เบอร์เกอร์มังสวิรัติเนื้อชุ่มฉ่ำ อิมพอสซิเบิลเบอร์ทำจากข้าวสาลีและโปรตีนมันฝรั่ง น้ำมันมะพร้าว และส่วนประกอบอื่นๆ รวมถึงฮีม ที่ทำมาจากยีสต์ซึ่งทำให้เบอร์เกอร์นี้ดูเหมือนชุ่มฉ่ำน้ำเนื้อไหลเยิ้ม บริษัทที่อยู่เบื้องหลังเบอร์เกอร์ซึ่งทำจากพืชเป็นหลักนี้อ้างถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของการเลี้ยงสัตว์ในระดับอุตสาหกรรมโดยให้เหตุผลว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เนื้อ แต่อยู่ที่เป็นเนื้อจากสัตว์ต่างหาก เจสสิกา แอปเพลเกรน จากบริษัทอิมพอสซิเบิลฟู้ดส์ บอกว่า “เราเชื่อว่าเรากำลังประดิษฐ์เนื้อขึ้นมาค่ะ เรากำลังศึกษาในระดับโมเลกุลว่า อะไรทำให้เนื้อเป็นเนื้อ แล้วสร้างเนื้อขึ้นมาใหม่โดยใช้พืช”
ลองมองไปยังอนาคตของสิ่งที่เรากิน คุณจะเริ่มสงสัยว่า อาหารของเราจะมีหน้าตาอย่างไร เมื่อประชากรโลกสูงเกินเก้าพันล้านคนภายในกลางศตวรรษนี้ ความต้องการอาหารของเราจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เราจะสนองความต้องการนั้นได้อย่างไร โดยไม่ต้องแผ้วถางป่ามากขึ้น หรือขยายพื้นที่ทำการเกษตรระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจะรักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินเพื่อให้พืชผลเจริญงอกงามต่อไปได้อย่างไร
คำถามเหล่านี้ยากและซับซ้อน แต่หยวนหลินอี้ บรรณาธิการนิตยสาร โมลด์ (Mold) ซึ่งนำเสนอเรื่องอนาคตของอาหาร บอกว่า มีเรื่องหนึ่งที่ชัดเจน “เพื่อผลิตอาหารป้อนคนเก้าพันล้านคน เราจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนค่ะ” เธอบอก
ผู้มาร่วมด้วยช่วยกันหลายคนจะพยายามค้นหาวิธีใหม่ๆในการผลิตโปรตีน เนื่องจากความเสียหายที่เกิดกับ สิ่งแวดล้อมจากการเลี้ยงสัตว์ในระดับอุตสาหกรรมจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้มากขึ้นเรื่อยๆ การเลี้ยงปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณหนึ่งในเจ็ดของปริมาณที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งหมด เมื่อเทียบกันแคลอรีต่อแคลอรี เนื้อวัวที่ผลิตในฟาร์มขนาดใหญ่โดยทั่วไปต้องใช้น้ำมากกว่าผักและธัญพืชเกือบแปดเท่า และใช้ที่ดินมากกว่า 160 เท่า จึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติจะรณรงค์ให้ทุกคนกินเนื้อวัวน้อยลง และบริษัทผลิตอาหารรายใหม่ๆก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
หนึ่งในนั้นคือบียอนด์เบอร์เกอร์ (Beyond Burger) บริษัทผู้ผลิตแผ่นเนื้อบดสีเหมือนเนื้อวัวจากหัวบีตและโปรตีนจากถั่ว คู่แข่งที่สูสีที่สุดขายอิมพอสซิเบิลเบอร์เกอร์ (Impossible Burger) ซึ่งเป็นแผ่นเนื้อบดที่ทำจากพืชและมี “น้ำเนื้อฉ่ำเยิ้ม” จากโปรตีนที่สังเคราะห์ขึ้นในห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า ฮีม (heme)
บริษัทอื่นๆกำลังค้นหาวิธีผลิตเนื้อในระดับอุตสาหกรรมโดยไม่จำเป็นต้องใช้สัตว์ในทุกขั้นตอน “มันจะดูเหมือนโรงหมักเบียร์มากครับ” บรูซ ฟรีดริก ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันกู๊ดฟู้ด (Good Food Institute) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมกลุ่มหนึ่ง กล่าว และเช่นเดียวกับเบียร์ที่ไหลผ่านก๊อกออกมา ฟรีดริกบอกว่า “ถ้าเป็นเนื้อบด ก็จะไม่ต่างกันครับ”
ขณะเดียวกัน แมลงกินได้กำลังมีตลาดในสหรัฐฯ โดยใช้เป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูงหรือเป็นส่วนประกอบในอาหารแปรรูป ความน่าสนใจเชิงสิ่งแวดล้อมนั้นชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิ้งหรีดซึ่งให้โปรตีนและสารอาหารรองหรือไมโครนิวเทรียนต์ (micronutrient) มากกว่าเนื้อวัวเมื่อเทียบปริมาณต่อกิโลกรัม จิ้งหรีดเติบโตได้ดีในสภาพแออัดและมืดทำให้การผลิตในระดับอุตสาหกรรมทำได้โดยสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย
บริษัทอาหารยังค้นพบไขมันชนิดใหม่ๆ ตอนแรกนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทเหล่านั้นเก็บสาหร่ายจากน้ำเลี้ยงของต้นเกาลัดเยอรมัน แล้วทำการดัดแปลงสาหร่ายนั้นให้สร้างน้ำมันที่มีคุณค่าทางอาหารมากขึ้นในปริมาณมากขึ้น ก่อนจะนำไปเพาะเลี้ยงในถังหมักสูงเท่าตึกหกชั้นโดยใช้อ้อยจากบราซิลเป็นอาหาร จากนั้นนำมาหีบหรือสกัดน้ำมันสาหร่ายซึ่งเป็นน้ำมันประกอบอาหารที่มีรสชาติเป็นกลาง เหลวใส อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว และมีจุดเกิดควันสูง ปัจจุบันจำหน่ายในตราไทรฟ์ (Thrive) ผู้สนับสนุนกล่าวว่า แนวคิดคือการผลิตน้ำมันทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและถูกหลักมนุษยธรรมมากกว่าน้ำมันอย่างน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นที่รู้กันว่า กระบวนการผลิตทำให้เกิดหายนะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ราช ปาเตล ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารของโลก กล่าวว่า ไม่ว่าอาหารของเราจะเป็นอะไรในอีก 50 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยังกำหนดให้เราใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดเป็นเวลาที่เราจะยอมรับว่า สิ่งที่เคยเป็นวัชพืชและศัตรูพืชสามารถกลายมาเป็นอาหารได้ครับ”
เรื่อง เทรซี แมกมิลแลน
ภาพถ่าย แกรนต์ คอร์เนตต์
อ่านเพิ่มเติม