หากพูดถึงย่านเจริญกรุงหลายๆคนคงนึกถึงความเก่าแก่ของตึกรามบ้านช่องในชุมชนย่านนี้ เพราะถนนเจริญกรุงมีอายุมากกว่า 100 ปี ซึ่งงาน Bangkok Art Biennale 2018 ได้ขนงานจากศิลปินมากมายมาไว้ที่ย่านเจริญกรุง นอกจากนี้ยังมีงานศิลปะให้เลือกชมถึง 4 สถานที่ คือ O.P.PLACE, Mandarin Oriental Bangkok, The East Asiatic Building และ The Peninsula Bangkok
เรามาเริ่มชมงานศิลปะที่ O.P.PLACE ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 38 ที่รวมผลงานจาก 8 ศิลปินมาไว้ด้วยกัน ซึ่งชิ้นงานจัดแสดงอยู่บริเวณชั้น 3 บริเวณบันไดจะแยกออกเป็น 2 ฝั่ง แบ่งออกเป็นฝั่งเจริญนคร และเจริญกรุง เมื่อเดินเข้าไปฉันได้พบกับงานศิลปะ ของ ไอซ่า จ๊อคสัน ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ เขาได้หยิบยกตัวการ์ตูนจากค่ายดังอย่างดิสนีย์ เจ้าหญิงสโนว์ไวท์ นอกจากนี้ยังมีอิริยาบถแตกต่างกันออกไปในรูปที่ติดเรียงรายอยู่บริเวณทางเข้าห้องโถง และมีภาพวาดสำหรับระบายสีตั้งอยู่บริเวณพื้นเพื่อให้คนมาเยี่ยมชมงานศิลป์ได้ระบายสีสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง
หากคุณสังเกตหรือรู้สึกแปลกใจกับเสียงสะอื้นร้องไห้ดังโหยหวนอยู่ตลอดเวลา เพราะบริเวณโถงจะมีบันไดขึ้นไปชั้นลอยซึ่งบนนั้นคุณจะได้พบกับงานศิลป์ของจ๊อคสัน เป็นงานประติมากรรมอีกหนึ่งชิ้น มีชื่อผลงานว่า ‘Becoming White’ ชื่อภาษาไทยคือ ‘กลายเป็นคนขาว’ เมื่อหันมองไปทางซ้ายจะเป็นชิ้นงานหุ่นสโนว์ไวท์แขนขาดตั้งบนฐานสี่เหลี่ยม ส่วนทางขวาเป็นหุ่นสโนว์ไวท์ไร้แขนนอนอยู่กับพื้น แน่นอนว่ามันสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้พบเห็น โดยศิลปินอย่างจ๊อคสัน ต้องการนำเสนอความสุขของการใช้แรงงานผ่านตัวละครดิสนีย์ แต่ในทางกลับกันยังสะท้อนให้เห็นถึงเหล่านักเต้นชาวฟิลิปปินส์ที่ถูกว่าจ้างมาเป็นผู้ให้ความบันเทิงในฐานะผู้ใช้แรงงาน แต่ผู้ใช้แรงงานชาวฟิลิปปินส์ถูกแยกออกจากบทบาทหลัก ซึ่งถูกกันไว้ให้บุคคลบางเชื้อชาติเท่านั้น ในขณะที่พวกเขาได้รับบทบาทสมทบไร้ตัวตน เช่น ม้าลายในเรื่อง Lion King เป็นปะการังในเรื่อง The Little Mermaid หรือลิงในเรื่อง Tarzan
เมื่อเดินออกมาทางด้านหลังของ O.P.PLACE สามารถเดินเชื่อมมาถึงโรงแรม Mandarin Oriental Bangkok ซึ่งมีผลงานของศิลปินชาวฝรั่งเศส อย่างออเรล ริคาร์ด โดยมีชื่อผลงานว่า ‘Lost Dog’ เป็นงานประติมากรรมสุนัขบูลล์เทอร์เรีย ขนาดใหญ่สีทอง ตั้งอยู่หน้าทางเข้าโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล (Mandarin Oriental Bangkok) เป็นชุดงานศิลปะที่เดินทางไปในหลายๆพื้นที่ในโลก ซึ่งแต่ละที่จะมีผลงานที่จัดแสดงที่แตกต่างกันออกไป ออเรล ต้องการสะท้อนประเด็นปัญหาของมนุษย์โลกมีร่วมกัน ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ตกหล่นหายไปในสังคมปัจจุบัน ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าสุนัขตัวนี้กำลังหาเส้นทางไปสู่ความสุข ท่ามกลางโลกอันแสนวุ่นวายด้วยน้ำมือของเผ่าพันธุ์ ‘มนุษย์’
เมื่อเดินมาฝั่งตรงข้ามก็จะเห็นตึกสีขาวสไตล์สถาปัตยกรรมยุคฟื้นฟูเรอเนซองส์ (Renaissance revival architecture) ทั้งแถบ คือทางเข้าสู่อาคาร East Asiatic ที่จัดแสดงงานจิตรกรรมและประติมากรรม ตัวของศิลปินต้องการสะท้อนให้เห็นถึงกรุงเทพฯ ในหลายๆ มุมมอง ทั้งในเชิงกายภาพรวมถึงพลังงานหมุนเวียนในเมือง ซึ่งมีงานศิลปะจัดแสดงอยู่บริเวณชั้นสอง เมื่อเดินไปทางซ้ายจะพบกับงานศิลปะของศิลปินชาวอินโดนีเซีย ‘The Female Angels’ ที่แขวนค้างไว้เป็นผลงานของ เฮริ โดโน ซึ่งเหมือนกับว่ามันกำลังบินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามุ่งหน้าไปทาง Peninsula เพื่อไปสมทบกับเพื่อนฝูงที่อยู่อีกฝั่ง
บริเวณเดียวกันมีผลงานของ แอนดรูว์ สตาห์ล ศิลปินชาวอเมริกา ได้นำเสนองานประติมากรรมและจิตรกรรม ภายใต้คอนเซป ‘The Flow of Thought’ แน่นอนว่าเขารังสรรค์งานศิลปะออกมาได้อย่างสวยงาม ด้วยสีสันหลากหลายเฉดสี หากใครได้ชมงานศิลปะชิ้นนี้อาจมองว่าเป็นชิ้นงานสีสันสดใสตระการตาชวนมอง โดยตัวของศิลปินเองต้องการนำเสนอออกมาในรูปแบบสื่อผสม เป็นงานศิลปะที่เต็มไปด้วยเศษของเล่นและวัตถุถูกทอดทิ้งไว้บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเพื่อสะท้อนถึงปัญหาแม่น้ำเน่าเสียในปัจจุบัน ถือเป็นงานศิลปะที่ไร้ขอบเขตทางความคิด โดยเขากล่าวว่า “ในงานประติมากรรมนี้ คุณจะเห็นสีสันมากมายจากระยะไกล แต่พอลองไปดูรายละเอียด เมื่อคุณเข้าไปใกล้ๆ คุณจะเห็น อ้าวนี่เด็กนี่ นั่นมันคือการค้นพบเรื่องของความคิดแรกที่ปรากฏขึ้น”
หากเดินไปอีกมุมหนึ่งของชั้นสองจะพบกับงานชิ้นเอกของ อีบุล ศิลปินหญิง จากประเทศเกาหลี ได้สร้างสรรค์ผลงานสื่อผสมในรูปแบบอันหลากหลาย ทั้งผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม งานสื่อแสดงสด โดยงาน BAB 2018 เธอใช้ชื่อผลงานว่า ‘Diluvium’ เป็นงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ คุณจะรู้สึกเหมือนหลงเข้าไปในเขาวงกตหุ้มด้วยเทปสีเงินล้อมรอบ นอกจากผลงานชิ้นนี้จะท้าทายเรื่องแรงโน้มถ่วงและการบาลานซ์รูปลักษณ์ที่ futuristic นั้นยังขัดแย้งกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคาร อีสต์ เอเชียติก นอกจากนี้ผลงานของเธอแสดงถึงความซับซ้อนของจิตสำนึกมนุษย์ผ่านตำนานและเรื่องราวประวัติศาสตร์
ต่อมาดื่มด่ำกับงานศิลปะบริเวณลานจอดรถ ตรงข้ามกับตัวอาคาร อีสต์ เอเชียติก ยังมีผลงาน Zero ของศิลปินคู่หูโด่งดังในเรื่องศิลปะจัดวาง Michael Elmgreen และ Ingar Dragset ซึ่งเป็นชิ้นงานประติมากรรมวงรีใหญ่สีขาวลักษณะคล้ายสระว่ายน้ำ ซึ่งมีความสูงเกือบ 8.2 เมตร ตั้งอยู่บนแท่นริมแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้ผู้คนที่เดินทางผ่านไปมาให้ความสนใจกับชิ้นงานนี้อยู่ไม่น้อย
ทางโรงแรม Peninsula ได้มีการจัดแสดงงาน ‘Performing Textiles’ (2561) เป็นผลงานของศิลปินชาวไทยอย่าง กวิตา วัฒนะชยังกูร โดยการแสดงสดจัดแสดง ณ บริเวณห้องโถงชั้นแรก ของโรงแรมเพนนินซูล่า (The Peninsula Bangkok) ซึ่งงานศิลปะชิ้นนี้แสดงถึงการแปรเปลี่ยนร่างกายเป็นเข็มถักทอชิ้นผ้า เธอใช้ร่างกายของเธอทั้งปาก มือ และเท้า ในการถักเส้นด้าย เมื่อศิลปินเริ่มขยับตัวจะมีเสียงของลมหายใจที่เหนื่อยหอบดังสลับขึ้นมาเป็นจังหวะ แสดงให้เห็นถึงความยากลำบาก อดทนอดกลั้น แต่หนักแน่นไปในเวลาเดียวกัน ศิลปินสาวใช้เท้าเกี่ยวเส้นด้ายที่พันอยู่รอบขาของเธอขึ้นไปพันเสาที่อยู่ปลายเท้า จากนั้นจะไถลตัวไปเสาต้นถัดไปแล้วทำเช่นเดิม โดยทำวนไปเรื่อยๆ ซึ่งศิลปินอย่าง กวิตา ต้องการสะท้อนให้สังคมเห็นคุณค่าของแรงงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมทอผ้าทั่วโลก ซึ่งมักถูกมองข้าม และผลงานของเธอที่จัดแสดงไว้รอบๆ งานยังมีผลงานวิดีโอสื่อผสมที่มีสีสันฉูดฉาดให้ผู้คนได้รับชมอีกเช่นกัน
แม้ว่าในย่านเจริญกรุงจะบ่งบอกถึงความเป็นเมืองเก่าที่อยู่ในใจกลางเมือง แต่งานศิลปะที่จัดแสดงก็แสดงให้เห็นถึงงานศิลปะร่วมสมัยที่มีความโดดเด่นทั้งในด้านแนวคิด รูปแบบ และยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวของแม่น้ำเจ้าพระยาได้เป็นอย่างดี นอกจากคุณจะได้ชมงานศิลป์จากเหล่าศิลปินจากทั่วโลก แน่นอนว่าคุณยังได้สัมผัสกับสถาปัตยกรรมอันสวยงามของชุมชนแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
***แปลและเรียบเรียงโดย ปุณยวีร์ เฉลียววงศ์เจริญ
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย