(ภาพปก) นักปั่นจักรยานเหล่ากำลังปั่นจักรยานผ่าน แบตเตอรรี พาร์ค (Battery Park) ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ภาพถ่ายโดย SERGI REBOREDO, REDUX
มีรายงานการศึกษาล่าสุดระบุว่า บรรดาเมืองใหญ่ มีบทบาทสำคัญระดับโลกในเรื่องของการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยประชากรในเมืองลดการบริโภคและการใช้สิ่งของให้น้อยลงได้
เมืองที่มีแนวคิดพัฒนาต่างหาวิธีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ในเมือง แต่วิธีการเหล่านั้นอาจเป็นการประเมินปัญหาที่ผิด เช่น นโยบายการเก็บค่าปล่อยคาร์บอนกับการใช้รถหรือโรงงานที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินมาตรฐาน เป็นต้น ทั้งที่ความจริงแล้ว สิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ มักมาจากสิ่งที่ชาวเมืองส่วนใหญ่รับประทาน ใช้งาน หรือซื้อมาจากแหล่งผลิตที่ไกลจากเมืองออกไป นับตั้งแต่อาหาร เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ
เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปในทางที่ถูกต้อง บรรดาเมืองทั้งหลายควรพุ่งเป้าหมายไปที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 50 ภายใน 11 ปีข้างหน้า และร้อยละ 80 ในปี 2050 ซึ่งบรรดานักวิจัยต่างพบว่า จำนวนการปล่อยก๊าซส่วนใหญ่นั้นมาจากการบริโภคสินค้า อาหาร และพลังงานที่ผลิตจากนอกเมือง และสิ่งที่เมืองควรทำอย่างมากที่สุดคือ หาวิธีการช่วยประชากรในเมืองลดการบริโภคสินค้าเหล่านี้
มูลค่าที่แท้จริงจากการบริโภค
ในทุกวันนี้ ประชากรโลกกว่าร้อยละ 55 อาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราวร้อยละ 70 ในแต่ละปี และในอนาคต นักประชากรศาสตร์คาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะอาศัยอยู่ร่วมกันในเมืองมากถึงร้อยละ 70 ภายในปี 2050 และถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพื้นที่เมืองต่างๆ จะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าภายในปี 2050
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่เมืองต่างๆ มีความพยายามสนับสนุนการใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นการโดยสารรถคันเดียวกันในเส้นทางเดียวกัน การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ดี และสร้างอาคารที่มีต้นไม้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง บรรดาชาวเมือง โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีแนวโน้มที่จะซื้อของมากขึ้น ทั้งบรรดาเสื้อผ้า ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งของอื่นๆ ซึ่งทำให้ปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความซับซ้อนมากขึ้น และปัญหาเหล่านี้ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่าโดยง่าย
ยกตัวอย่างเช่น เสื้อยืด 1 ตัว อาจทำมาจากฝ้ายที่ปลูกในประเทศอินเดีย นำไปผลิตที่ประเทศจีน ซึ่งใช้พลังงานถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของเครื่องมือเย็บเสื้อผ้า จากนั้นนำไปใส่ลงบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ซึ่งผลิตมาจากน้ำมันดิบในอีกประเทศหนึ่ง ขนส่งมากับเรือบรรทุกสินค้าข้ามมหาสมุทรโดยเรือที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานฟอสซิล และขนส่งไปยังเมืองต่างๆ โดยใช้รถยนต์พลังงานดีเซล ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) อย่างมหาศาล โดยประชากรที่อาศัยอยู่ในบรรดาเมืองใหญ่ 96 แห่งเพียงอย่างเดียว ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละสิบของการปล่อยคาร์บอนในแต่ละปี
“ผู้คนต่างลืมว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่เราบริโภค และรอยเท้าคาร์บอนส่วนบุคคลเกิดจากสถานที่ที่ผลิตสิ่งต่างๆ ส่งมาให้เรา และทำให้เราใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายในเมืองสมัยใหม่” เจเริน ฟาน เดอ เฮจ์เดน (Jeroen van der Heijdan) ผู้เชี่ยวชาญด้านเรื่องสภาพภูมิอากาศกับรัฐบาล (Climate and Government) แห่งมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ในนิวซีแลนด์ กล่าว
“ถ้าเราต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญ เราต้องทำสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างตึกที่มีต้นไม้ เราคงต้องพิจารณาในเรื่องวิธีการและสิ่งที่เราบริโภคด้วย” เขากล่าวเสริม
หนทางสู่การใช้สิ่งของให้น้อยลงในภายภาคหน้า
ทั้งรัฐบาลและชุมชนนานาชาติต่างพยายามในเรื่องของการสร้างให้สังคมเกิดความตระหนักในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนในหลายกรณี และบรรดาเมืองต่างๆ ก้าวเข้ามาเพื่อพัฒนาแผนการณ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเมือง
เครือข่ายเมือง ซี40 (C40 network cities) ซึ่งเป็นเครือข่ายเมืองนานาชาติที่มีพันธกิจในการกล่าวถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศ ต่างให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซในระดับที่ไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนี้ บรรดาเมืองต่างๆ สามารถกระตุ้นพฤติกรรมคนเมืองที่ส่งผล ใน 6 ด้านด้วยกัน ได้แต่ อาหาร, การก่อสร้างและอาคาร, เสื้อผ้า, ยานพาหนะ-ระบบการขนส่ง, การเดินทางโดยเครื่องบิน และการบริโภคอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เครื่องซักผ้าไปจนถึงโทรศัพท์มือถือ
ยกตัวอย่างเช่น บรรดาคนเมืองนั้นเป็นผู้ซื้ออาหารรายใหญ่ พวกเขาซื้ออาหารเพื่อโรงเรียน องค์กรต่างๆ ภายในเมือง และที่อื่นๆ นั่นหมายความว่าพวกเขาสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยเปลี่ยนวิธีการซื้ออาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังเช่นบรรดาโรงเรียนในนิวยอร์ก กำลังเริ่มต้นโครงการ “วันจันทร์ไร้เนื้อ” (Meatless Monday) ในปี 2019 อันเป็นโครงการที่กระตุ้นให้ชาวเมืองงดการกินเนื้อในทุกวันจันทร์เพื่อสุขภาพ และช่วยลดการปล่อยรอยเท้าคาร์บอนไปพร้อมกัน และทำให้เด็กๆ ในโรงเรียนมีสุขภาพดีขึ้น ส่วนในมิลาน ประเทศอิตาลี มีโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรให้ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งอาหารจากพื้นที่ไกลๆ
“กระบวนการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้จะต้องเกิดขึ้นทั้งในระดับการบริโภคแบบปัจเจกบุคคลไปจนถึงหน่วยงานระดับสูงที่ทำงานให้กับเมือง” แพทรีเซีย โรเมโอ-ลานเกา (Patricia Romeo-Lankao) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองกับสิ่งแวดล้อม ที่ห้องปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนระดับชาติที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด กล่าว
“แน่นอนว่า เราต้องเปลี่ยนรูปแบบของการใช้พลังงาน และวิถีชีวิตที่รักความสะดวกสบาย เช่นการซื้อเสื้อผ้า แต่ว่า เราต้องทำงานร่วมกับหน่วยงาน องค์กรขนาดใหญ่ที่ผลิตสินค้าเหล่านี้ และองค์กรต่างๆ ของเมืองด้วย”
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ยากที่สุดคือทัศนคติของคน แมตต์ วัตต์ ผู้เขียนรายงานหลักและผู้อำนวยการบริหารของเครือข่าย ซี40 กล่าวและเสริมว่า “เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนในรูปแบบของการบริโภค” คือการมุ่งไปสู่โลกที่เรามีการซื้อน้อยลง สร้างตึกน้อยลง และผลิตขยะน้อยลง “แต่ผลประโยชน์ที่เราจะได้รับกลับมานั้นมหาศาล นั่นคือการหลีกเลี่ยงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดการสร้างชีวิตที่ดีกว่าของพวกเรา”