ปลาพลวง ถั่วฝักยาว หรือ เสือโคร่งแห่งสายน้ำ

ปลาพลวง ถั่วฝักยาว หรือ เสือโคร่งแห่งสายน้ำ

ปลาพลวง อาจจะเป็นปลาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเพียงว่าเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามน้ำตก รอคอยกินถั่วฝักยาวหรืออาหารปลาที่นักท่องเที่ยวโยนลงไปให้

แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ด้านปลาน้ำจืดทั่วโลก ปลาพลวง เป็นมากกว่านั้น พวกมันมีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้ปลาแซลมอน และบางพื้นที่ถึงกับเรียกปลาพลวงว่า “เสือโคร่งแห่งสายน้ำ” เลยทีเดียว

รอบกองไฟที่อบอุ่นท่ามกลางความหนาวเย็นริมน้ำเงา ผมเอ่ยถามจูลี คลัสเสน นักวิจัยเรื่องปลาจากมูลนิธิอนุรักษ์ปลา (Fisheries Conservation Foundation) ว่า “ทำไมต้องเป็นมาห์เซียร์ครับ ทำไมไม่เป็นปลาอื่นอย่างปลาคัง ปลาสวาย หรือปลาอะไรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจกว่านี้ครับ”

มาห์เซียร์คือชื่อภาษาฮินดีที่ใช้เรียกปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่กระจายพันธุ์อยู่มากทางตอนเหนือของอินเดีย ปลาชนิดนี้มีชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะปลาเกมชั้นดีเมื่อนักตกปลาชาวอังกฤษได้สำรวจเจอ ปลาชนิดนี้อยู่ในสกุล Tor ต่อมาก็ได้มีการใช้คำว่ามาห์เซียร์กับปลาในสกุล Neolissochilus ไปด้วย

ในเมืองไทยเรามีปลาในกลุ่มมาห์เซียร์ อยู่ 2 ชนิดคือ ปลาพลวง (Neolissochilus) และปลาเวียน (Tor) ใช่ครับ ปลาที่คนส่วนใหญ่เคยเห็นตามน้ำตกเมื่อมีคนให้อาหาร หรือว่ายมากินถั่วฝักยาวจากมือนั่นละครับ

ปลาพลวง, แม่น้ำ, เขตอนุรักษ์,
ปลาพลวงในเขตอนุรักษ์ของบ้านแม่หลุยส์ เขตอนุรักษ์ปลาที่เก่าแก่ที่สุดในลุ่มน้ำเงา

จูลีอธิบายให้ฟังว่า วงการนักวิทยาศาสตร์ทางด้านปลาให้ความสนใจมาห์เซียร์ เป็นเพราะสามเหตุผลคือ มาห์เซียร์นั้นเป็นอาหารที่สำคัญของผู้คนที่อาศัยอยู่กับสายน้ำ มาห์เซียร์เป็นปลาที่มีคุณค่าในทางกีฬาตกปลาที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศ และที่สำคัญที่สุด มาห์เซียร์เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในลำน้ำใสสะอาดและมีการย้ายถิ่นตลอดลำน้ำ ขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำเหมือนปลาแซลมอน ทำให้การอนุรักษ์ปลามาห์เซียร์ส่งผลไปถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศทั้งลำน้ำ

“แม่น้ำเงาเป็นแม่น้ำสายเดียวของลุ่มน้ำสาละวินที่ยังคงใสสะอาด” ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ซึ่งทุ่มเทให้กับการวิจัยและการอนุรักษ์ปลาน้ำจืดในภาคเหนือ บอก เป็นเรื่องดีแม้ว่าคำพูดนั้นจะทำให้ผมหวนคิดว่าสายน้ำนี้จะคงความสมบูรณ์ไปได้นานแค่ไหน เกือบทุกหมู่บ้านริมแม่น้ำเงามีเขตอนุรักษ์ปลา บางแห่งเริ่มโครงการมาแล้วกว่า 26 ปี ชาวบ้านที่นี่ตั้งเขตอนุรักษ์กันขึ้นมาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากใคร เป้าหมายหลักของการอนุรักษ์ปลาก็เพียงเพื่อให้เขาและลูกหลานมีปลากินอย่างยั่งยืน

ดร.แอรอน โคนิง ผู้ที่เข้ามาทำวิจัยเรื่องปลาและน้ำที่แม่น้ำเงามาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี จนพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษากระเหรี่ยง บอกเราว่า “นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าการอนุรักษ์ปลาเพียงส่วนหนึ่งของลำน้ำจะได้ผล แต่จากการวิจัยของผม เห็นได้ชัดมากว่ามันได้ผลอย่างมากที่จะรักษาปลาเหล่านี้ไว้ และยังเห็นได้ชัดอีกด้วยว่าหมู่บ้านที่มีเขตอนุรักษ์ปลา จะจับปลา (นอกเขต) ได้มากกว่าหมู่บ้านที่ไม่มีเขตอนุรักษ์”

จูลีเสริมต่อว่า “โปรตีนจากปลาอย่างมาห์เซียร์ เป็นโปรตีนที่ดีมาก ให้ผลดีต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ และการที่คนในพื้นที่สามารถจับปลาเหล่านี้เป็นอาหารทำให้มีผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยมาก ถ้าเราสามารถรักษาหรือเพิ่มจำนวนปลาพวกนี้ได้โดยไม่ต้องให้อาหารก็จะเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุด ดีกว่าที่จะต้องทดแทนอาหารของชาวบ้านด้วย หมู ปลา หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่จะต้องให้อาหารซึ่งล้วนมาจากถางป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว

Recommend