เขตรักษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำช่วยฟื้นฟูปลาขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชาวประมงจำนวนมากพึ่งพาปลาจำนวนมหาศาลในระบบลำน้ำโขงมายาวนาน รวมทั้งชาวบ้านจากหมู่บ้าน Chnok Tru บนทะเลสาบโตนเลสาบ และในปัจจุบัน มีความพยายามหลายประการเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำไว้สำหรับอนาคต ภาพถ่ายโดย DAVID GUTTENFELDER, AP/NAT GEO IMAGE COLLECTION


เครือข่ายเขตอนุรักษ์กำลังช่วยให้ปลาบึกและ ปลา ชนิดอื่นๆ ในแม่น้ำโขงรอดจากการทำประมงเข้มข้น และภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

แม้แม่น้ำเงาอยู่ใกล้กับชายแดนพม่า ซึ่งเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง มันกลับเป็นสถานที่หลบภัยอันสงบสุขสำหรับ ปลา กว่า 50 สายพันธุ์ โดยในปัจจุบัน พื้นที่แห่งนี้มีแหล่งสงวนพันธุ์ปลาของเอกชนกว่า 52 แห่ง

เมื่อ 5 ปีก่อน อารอน โคนิง (Aaron Koning) นักนิเวศวิทยาทางน้ำจากศูนย์แอตคินสันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University’s Atkinson Center for a Sustainable Future) ได้เริ่มวิจัยว่าเขตรักษาพันธุ์ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เพียงส่วนน้อยของแม่น้ำเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อปลา เขาค้นพบว่า ที่จริงแล้ว ปลาทุกชนิดรู้เป็นอย่างดีว่าจะพึ่งพาเขตอนุรักษ์เหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งอาจทำให้พวกมันเพิ่มจำนวนขึ้นมาก จากผลการสำรวจเขตอนุรักษ์ราว 24 แห่งในแม่น้ำเงาระบุว่า ความหนาแน่นโดยเฉลี่ยของประชากรปลาภายในเขตอนุรักษ์เหล่านี้สูงกว่านอกเขตหลายเท่าตัว โดยเฉพาะสำหรับปลาขนาดใหญ่เช่นปลาอีกง (Long-Whiskered Catfish)

“ดูเหมือนว่าปลาเหล่านี้รู้ได้ว่าพวกมันจะถูกจับได้ในบริเวณใด” โคนิงกล่าว “หากคุณยืนอยู่ใกล้ๆ กับแนวแบ่งเขตของแหล่งอนุรักษ์ และมีปลาเห็นเงาของคุณ ปลาเหล่านั้นจะว่ายกลับเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์เอง”

โคนิงยังค้นพบอีกด้วยว่า หากประชากรปลาภายในเขตรักษาพันธุ์เริ่มหนาแน่นขึ้น ปลาขนาดเล็กจะเริ่มออกจากพื้นที่เหล่านั้นเพื่อไม่ให้ปลาขนาดใหญ่กว่ากินพวกมัน “โดยรวมแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าปลาในแม่น้ำแห่งนี้อาจมีจำนวนมากกว่าเมื่อ 15 ปีก่อน” เขากล่าว

นักวิทยาศาสตร์พยายามเรียนรู้เกี่ยวกับปลาพลวงฟ้า (Blue Mahseer) ซึ่งเป็นสปีชียส์สำคัญในภูมิภาคมากขึ้น ภาพถ่ายโดย JOEL SARTORE, NATIONAL GEOGRAPHIC PHOTO ARK

แม้จะมีการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ที่เขตคุ้มครองทางทะเลมีต่อการอนุรักษ์ปลามาอย่างยาวนาน กลับไม่มีการศึกษาถึงนี้ในพื้นที่น้ำจืดมากนัก แต่ในปัจจุบัน เหล่านักวิจัยค้นพบว่าปลาน้ำจืดอาจได้ประโยชน์จากพื้นที่คุ้มครองเหล่านี้ เช่นเดียวกับที่เหล่าสัตว์ทะเลได้จากพื้นที่คุ้มครอง และยังช่วยส่งเสริมการประมงน้ำจืดได้เพราะมีปลามากขึ้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต้องพึ่งพาการประมงเพื่อความมั่นคงทางอาหาร แต่กลับมีจำนวนประชากรปลาที่ลดลงอย่างหนักเนื่องจากภัยคุกคามหลายรูปแบบ เช่นการประมงเกินขีดจำกัด (Overfishing)

“ในพื้นที่เสี่ยงอย่างลุ่มน้ำโขง แผนการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพยังมีไม่มากพอ ทั้งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มจำนวนปลาที่สำคัญทางเศรษฐกิจและใกล้สูญพันธุ์” เซบ โฮแกน (Zeb Hogan) นักสำรวจของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก พิธีกรรายการโทรทัศน์ และนักชีววิทยาด้านปลาแห่งมหาวิทยาลัยเนวาดา รีโน (University of Nevada, Reno) ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย Wonders of Mekong ของ USAID กล่าว

โฮแกนเพิ่งเดินทางผ่านภูมิภาคแห่งนี้เพื่อศึกษาเขตอนุรักษ์ในระบบน้ำจืด “สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ แม้ไม่มีการวิจัยถึงพวกมันมากนัก แต่แหล่งอนุรักษ์ปลาน้ำจืดหลากหลายรูปแบบกำลังเป็นที่แพร่หลาย และอาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือการทำประมงในระยะยาวพร้อมกับคงความหลากหลายทางชีวภาพทางน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” เขากล่าว

ปัจจัยของประสิทธิผล

เรามีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลมากกว่าพื้นที่คุ้มครองในน้ำจืด และมีการใส่ใจพื้นที่ทางคุ้มครองทะเลเหล่านั้นเยอะกว่ามาก ทั้งที่บริเวณน้ำจืดมีสัตว์มีกระดูกสันหลังต่อหน่วยพื้นที่มากกว่า และมีสภาพย่ำแย่กว่าทะเล ในหลายพื้นที่ แม่น้ำเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเขตอุทยานแห่งชาติ และไม่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ นอกจากนี้ เขตรักษาพันธุ์ปลาน้ำจืดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักมีการบริหารอย่างไม่เป็นทางการ และมีขนาดเล็กกว่าเขตลักษณะเดียวกันในทะเลมาก เนื่องจากการประมงในภูมิภาคดังกล่าวมักเป็นการค้าขายระดับครัวเรือนซึ่งมีการจับปลาหลากหลายชนิด

กระนั้น “พื้นฐานด้านกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับเขตรักษาพันธุ์ปลาเหล่านี้” อีริน ลูรี่ (Erin Loury) ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ Fishbio และนักชีววิทยาด้านการประมง กล่าว ตัวอย่างเช่นการแก้กฎหมายการประมงของลาวเมื่อทศวรรษที่ 1990 ซึ่งทำให้เกิดการก่อตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์จำนวนมากในประเทศซึ่งไม่มีทางออกทะเลแต่เต็มไปด้วยแม่น้ำแห่งนี้ การสำรวจขององค์กรดังกล่าวระบุว่าประเทศนี้มีเขตอนุรักษ์สัตว์ในระดับชุมชนที่รัฐบาลรับรองกว่า 1,300 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์ในลาวมีประสิทธิภาพมากเพียงใด เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง “เราคิดว่าข้อบังคับมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ แต่แน่นอนว่ายังมีช่องว่างให้เราศึกษาว่าเหตุใดเขตคุ้มครองเหล่านี้จึงได้ผล” ลูรี่กล่าว

สำหรับแม่น้ำเงา โคนิงพบว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการอนุรักษ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ และขนาดของพื้นที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด “เราเห็นได้ว่ายิ่งเขตรักษาพันธุ์มีขนาดใหญ่เท่าใด เขตเหล่านั้นก็มีประโยชน์ต่อปลามากเท่านั้น” เขากล่าว ทั้งนี้ เขตรักษาพันธุ์ที่ตั้งอยู่ใกล้กันมีผลดีกว่าเขตที่อยู่ห่างกัน และยิ่งเขตอนุรักษ์อยู่ใกล้กับศูนย์กลางของหมู่บ้านเท่าไหร่ ชาวบ้านก็ยิ่งดูแลเขตเหล่านั้นได้ใกล้ชิดมากขึ้น และดีต่อปลาขนาดใหญ่ที่มีราคาสูงมากขึ้นเท่านั้น

อายุของเขตรักษาพันธุ์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในแบบที่อาจไม่มีใครคาดคิด “เขตอนุรักษ์ที่เก่าแก่จะมีประชากรปลาภายในเขตและภายนอกเขตแทบไม่ต่างกัน” โคนิงกล่าว “นั่นคือเมื่อประชากรปลาในเขตอนุรักษ์หนาแน่นขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ปลาบางส่วนจะจะว่ายออกจากบริเวณนั้น” สิ่งดังกล่าวทำให้ชาวประมงได้รับประโยชน์เนื่องจากมันทำให้พวกเขามีปลานอกเขตอนุรักษ์ให้จับมากขึ้น

นอกจากนี้ ผลการวิจัยของโคนิงยังบอกเป็นนัยว่าเขตอนุรักษ์พันธุ์คุ้มครองปลาได้มากที่สุดในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาเสี่ยงต่อการถูกจับมากที่สุด เนื่องจากระดับน้ำที่ลดลง ซึ่งสิ่งนี้พบเห็นได้ทั้งในแม่น้ำขนาดเล็กอย่างแม่น้ำเงาและทะเลสาบขนาดใหญ่อย่าง โตนเลสาบ (Tonle Sap) ในกัมพูชา

โตนเลสาบ

หลังฤดูมรสุมผ่านพ้นไป ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้จะหดตัวในฤดูแล้ง แต่แม้ว่าทะเลสาบแห่งนี้เป็นแหล่งอาหารของชาวกัมพูชานับล้าน การประมงกลับทำให้ประชากรของปลาขนาดกลางและใหญ่จำนวนมากต้องเกือบสูญพันธุ์ รวมถึงปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) อย่างปลาบึก (Mekong Giant Catfish)

ในวันหนึ่งของเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งที่ระดับน้ำกำลังลดลง โฮแกนและเจ้าหน้าที่ประมงชาวกัมพูชาได้ตรวจเยี่ยมเขตรักษาพันธุ์ปลาซึ่งมีพื้นที่ราวร้อยละ 15 ของทะเลสาบแห่งนี้ ซึ่งมีการห้ามทำประมง ยกเว้นการจับปลาเพื่องานวิจัย

ในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ใช้แหสำหรับการทดลองในเขตรักษาพันธุ์แห่งหนึ่งเพื่อวัดความหนาแน่นของปลาในเขตรักษาพันธุ์ เมื่อดึงแหขึ้น เจ้าหน้าที่พบว่ามีปลาขนาดใหญ่หลายตัวติดขึ้นมาด้วย ทำให้โฮแกนกล่าวในภายหลังว่าความหนาแน่นของปลา “ ทำให้ผมตกตะลึงอย่างมาก” และการพบปลาขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า “พื้นที่รักษาพันธุ์เหล่านี้มีศักยภาพสำหรับการปกป้องปลาเหล่านี้ ซึ่งหลายชนิดได้หายไปจากบริเวณอื่นๆ แล้ว”

นอกจากการอนุรักษ์ปลา เขตรักษาพันธุ์เหล่านี้ยังช่วยส่งเสริมการประมง ซึ่งเป็นอาชีพสำหรับผู้คนกว่า 1.2 ล้านคนในบริเวณทะเลสาบนี้ งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Ecological Modelling ระบุว่าการอนุรักษ์พื้นที่ร้อยละ 50 ในโตนเลสาบช่วยสร้างประโยชน์อย่างมากต่อการประมงด้วยปรากฏการณ์ “บลูฮาโล” (Blue Halo Effect) ที่มวลชีวภาพซึ่งอยู่ในเขตคุ้มครองกระจายตัวออกไปยังพื้นที่ประมงซึ่งอยู่ติดกัน

“มันอาจดูขัดกับสามัญสำนึกที่ว่า หากจะเพิ่มปลาที่จับได้ ก็ต้องจำกัดการจับปลา แต่ในกรณีที่มีการทำประมงอย่างเข้มข้นขึ้น การลดการจับปลาลงหรือลดพื้นที่จับปลา จะช่วยเพิ่มทั้งปลาที่จับได้และกำไรมากขึ้น” ลี ฮันนาห์ (Lee Hannah) หัวหน้าทีมวิจัยและนักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจาก Conservation International กล่าว

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าการห้ามทำประมงในบางพื้นที่อาจหมายถึงการจับปลาได้น้อยลงในช่วงแรก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวบ้านที่จับปลาเพื่อยังชีพ “ครอบครัวและชุมชนที่ยากจนซึ่งต้องพึ่งพาการประมงเพื่อเลี้ยงชีพนั้นไม่สามารถลดการจับปลาในปัจจุบันเพื่อให้ปลาเพิ่มขึ้นในอนาคตได้” ฮันนาห์กล่าว พร้อมเสริมว่ารัฐบาล องค์การพัฒนาเอกชน และผู้บริจาคต้องช่วยให้ครอบครัวที่ยากจนผ่านช่วงอันยากลำบากเช่นนี้ไปได้”

ผู้พิทักษ์สัตว์ในชุมชน

ปัญหาอีกประการของการอนุรักษ์คือการบังคับใช้กฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่าการป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ในทะเลสาบขนาดใหญ่เช่นโตนเลสาบนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ โดย Hok Men An ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยรักษากฎหมายในพื้นที่ กล่าวว่าผู้ลักลอบจับปลามักแอบบุกรุกทะเลสาบในเวลากลางคืน และคาดว่าเจ้าหน้าที่ระงับเหตุดังกล่าวได้เพียงร้อยละ 70 เท่านั้น

ในแม่น้ำเงาในไทย ชาวบ้านมักเป็นฝ่ายดูแลเขตอนุรักษ์เหล่านั้น ซึ่งโคนิงกล่าวว่ามันทำให้งานอนุรักษ์ทำใด้ง่ายขึ้น “แทนที่จะมีผู้พิทักษ์ 5 คนลาดตระเวณแม่น้ำยาว 64 กิโลเมตร คุณจะมีชาวบ้าน 2,000 คนที่อยู่ในบริเวณตลอดเวลา” เขากล่าว “ชาวบ้านรู้สึกว่าแม่น้ำบางส่วนเป็นของเขา และเขาภาคภูมิใจสำหรับการช่วยดูแลปลาในบริเวณเหล่านั้น”

สำหรับพรรณี เพิ่มฉัตรชัย หนึ่งในชาวบ้านของบ้านแม่หลุย กล่าวว่าการจัดการเขตรักษาพันธุ์เป็นความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ “พระเจ้าสร้างปลาและบอกให้มนุษย์ดูแลพวกมัน” และเสริมว่าเมื่อเธอรู้สึกไม่สบายใจ เธอสามารถไปนั่งดูปลาที่สวยงามในแม่น้ำได้เสมอ “มันทำให้ฉันรู้สึกสงบ” เธอกล่าว

เรื่อง STEFAN LOVGREN


อ่านเพิ่มเติม ปลาพลวง ถั่วฝักยาว หรือ เสือโคร่งแห่งสายน้ำ 

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.