของเธอ

“คนเราตราบใดที่มีชีวิตมีลมหายใจก็เท่ากับว่าเรายังมีความหวังความฝันที่ยังสานต่ออยู่ได้”

– ยาโยอิ คุซามะ

                   สังเกตได้ว่างานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ย่านห้างสรรพสินค้ามีความแตกต่างจากผลงานในอาร์ตแกลลอรี่ โดยเน้นงานร่วมสมัย สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้คนที่พบเห็นงานเหล่านี้แม้ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม บางคนอาจมองว่ามันแปลก สวย หรือ ตลก ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์มุมมองทางความคิดของแต่ละคน โดยทุกคนสามารถวิจารณ์งานศิลป์เหล่านี้ได้อย่างอิสระ

***แปลและเรียบเรียงโดย ปุณยวีร์ เฉลียววงศ์เจริญ
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม: จิ่วไจ้โกว สวรรค์บนดินแดนมังกร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.