การเมืองเรื่องน้ำ: ปัญหาการจัดการน้ำในเมืองไทย

ประเทศไทยเผชิญกับ ปัญหาน้ำท่วม มานานหลายทศวรรษ แผนการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ผุดขึ้นดูเหมือนไม่ช่วยแก้ไขให้เป็นอย่างเป็นรูปธรรม เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย สิทธิชัย จิตตะทัต

ตีพิมพ์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2557

ทางหลวงชนบทจากอำเภอทุ่งเขาหลวงมุ่งหน้าอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด แคบเพียงรถวิ่งสวนกัน สองข้างทางเป็นนาร้าง ทุกสองสามกิโลเมตร ปรากฏสุขภัณฑ์นั่งยองสีขาวบนไหล่ทางราวกับอนุสาวรีย์แห่งความทุกข์ “พอหน้านํ้าท่วม ชาวบ้านจะย้ายครัวมาอาศัยบนถนนครับ” สิริศักดิ์ สะดวก บอกที่มาที่ไปของฐาน

ปฏิบัติการปลดทุกข์เหล่านั้น เอ็นจีโอหนุ่มชาวศรีสะเกษผู้นี้ทำงานกับศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนในลุ่มนํ้าชีตอนล่าง องค์กรเอกชนที่เคลื่อนไหวต้านเขื่อนในแม่นํ้าชีแถบจังหวัดร้อยเอ็ด เขากำลังพาผมไปเยี่ยมชาวบ้านหลายคนในพื้นที่ “พอท่วมซํ้าซากทุกปี แล้วก็ท่วมหนัก ท่วมนานหลายเดือน ก็เลยสร้างส้วมถาวรไว้เสียเลย หน้านํ้าทีก็เอาสังกะสีมาล้อมบังตาเอา” เขาเฉลย

ความอายของการปลดทุกข์ริมทางหลวงคงเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วเมื่อเทียบกับความเดือดร้อนที่ชาวบ้านแถบนี้ประสบ ทุกปีนาข้าวและบ้านเรือนของพวกเขาต้องเผชิญนํ้าท่วมสูงถึงคอนานสองสามเดือนเป็นอย่างน้อย นานและซํ้าซาก (เกิน) พอจนทำให้พวกเขาเชื่อว่าเป็นผลมาจากเขื่อน [ทางราชการเรียก ฝาย] ร้อยเอ็ดกลางแม่นํ้าชีใกล้หมู่บ้านที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 “ต้องเป็นเพราะเขื่อนแน่ๆ ครับ ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้ แต่ก่อนมันท่วมก็จริง ไม่กี่วันก็หาย แต่นี่ท่วมได้ยังไงตั้งหลายเดือน” บุญจันทร์ สาระกลม ชาวนาในพื้นที่ บอกผม

เด็กชายลอยคออยู่กลางบ้านในตำาบลเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในมหาอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 วิกฤติการณ์คราวนั้น คือมูลเหตุของโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่เป็นประวัติการณ์ ทว่าหลายโครงการยังไม่ได้ข้อสรุปกระทั่งปัจจุบัน

เขื่อนร้อยเอ็ดเป็นหนึ่งใน 22 เขื่อนตามโครงการผันนํ้า “โขง-ชี-มูล” โครงการชลประทานขนาดยักษ์ที่เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2530 มีระยะเวลาดำ เนินการยาวนานกว่า 40 ปี ภายใต้งบประมาณ 228,000 ล้านบาท โดยพุ่งเป้าไปที่การผันนํ้าสู่พื้นที่เกษตรห่างไกลในภาคอีสานเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้ถึง 4.98 ล้านไร่ และหวังว่าปริมาณนํ้าทำการเกษตรที่เพียงพอจะช่วยลดปัญหาแรงงานชนบทอพยพเข้าสู่เมือง

“แต่มันยิ่งกลับทำให้คนหนีเข้าเมืองมากขึ้น เพราะอะไรรู้ไหมคะ ก็นํ้าท่วมไง มันอยู่ไม่ได้” อมรรัตน์ วิเศษหวาน ขึ้นเสียงสูง แม่บ้านผู้จงชังเขื่อนชนิดหัวชนฝา ระบายความอัดอั้น

การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เมื่อ 20 ปีก่อนเป็นเรื่องง่ายกว่าทุกวันนี้มาก ชาวบ้านหลายรายเล่าด้วยนํ้าเสียงขุ่นเคืองว่า พวกเขาไม่เคยมีส่วนร่วมใดๆกับการสร้างเขื่อน และไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร แต่ที่ชอกชํ้าที่สุดคือ เมื่อเกิดความเดือดร้อน เจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่เหลียวแล

บัว สาโพนทัน ชาวนาอีกรายที่ผันตัวมารับตำแหน่งประธานคัดค้านการสร้างเขื่อน เล่าว่า “ผมเคยไปร้องรัฐมนตรีเกษตร เค้าถามว่าไงรู้ไหม เค้าถามว่าร้อยเอ็ดนํ้าท่วมด้วยเหรอ ไม่เห็นรู้ ผมได้แต่ส่ายหน้าแล้วถามว่า ท่านเป็นถึงรัฐมนตรี แต่ไปอยู่ที่ไหนมา”

ชาวนาในจังหวัดชัยนาทกำลังเฝ้ารอสูบน้ำจากคลองชลประทานเข้าสู่ที่นาของตนเอง

สิริศักดิ์เล่าว่า สาเหตุของนํ้าท่วมในพื้นที่เกิดจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ภูมิประเทศลุ่มตํ่า การไม่เปิดประตูระบายนํ้าให้สอดคล้องกับฤดูกาล ไปจนถึงการถมลำนํ้าชีเดิมจนนํ้าระบายไม่ทัน และนํ้าหนุนจากแม่นํ้ามูลที่เชื่อมกับแม่นํ้าชีทางทิศใต้ในหน้านํ้า

“ชาวบ้านเคยเสนอให้แขวนบานประตูนํ้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเพื่อระบายนํ้า” เขาเล่าถึงทางการ “แต่เขาบอกว่า เดี๋ยวคนทางโน้นไม่มีนํ้าทำนา เห็นไหมครับ เขาจับชาวบ้านสองฝั่งมาทะเลาะกันอีก”

เรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย การจัดการนํ้าที่สร้างผลกระทบกับคนเล็กคนน้อย เป็นปัญหาเรื้อรังที่บ่มเพาะมาจากยุคการปฏิวัติเขียวช่วงต้น พ.ศ. 2500 การชลประทานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสูตรสำเร็จของการปฏิวัติเขียวทั่วโลก กลับเป็นงานยากในภูมิภาคที่มีระบบแม่นํ้าและลุ่มนํ้าซับซ้อนอย่างประเทศไทย

(อ่านต่อหน้า 2)

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างเขื่อน อ่างเก็บนํ้า และโครงสร้างทางวิศวกรรมสารพัด ทำให้ประเทศไทยมีเครื่องมือบริหารจัดการนํ้ามากมาย แต่คำถามคือ เพราะเหตุใด หลายพื้นที่ยังประสบปัญหานํ้าซํ้าซากแทบทุกปี ถ้าไม่แล้งจัดก็นํ้าท่วมหนัก นํ้าขังระบายช้า ยังไม่รวมถึงปัญหานํ้าเค็มที่รุกเข้ามาทางปากนํ้าต่างๆ ตลอดจนการกัดเซาะชายฝั่งอันเนื่องมาจากตะกอนปากแม่นํ้าลดลง

ภูเขาหัวโล้นในเขตอำาเภอภูหลวง จังหวัดเลย เกิดจากการบุกรุกป่าเพื่อแผ้วถางเป็นพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว พื้นที่ป่า ที่แปรสภาพไปเป็นต้นเหตุของหลายปัญหา ทั้งอุทกภัย ดินโคลนถล่ม  ตะกอนชะลงสู่แหล่งน้ำ และภัยแล้งซ้ำซาก

หลายฝ่ายผู้หน่ายการเมืองเชื่อว่า การเปลี่ยนขั้วรัฐบาลบ่อยครั้งทำ ให้นโยบายบริหารโครงการนํ้าไม่เคยมีความต่อเนื่อง การบริหารจัดการไร้ประสิทธิภาพแบบ “ต่างคนต่างทำ” ระบบราชการครํ่าครึที่ยังติดระเบียบและโครงสร้างยุ่งเหยิง (เป็นต้นว่า แม่นํ้าสายเดียวมีหน่วยงานรับผิดชอบสามถึงสี่หน่วยงาน แถมยังแยกกันทำงาน) การเมืองแทรกแซง และแสวงหาประโยชน์ นโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจน ตลอดจนฝนฟ้าผิดปกติจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การบุกรุกแผ้วถางป่า และการแปรสภาพพื้นที่ทางนํ้าเป็นที่อยู่อาศัย ทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงขึ้น เข้าทำนองมีคนที่ไหนมีปัญหาที่นั่น

กระทั่งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในที่ลุ่มภาคกลางเมื่อปี พ.ศ. 2554 จนสร้างความเสียหายนับแสนล้านบาทในเวลาเพียงไม่กี่เดือน เรื่องราวของนํ้าจึงถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง รัฐบาลฟาก “เสรีนิยม” เสนอแผนโครงการบริหารจัดการนํ้าที่ใช้เงินกว่า 3.5 แสนล้านบาท โครงการนี้เต็มไปด้วยแผนการก่อสร้างสุดโต่งที่แทบไม่เคยมีนักวิชาการด้านนํ้าคนใดในประเทศคิดมาก่อน เช่น การสร้างคลองผันนํ้า (บางคนเรียกว่า “แม่นํ้าสายใหม่”) ข้ามลุ่มนํ้าเพื่อช่วยระบายนํ้าในฤดูอุทกภัย โครงการ (ปัดฝุ่น) สร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าหลายแห่งที่คาราคาซังมาหลายสิบปี รวมทั้งการจัดสรรอำนาจการบริหารจัดการนํ้าไว้แบบรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ

ช่างเทคนิคกำลังเร่งมือติดตั้งอุโมงค์ยักษ์เพื่อระบายน้ำในเขตรัชดาฯ-สุทธิสารฯ อุโมงค์ยักษ์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางห้าเมตร ระยะทางหกกิโลเมตรนี้ จะช่วยระบายน้ำท่วมขังจากคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2559 อุโมงค์ยักษ์เป็นวิธีระบายน้ำอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งมีพื้นที่ต่ำกว่าระดับทะเล และมักประสบปัญหานำ้าท่วมขังเสมอเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน

ฝ่ายสนับสนุนเชื่อว่านี่คือการฉีกกรอบการบริหารจัดการนํ้าแบบเดิมๆที่เคยเป็นปัญหาเรื่อยมา แต่ฟากต่อต้านชี้ว่า โครงการเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามมา ทั้งระบบนิเวศล่มสลาย ทำลายทรัพยากรท้องถิ่น ตอกลิ่มความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน และเอื้อต่อการทุจริตครั้งมโหฬาร แน่นอนว่าท่ามกลางมรสุมทางการเมือง มหากาพย์ความขัดแย้งเรื่องนํ้าจึงปะทุขึ้น และแบ่งแยกความเห็นออกเป็นสองขั้ว เหมือนทุกความขัดแย้งในสังคมไทย

โครงการบริหารจัดการนํ้า 3.5 แสนล้านบาทยกนํ้าท่วมใหญ่ครั้งนั้นมาเป็นจุดขาย แนวคิดเบื้องต้นของโครงการนี้คือเร่งเดินหน้าก่อสร้างโครงการทางวิศวกรรมหลายแห่งในเวลาเพียงห้าปี แม้รัฐบาลจะชี้ว่าเป็นเสมือนการลงทุนทำประกันชีวิตสุขภาพประเทศจากภัยพิบัติ แต่ความรีบร้อนและวิธีการดำเนินงานแบบ “ทำไป ศึกษาไป” ก็ทำให้นักวิชาการด้านนํ้าหลายคนสุดจะทน

“ผมพูดเสมอว่ารัฐบาลใจร้อนเกินไป แล้วกำลังหลงทางเสียด้วยครับ” ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทานและนักวิชาการด้านนํ้ากล่าวและเสริมว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีนโยบายด้านนํ้าที่ชัดเจนจากรัฐบาลชุดใดๆ และไม่มีแม้กระทั่งหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพด้านนํ้า ต่างคนต่างทำงานในกรอบอำนาจแบบราชการไปวันๆ รวมทั้งแผนบริหารจัดการที่ใช้งบมหาศาลเร่งด่วนนี้ก็ขาดการวิเคราะห์รอบด้าน ต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหานํ้าเรื่องอะไร เงินแก้ปัญหาไม่ได้ทุกเรื่องเสมอไปหรอกนะครับ”

ชาวบ้านแม่ซา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เดินป่าเพื่อทำแผนที่สำหรับใช้เป็นหลักฐานกำหนดแนวเขตพื้นที่ทำกินและเขตป่าของชุมชน

การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่ยังเป็นที่กังขาว่าสามารถช่วยแก้ปัญหานํ้าได้อย่างยั่งยืนจริงหรือ โดยเฉพาะในภาวะที่ภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง โครงการที่เคยศึกษากันมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วอาจต้องคิดใหม่

“การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่คาดหวังไม่ได้ครับว่าจะแก้ปัญหานํ้าได้ เพราะจะมีนํ้าเต็มเขื่อนหรือเปล่าก็ไม่รู้ ฝนจะตกที่เหนือเขื่อนหรือเปล่าก็ตอบไม่ได้” รองศาสตราจารย์ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว “ตอนนี้เราต้องคิดแล้วครับว่า ระหว่างสร้างราคาหมื่นล้านตัวเดียวกับร้อยล้านร้อยตัว อันไหนคุ้มกว่ากัน อันไหนกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่ากัน”

(อ่านต่อหน้า 3)

โครงการบริหารจัดการนํ้าชะลอออกไปหลังรัฐประหาร รัฐบาลทหารเข้ามาพร้อมความพยายามในการปฏิรูป แต่การเมืองเรื่องนํ้ายังดำเนินต่อไป และยังไม่ได้บทสรุปความพรั่นพรึง (ตลอดกาล) ของคนกรุงเทพฯ คือนํ้าท่วม (รวมทั้งนํ้าขัง) พวกเขาห่วงบ้านและรถที่ยังผ่อนไม่หมดมากกว่ากังวลกับภัยแล้งเยี่ยงเกษตรกรในชนบท

สาเหตุคือสภาพพื้นที่ของกรุงเทพฯตํ่ากว่าระดับทะเล ซํ้าพื้นดินยังทรุดตัวอีกอย่างน้อยสองเซนติเมตรทุกปี อันเป็นผลจากการกระหนํ่าสูบนํ้าบาดาลและนํ้าหนักสิ่งปลูกสร้างกดทับยาวนาน คันกั้นนํ้าเป็นเครื่องมือเดียวสำหรับป้องกันนํ้าเหนือหลากในฤดูมรสุม แม้ว่าระดับนํ้าในแม่นํ้าเจ้าพระยาจะสูงกว่าระดับพื้นดินในบางแห่งด้วยซํ้า

ทุกวันนี้ สองฟากแม่นํ้าเจ้าพระยาขนาบด้วยคันกั้นนํ้าสูง 2.7 เมตร ยาวกว่า 70 กิโลเมตร และต้องเสริมให้สูงขึ้นทุกปี นักวิชาการเชื่อว่า อีกราว 30 ปีข้างหน้า คันกั้นนํ้าจะต้องสูงถึงห้าเมตรจึงจะพอปกป้องเมืองจากนํ้าท่วมได้

แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่กรุงเทพฯจะเลี่ยงนํ้าท่วมคูคลองเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับบริหารจัดการนํ้าในเมืองหลวง เครือข่ายคูคลองโบราณแสดงถึงภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกับสายนํ้าของบรรพบุรุษ ทว่าเมื่อถนนหนทางพัฒนา คูคลองเหล่านี้ก็หมดค่า แต่เมื่อปีพ.ศ. 2554 คูคลองเหล่านี้ก็พลิกโฉมกลับมาเป็นพระเอก เมื่อได้รับบทระบายนํ้าท่วมครั้งใหญ่

กรุงเทพฯ มีคูคลองรวมกัน ทั้งหมด 1,682 สาย และหากนำมาต่อกันจะยาวถึง 2,604 กิโลเมตร คูคลองเหล่านี้ยังเชื่อมโยงไปถึงอุโมงค์ระบายนํ้าขนาดยักษ์อีกสี่แห่งของกรุงเทพฯ แม้ว่านานๆ ทีจะมีนํ้าให้ระบายสักครั้งหนึ่ง ถ้ามองเรื่องการระบายนํ้าปัญหาคือคูคลองเหล่านี้ไม่สามารถใช้ระบายนํ้าได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะถ้าไม่ถูกรุกถมเป็นถนน ก็มักตื้นเขิน มีสิ่งปลูกสร้างขวางทางไหลของนํ้า หรือไม่ก็อุดมไปด้วยสวะและขยะมูลฝอย

ทหารและเจ้าหน้าที่แขวงการทางช่วยกันหนุนกระสอบทรายใต้แนวถนนที่ขวางทางนำ้าไหลในตำาบลปากแคว อำเภอ เมืองฯ จังหวัดสุโขทัย ถนนและสิ่งปลูกสร้างขวางทางนำ้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมขังนานและรุนแรงกว่าในอดีต

ชินรัตน์ ถนัดพจนามาตย์ หัวหน้ากลุ่มงานบำรุงรักษาคลอง 2 กองระบบคลอง สำนักการระบายนํ้า กรุงเทพมหานครบอกว่า การบุกรุกสองฝั่งคลองในกรุงเทพฯ ทำให้คลองแคบลง บ้านเรือนที่รุกลํ้าเป็นต้นเหตุของขยะปริมาณมหาศาล นํ้าตื้นเขิน และอุปสรรคสำคัญต่อการไหลของนํ้า “ลองคิดดูสิครับ ไหนจะติดสะพานของชาวบ้าน ไหนจะเอารถเข้าไปขนดิน ไหนจะกองสวะ แถมแค่เอาเครื่องจักรเข้าไปก็มีปัญหาแล้ว ชาวบ้านต่อต้าน นึกว่าเราจะมารื้อบ้าน”

แต่จริงหรือที่ชาวบ้านเป็นอุปสรรคต่อการ “เปิดทางนํ้าไหล” ที่ชุมชนร่วมใจพัฒนาเหนือริมคลองลาดพร้าว

“ป้าศรีไพร” แม่ค้าข้าวแกงวัยกลางคนชาวลพบุรี ผู้ย้ายตามสามีทหารมาตั้งรกรากริมคลองสายนี้กว่า 40 ปี บอกว่า “ถึงจะอยู่ริมนํ้า แต่ก็ไม่ใช่พวกเราทั้งหมดหรอกค่ะที่ทำให้นํ้าเสีย เพราะหน้าบ้านใคร ใครก็รัก” แกพูดขณะเด็ดใบกะเพรา และบอกว่าประตูนํ้าทางเหนือที่กักนํ้าสำหรับให้ชาวนามีนํ้าใช้ ทำให้คลองลาดพร้าวไม่เคยได้รับการระบายนํ้า แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือ หมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ ที่เกิดหลังชุมชนแห่งนี้ ลักลอบต่อท่อระบายนํ้าเสียปล่อยลงคลองนํ้าเสียที่เต็มไปด้วยตะกอนทำ ให้คลองตื้นเขินและนํ้าเน่า ”เมื่อก่อนนี้นํ้าใสขนาดเห็นตัวปลาเลยนะคุณ”

ปริมาณนํ้ามหาศาลฉับพลันเกี่ยวเนื่องกับภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ปริมาณนํ้าระเหยและความชื้นในอากาศเพิ่มมากขึ้น เมื่อปะทะกับความเย็นบนชั้นบรรยากาศจึงกลั่นตัวเป็นฝน ฝนที่ตกลงมาจะมีลักษณะเป็นหย่อมเล็กๆในหลายพื้นที่ แต่จะรุนแรง และมีปริมาณนํ้ามาก ดร.เสรีบอกว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความรู้ทางอุทกวิทยาที่เราเคยใช้มาแต่เดิม เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเลยครับ”

เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท รวมตัวกันหน้าศาลปกครองเพื่อคัดค้านโครงการ โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ

การรุกป่าต้นนํ้าเพื่อแผ้วถางเป็นพื้นที่ทำกิน คืออีกสาเหตุสำคัญของอุทกภัยฉับพลัน เพียงห้าปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551-2555) ผืนป่าธรรมชาติที่เคยรับหน้าที่ดูดซับนํ้าฝนลดลงกว่าห้าล้านไร่ ราคาพืชผลและการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ให้ผลตอบแทนดี รุกกลืนภูเขาที่เคยเขียวขจีกลายเป็นเขาหัวโล้น เมื่อไม่มีผืนป่าคลุมดิน ทุกฤดูมรสุมนํ้าเหนือที่เอ่อท้นจึงมีปริมาณมหาศาลและชะหน้าดินลงมาจากที่สูงจนมีสภาพเป็นสีชานม

นํ้าป่ายังเป็นเหตุของภัยดินโคลนถล่มบริเวณชุมชนที่ราบเชิงเขาแทบทุกปี ทางการมักแก้ปัญหาด้วยการเสริมงบโครงการปลูกป่า นั่นเป็นภาพที่สวยหรูสำหรับลงหน้าข่าวฝาก แต่ทุกวันนี้ ยังไม่มีข้อมูลวิชาการใดรับรองว่า ป่าที่ปลูกไปนั้นดูดซับนํ้าได้กี่ล้านลูกบาศก์เมตร จะเติบโตมีชีวิตรอดได้จริงหรือไม่ หรือจะไม่เป็นการตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า

(อ่านต่อหน้า 4)

นอกจากน้ำท่วม ก็ยังมีปัญหาภัยแล้ง ซึ่งไม่เพียงแค่เล่นงานภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ภาคอุตสาหกรรมก็ประสบปัญหาเช่นกัน โรงงานใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นจำนวนมากแถบจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรปราการสูบนํ้าบาดาลขึ้นมาใช้อย่างไร้การควบคุม ส่งผลให้แผ่นดินทรุดในอัตราสามถึงสี่เซนติเมตรต่อปี แม่นํ้าบางปะกงที่ขนาบด้วยโรงงานถูกนํ้าเค็มรุกเข้ามาทางปากแม่นํ้าจนเกือบถึง ตัวเมืองปราจีนบุรี ส่วนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใหญ่ทางภาคตะวันออกก็ประสบปัญหาเรื่องนํ้ารุนแรง ทั้งนํ้าเสียและนํ้าขาดแคลน

แม้ที่ราบลุ่มภาคกลางจะเป็นพื้นที่ชลประทาน ทว่าการขยายพื้นที่ทำนาอย่างไร้การควบคุมส่งผลให้เกิดปัญหาแย่งชิงน้ำ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ขณะที่ชาวบ้านในอำาเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ กำลังถวายอาหารเลี้ยงผีขุนน้ำ ที่เชื่อว่าจะช่วยปกปักผืนป่าและต้นน้ำที่พวกเขาพึ่งพิงมาช้านาน

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนํ้าประเมินตรงกันว่า แม้บางปีอ่างเก็บนํ้าในภาคตะวันออกจะมีนํ้าเต็มปริ่ม แต่ปริมาณนํ้าก็แทบไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น ขณะที่แนวคิดเรื่องการปันนํ้าจากลุ่มเจ้าพระยาไปป้อนให้อุตสาหกรรมตะวันออก ก็ยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าควรมีการชดเชยให้เจ้าของทรัพยากรนํ้าที่ถูกปันไปอย่างไร

การใช้นํ้าอย่างมีประสิทธิภาพเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ เทคนิคการปลูกพืชโดยใช้ผ้าใบคลุมดินเพื่อควบคุมความชื้นหรือประดิษฐ์ระบบจ่ายนํ้าหยดได้ผลจริงมาแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย เช่นเดียวกับประสิทธิภาพการใช้นํ้าในภาคอุตสาหกรรม

“เรื่องที่เราต้องคิดคือการนำนํ้ากลับมาใช้ใหม่ครับ” รองศาสตราจารย์ดร. บัญชา ขวัญยืน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน บอก เขายกตัวอย่างโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นที่นำนํ้าเสียบำบัดแล้ว กว่าร้อยละ 80 กลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่บำบัดเพื่อระบายทิ้ง แต่ใช้นํ้าดิบจากแหล่งธรรมชาติเต็มอัตราศึก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทำให้สงครามชิงนํ้ารุนแรงขึ้นในอนาคต และการปันนํ้าจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งอาจเป็นชนวนทำให้ความขัดแย้งเรื่องนํ้าเขม็งเกลียวขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านนํ้าชี้ว่า การอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อก่อสร้างโครงการด้านนํ้าขนาดใหญ่คงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะนอกจากจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ อย่างเช่นในอดีต ยังอาจใช้งานไม่ได้อย่างที่คาดหวัง เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เราไม่เคยดูเลยครับว่าโครงการที่สร้างจะใช้งานได้จริงหรือเปล่า มีแต่สร้างได้ตรงตามสเป็คหรือไม่” ดร.บัญชา บอก

(อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ที่ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2557)


อ่านเพิ่มเติม ระดับน้ำแม่น้ำโขงต่ำที่สุดในรอบ 100 ปี และส่งผลสะเทือนใหญ่หลวงต่อธรรมชาติ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.