กาแฟโรบัสตา : กว่าจะมาเป็นกาแฟคุณภาพระดับโลก

กาแฟโรบัสตา ที่ผลิตจากความใส่ใจ สู่รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์

แสงแดดยามเช้าในจังหวัดชุมพรช่วงฤดูฝนสาดลงยอดหญ้าสะท้อนน้ำค้างระยับ ฉันรีบเดินออกมาสูดอากาศที่เจือด้วยไอน้ำ และเดินไปหาอาหารรองท้องก่อนออกเดินทาง วันนี้ฉันมีนัดกับเจ้าของไร่กาแฟในอำเภอท่าแซะ เพื่อไปดูแหล่งผลิต กาแฟโรบัสตา คุณภาพที่ฉันกำลังนั่งจิบอยู่ในเช้านี้

จากตัวเมืองชุมพรเรามุ่งหน้าไปยังอำเภอท่าแซะ ใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมงเศษ เส้นทางขรุขระผ่านเรือกสวน ขึ้นเนินลงเนินกว่าสิบรอบ และยิ่งเป็นช่วงหน้าฝนด้วยแล้ว ความยากลำบากในการเดินทางยิ่งเพิ่มขึ้นกว่าเดิม แต่ต้องยอมรับในฝีมือการบังคับรถของพี่คนขับรถ ที่สามารถนำพาพวกเราทั้งหมดมาถึงจุดหมายปลายทางได้

ทางดินที่ตัดเข้าสวนพี่พานิชเลียบไปกับสวนยางพารา ทำให้การเดินทางครั้งนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด

บรรยากาศช่วงสายอวลไปด้วยความชื้นในอากาศที่ระเหยขึ้นมาจากพื้นดิน สมกับเป็นเมืองที่มีฝนตกชุกเกือบทั้งปี ระหว่างทางที่เราผ่านมา ฉันเห็นสวนผลไม้ สวนปาล์ม และต้นกาแฟปลูกเรียงรายอยู่ไหล่ทาง  เราเดินอยู่ในพื้นที่ไร่กาแฟของพี่พานิช ชูสิทธิ์ เกษตรกรผู้อยู่เบื้องหลังรสชาติกาแฟโรบัสตา ที่สร้างชื่อในเวทีระดับโลกมาแล้ว

บริเวณทางเข้า ฉันเห็นต้นกล้ากาแฟวางเรียงรายอยู่ใต้ผืนผ้ากรองแสงแดดสีทะมึน เราเดินผ่านถนนดินแดงขึ้นไปบนเนินในส่วนของตัวบ้าน พี่พานิชออกมาต้อนรับพวกเราด้วยรอยยิ้มอย่างดีใจ เรานั่งพักจิบน้ำเย็นให้พอหายเหนื่อย แล้วพี่พานิชก็พาเราขึ้นรถกระบะเปื้อนโคลนไปสู่ไร่กาแฟที่เป็นความภาคภูมิใจของเขา

พี่พานิชพาเราไปบนจุดสูงสุดในไร่กาแฟ มองเห็นทิวทัศน์ป่าชุมพรไกลสุดตา

ระหว่างทางเราพลางพูดคุยและสอบถามถึงความเป็นมาเป็นไปของการปลูกกาแฟโรบัสต้าที่ชุมพร พี่พานิชเล่าย้อนไปถึงสมัยยุคบุกเบิก ที่ต้องผลิตเมล็ดกาแฟให้กับบริษัทเอกชนรายใหญ่ จนเวลาล่วงเลยผ่านไป พี่พานิชเล็งเห็นว่า เราน่าจะสร้างรสชาติกาแฟที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ จึงเริ่มลงมือศึกษา ค้นคว้า และลองผิดลองถูก “ด้วยตนเอง

บนความสูงประมาณ 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล เรายืนอยู่บนจุดสูงสุดของไร่กาแฟ เบื้องหน้าเรามองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนทอดยาวไปจรดชายฝั่งทะเล มีฉากหน้าเป็นต้นกาแฟที่กำลังออกผลเบอร์รี่ทั้งสีเขียวและสีแดง ฉันรู้สึกลิงโลดในใจเหมือนเด็กที่ได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ “เมล็ดที่อยู่บนต้นพวกนี้ยังเก็บเกี่ยวไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลา” พี่พานิชเล่าระหว่างจับกิ่งกาแฟกิ่งหนึ่งชูขึ้นให้เราดู “ถ้าเป็นสวนที่ใช้สารเคมี เมล็ดจะขึ้นเต็มข้อมากกว่านี้ แล้วเขาก็เก็บเกี่ยวผลกาแฟรวมกันไปทั้งหมดเลย

ผลกาแฟสีแดงและเขียวเกาะติดอยู่บนกิ่งที่ทอดยาว

ในสวนกาแฟของพี่พานิชเป็นการปลูกกาแฟเชิงอินทรีย์ จึงได้ผลผลิตในปริมาณที่ไม่เยอะมาก แต่พี่พานิชบอกว่า “เราสามารถควบคุมรสชาติได้” แนวความคิดที่อยากให้กาแฟมีรสชาติที่แตกต่างเริ่มจากพี่พานิชชอบดื่มกาแฟ แล้วรู้สึกว่ากาแฟในท้องตลาดที่ขายอยู่ทั่วไปมีกระบวนการคั่วแรงมากเกินไป ทำให้รสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์หายไป พี่พานิชจึงอยากปรับปรุงรสชาติกาแฟในสวนของตัวเอง

เราเดินผ่านไร่กาแฟกลับลงไปยังด้านล่าง ระหว่างทางเราเดินลอดต้นกาแฟและเห็นความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในไร่กาแฟ

จุดเริ่มต้นคือการคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟโรบัสตา เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของจังหวัดชุมพร กระบวนการเตรียมดินที่พิถีพิถัน ตั้งแต่การศึกษาแร่ธาตุในดิน เพื่อการบำรุงต้นกาแฟอย่างถูกวิถี ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวผลกาแฟ กระบวนการหมักและการตากเล็ดกาแฟ การสีเปลือกกาแฟ การคั่ว รวมไปถึงขั้นตอนการชงกาแฟที่ถูกวิถี กระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนส่งผลต่อรสชาติกาแฟ

กว่าจะมาเป็นกาแฟรสชาติกลมกล่อมคุณภาพสูงต้องผ่านการลงมือลงแรงอย่างสูง ผลผลิตเมล็ดกาแฟของพี่พานิชจึงได้เปรียบในการกำหนดราคาเอง เนื่องจากไม่ใช่กาแฟรสชาติที่หาได้ทั่วไป แต่เป็นกาแฟที่มีความพิถีพิถันตั้งแต่เริ่มปลูกต้นกาแฟ จากประสบการณ์ของฉัน รสชาติกาแฟที่ได้ลิ้มลองเป็นรสชาติที่ต่างออกไปจริงๆ กลิ่นเบอร์รี่ของกาแฟยังติดอยู่ที่ลิ้นขณะที่ฉันกลืนกาแฟผ่านลงคอ ความหอมอันเป็นเอกลักษณ์จากกาแฟคั่วสดเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในยามที่เรายกแก้วกาแฟขึ้นใกล้จมูก

เมล็ดกาแฟที่คั่วจนหอมฟุ้งไปทั่วลานบ้าน

พี่พานิชยกตัวอย่างให้เราดูกันตรงนั้นโดยการใช้ความร้อนที่แตกต่างกันสำหรับคั่วเมล็ดกาแฟชนิดเดียวกัน ผลที่ได้คือรสชาติของกาแฟที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง “นี่เป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้นที่ส่งผลต่อรสชาติกาแฟ” พี่พานิชบอกและเสริมว่า “กาแฟคุณภาพที่นำไปแข่งขันระดับโลกต้องคั่วอ่อนได้” จากกระบวนการทั้งหมดที่พี่พานิชเล่าให้ฟัง ฉันเข้าใจเลยว่า เพราะเหตุใดพี่พานิชจึงกำหนดราคาเมล็ดกาแฟต่อกิโลกรัมได้สูงกว่าท้องตลาด

ในวันนั้น ผู้ร่วมเดินทางของเรามีทั้งเจ้าของโรงแรมที่ซื้อเมล็ดกาแฟของพี่พานิช และเกษตรกรรุ่นใหม่ เรามีโอกาสได้พูดคุยกันว่า ทำไมถึงเลือกใช้เมล็ดกาแฟของที่นี่เสิร์ฟให้ลูกค้าในโรงแรม “ผมอยากสนับสนุนของท้องถิ่น แล้วกาแฟของพี่พานิชก็สร้างเรื่องราวได้” พี่คม – คม ศรีราช เจ้าของโรงแรมวิลล่า วาริช อธิบายและเสริมว่า “ผมสามารถเล่าเรื่องที่มาที่ไปของกาแฟให้กับลูกค้าฟังได้ และรสชาติกาแฟก็เป็นความประทับใจหนึ่งของลูกค้าที่มาพักกับเรา

พี่คม (ซ้าย) และพี่พานิช กำลังช่วยกันคั่วกาแฟและคุมอุณหภูมิให้ได้ตามความต้องการ

ถ้าเราใช้สารเคมีเยอะๆ ในไร่กาแฟ ดินของเราก็จะเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ แล้วเราก็ต้องลงทุนกับการปรับปรุงดินใหม่” พี่พานิชเล่าระหว่างยกกาแฟมาเสิร์ฟพวกเรา “แต่ถ้าเราทำการเกษตรแบบอินทรีย์ สภาพแวดล้อมในสวนของเราก็ดีตามไปด้วย เรามีเวลาทุ่มเทกับเรื่องการพัฒนารสชาติของเรา

แนวคิดของพี่พานิชพาให้ฉันนึกถึงหลักความยั่งยืนในการสร้างผลผลิต มันอาจดูยากลำบากและไม่สวยหรูนักในช่วงแรก แต่ถ้าเราทำจนเป็นกระบวนการแล้ว เราก็จะมีผลผลิตคุณภาพดีออกสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยที่เราไม่ต้องลงทุนกับเรื่องเดิมๆ เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง และกระบวนการความใสใจตั้งแต่เริ่มต้นก็ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดี จำหน่ายได้ในราคาที่เกษตรกรสามารถกำหนดได้เอง

เรื่อง: ณภัทรดนัย

ภาพถ่าย: เอกรัตน์ ปัญญะธารา

พบกับบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตได้ที่งาน SB CHUMPHON ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

https://www.sustainablebrandsbkk.com/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ท่องเที่ยวชุมชน ที่บ้านบางหมาก จังหวัดชุมพร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.