แนวทางการจัดการขยะชายหาดแบบเกาะบาหลี

นักท่องเที่ยวขี่ม้าผ่านชายหาด Kedonganan ที่ เกาะบาลี ในวันที่ 27 มกราคม 2019 ทุกปีในช่วงหน้าฝน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม จะมีขยะหลายตันเกยขึ้นฝั่ง ทำให้ฤดูนี้มีอีกหนึ่งชื่อเล่นว่า ฤดูขยะ


ทั้งมาตรการห้ามใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และสร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้คน นี่คือสิ่งที่ เกาะบาหลี พยายามทำเพื่อรักษาชื่อเสียงของชายหาดอันเก่าแก่และปกป้องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเกาะเอาไว้

แม้ เกาะบาหลี จะได้รับการขนานนามว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีความสวยงามมาอย่างยาวนาน แต่ในขณะนี้ บาหลีกำลังเผชิญปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะ พฤติกรรมการใช้ขวดและถุงพลาสติกในระหว่างการท่องเที่ยวที่ฝังรากลึก และขาดความตระหนักรู้ในวงจรขยะพลาสติกเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนการทิ้ง การลงสู่ทะเล และได้รับการเก็บขึ้นมาในฐานะขยะชายหาดอีกครั้ง

ในปี 2015 งานวิจัยจากนิตยสาร Science เรื่อง 20 อันดับประเทศที่มีการจัดการขยะย่ำแย่ระบุว่า อินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 2 (อันดับที่ 1 คือจีน) ซึ่งทางรัฐบาลอินโดนีเซียได้ยอมรับเช่นกันว่า ขยะพลาสติกโดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอ

ในปี 2018 อินโดนีเซียมีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 15.8 ล้านคน โดยมี 6.8 ล้านคนที่เลือกไปบาหลี ซึ่งมีสถิติที่นักท่องเที่ยวได้ผลิตขยะโดยเฉลี่ย 1.7 กิโลกรัม/คน/วัน ในขณะที่ชาวบ้านผลิตขยะอยู่ที่ 0.5 กิโลกรัม/วัน
มีเพียงขยะจำนวนครึ่งหนึ่งในบาหลีที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ส่งผลให้มีขยะพลาสติกราว 33,000 ตันอยู่ในทะเลทุกปี โดยในทุกวันมีขยะเกิดขึ้น 4281 ตัน/วัน มีเพียงร้อยละ 48 เท่าที่ได้รับการจัดการโดยวิธีการฝังกลบและนำกลับไปใช้ใหม่

หมู่เกาะบาหลีจึงมีความพยายามในการจัดการปัญหาเรื่องปัญหาพลาสติก ซึ่งเริ่มปรากฏผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยในปลายปี 2018 วายัน คอสเตอร์ ผู้ว่าราชการของเกาะบาหลีประกาศห้ามการใช้ถุงพลาสติก, พลาสติกประเภทโพลีสไตรีน (Polystyrene) และหลอดพลาสติกบนเกาะ และรัฐบาลอินโดนีเซียก็ให้คำมั่นว่า จะลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2015 นอกจากนี้ รัฐบาลบนเกาะบาหลีได้เปลี่ยนพื้นที่ฝังกลบขยะชื่อว่า ซูวัง ที่มีขนาดราว 200 ไร่ ซึ่งใหญ่ที่สุดของเกาะ ให้เป็นสวนสาธารณะเชิงนิเวศ (eco-park) และโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ

เปลี่ยนความคิด

นักท่องเที่ยวมักนำอาหารลงไปที่ชายหาดเตตัลวังงี ในขณะที่เฝ้าชมดวงอาทิตย์ ซึ่งมักก่อให้เกิดขยะตามมามากมาย
นักท่องเที่ยวช่วยเก็บที่ชายหาดบาตูโบลอง

นอกเหนือไปจากหน่วยงานรัฐบาล ชาวบาหลีบางส่วนได้เริ่มลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเองเช่นกัน ดังเช่น เมลาตี และ อิซาเบล วิจเซน คู่พี่น้องสองสาว ได้ก่อตั้งโครงการ Bye Bye Plastic Bag เมื่อหกปีที่แล้ว ในตอนที่เธอมีอายุ 12 และ 10 ขวบ ต่อมาโครงการนี้ได้กลายเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทางสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในบาหลี

เมลาตี ซึ่งในขณะนี้มีอายุ 18 ปี กล่าวว่า “การเปลี่ยนความคิดของผู้คนเป็นงานหลักของเรา เราอยากช่วยให้พวกเขาเข้าใจความสำคัญว่าทำไมเราต้องปฏิเสธการใช้พลาสติก”

เธอกล่าวว่า ตั้งแต่โครงการ Bye Bye Plastic Bag เริ่มต้นขึ้น บรรดาคนหนุ่มสาวในบาหลีได้เริ่มตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกมากขึ้น

ทางออกอันสร้างสรรค์

ป่าชายเลนใกล้กับตาฮูรางูราห์ไร เต็มไปด้วยขยะพลาสติก

อย่างไรก็ตาม การออกกฎห้ามใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งได้มีการคัดค้านจากบรรดาผู้ผลิตพลาสติก โดยพวกเขายืนกรานว่า การจัดการขยะสมควรได้รับการปรับปรุงแทนการลดการใช้ โดยสมาคมโอเลฟิน อะโรแมติกส์ และพลาสติกของอินโดนีเซีย (Indonesian Olefins, Aromatics and Plastics Association – INAPLA) กล่าวว่าการสั่งห้ามใช้พลาสติกจะเป็นสิ่งปิดกั้นการค้นหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ในการจัดการขยะมากขึ้น

EcoBali กลายมาเป็นบริษัทที่เสนอทางออกให้กับปัญหานี้ โดย เปาลา กันนุกเซียรี ผู้ที่อาศัยอยู่ในอินโดนีเซียมากกว่าสองทศวรรษ ได้ก่อตั้ง EcoBali มาตั้งแต่ปี 2006 กล่าวว่า “เราเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่บุกเบิกในเรื่องการแยกขยะ และเก็บรวบรวมขยะอนินทรีย์ ซึ่งในส่วนของขยะอินทรีย์ (เช่นเศษอาหาร) เราหวังว่าผู้คนจะเริ่มการทำปุ๋ยหมัก และพวกเขาสามารถใช้ระบบการทำปุ๋ยหมักของเราได้”

โดย EcoBali จะรวบรวมขยะอนินทรีย์ และนำไปยังศูนย์คัดแยกที่หมู่บ้านคังกู ในเกาะบาหลี และส่งพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ที่ศูนย์ในเกาะชวา

คนงานกำลังนำวัสดุจากพลาสติกไปทำความสะอาดและตัดเป็นชิ้นๆ ในศูนย์รีไซเคิลขยะ Re>Pal ที่เมือง ปาสุรวน, ที่เกาะชวาตะวันตก โดยศูนย์แห่งนี้รีไซเคิลถุงพลาสติก หีบห่อพลาสติก และบรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกให้เป็นพลาสติกรองรับสินค้า (Plastic Pallet) ซึ่งสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 1 ตัน
พลาสติกรองรับสินค้าที่เพิ่งผลิตเสร็จกำลังได้รับการตรวจสอบคุณภาพ โดยที่ศูนย์ Re>Pal จัดการขยะพลาสติกได้มากถึง 10,000 ตันต่อปี ในจำนวน 240 ตันนั้นมาจากบาหลี

Avani Eco เป็นองค์กรที่พัฒนาถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหาร ที่สามารถย่อยสลายได้ และผลิตหลอดที่ทำมาจากมันสำปะหลัง โดยเควิน คูมาลา ผู้ก่อตั้ง กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ของเขาสามารถละลายในน้ำได้ ไม่มีพิษ และสามารถย่อยสลายได้

“ผมคิดว่านอกเหนือจากหลัก 3R ที่ประกอบไปด้วย REDUCE (ลดการใช้), REUSE (ใช้ซ้ำ), RECYCLE (รีไซเคิล) แล้ว เราต้องรวมไปถึงการ REPURPOSE (นำกลับมาใช้ใหม่ในอีกรูปแบบ) และ REPLACE (ใช้วัสดุอื่นทดแทน) มันไม่เพียงพอที่จะยึดติดอยู่กับรูปแบบ 3R แบบเดิม” คูมาลากล่าวและเสริมว่า “สำหรับในประเทศนี้ เพื่อหลีกหนีจากปัญหาการกระจายของพลาสติก เราต้องให้ทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ด้วย”

เรื่อง AMANDA TAZKIA SIDDHARTA
ภาพ NYIMAS LAULA


อ่านเพิ่มเติม การทำความสะอาดชายหาดไม่อาจเก็บขยะพลาสติกจำนวนหลายล้านชิ้น

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.