ธนาคารปู กับความยั่งยืนทางอาหาร

เธอก่อตั้ง ธนาคารปู ขึ้นมา เพราะเธอเห็นว่าทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำลังเสื่อมโทรม

เสียงเรือดังอื้ออึงไปทั่วลำคลองส่งคลื่นน้ำกระทบฝั่งดังโครมครามมาจากใต้ถุนบ้าน บ้านเรือนแต่ละหลังสร้างขึ้นมาง่ายๆ บ้างจากไม้ บ้างจากปูนรูปทรงทันสมัย ฉันอยู่ที่บ้านหัวถนน ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ที่นี่ ชาวประมงรวมตัวกันตั้ง ธนาคารปู หรือชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปูปากน้ำชุมพร เพื่อรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอันมีค่าของพวกเขาให้มีความยั่งยืน

ถังพลาสติกตั้งเรียงรายอยู่บนนชานไม้ นับได้เกือบห้าสิบใบ แต่ละใบมีแม่ปูที่กำลังรอวางไข่ และบางถังก็เป็นกลุ่มพวงไข่หมึกที่รอฟักเป็นตัว สมาชิกในบ้านต้อนรับเราและเชิญให้เราไปนั่งบริเวณริมน้ำ น้องอุ้ม แกนนำชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปู ปากน้ำชุมพร และสมาชิกในบ้าน ใช้พื้นที่บ้านของตัวเองในการเป็นแหล่งอนุบาลปูไข่ที่ติดมากับลอบวางปูของชาวประมง

ถังพลาสติกที่เลี้ยงแม่ปูไข่ แต่ละถังมีสายออกซิเจนต่อลงไป เพื่อให้สร้างสภาวะที่เหมาะสมกับปู

เมื่อก่อนเราไม่เคยทำแบบนี้หรอกค่ะ เราทั้งจับกิน และเอาไปขายทั้งหมด ทั้งปูไข่ ปูเล็ก เราจับหมด” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงทองแดงอย่างน่ารัก “จนมาถึงช่วงสองปีก่อน เราจับปูไม่ได้เลย หรือได้น้อยมาก” น้องอุ้มเล่าถึงสถานการณ์ที่เธอและชาวประมงในละแวกนี้พบเจอ ครอบครัวของเธอและชาวบ้านตระหนักดีว่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันเป็นปากท้องของพวกเขากำลังเสื่อมโทรม

ลานไม้ที่หน้าของน้องอุ้มติดกับคลองที่ไหลลงสู่ทะเล

เธอจึงเสนอเรื่องนี้กับที่บ้านว่าต้องการทำธนาคารปู เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลปูไข่และปูขนาดเล็ก ก่อนจะนำแม่ปูและไข่ปูกลับไปปล่อยคืนสู่ทะเล พ่อของเธอถามความสมัครใจของเพื่อร่วมอาชีพในละแวกนั้น หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ก่อนจะไม่มีอาหารเหลือให้เรามีกิน

ทางครอบครัวเราเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการดูแลปูทั้งหมด” เธอเล่าและเสริมว่า “สมาชิกในชมรมให้แม่ปูที่มาฝากเราไว้เป็นค่าตอบแทน” ฉันเห็นกระบวนการใส่ใจของเธอในการเรียนรู้ ดูแล และจัดการกับปูเหล่านี้ ฉันรู้สึกประหลาดใจในเยาวชนหญิงผู้ไม่ได้ศึกษามาทางวิทยาศาสตร์ และอายุเพียงยี่สิบต้นๆ เท่านั้น แต่เธอเรียนรู้และสังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัว เพื่อสร้างสภาวะที่เหมาะสมในการเลี้ยงปูในถังพลาสติก

น้องอุ้มตักน้ำที่มีตัวอ่อนให้เราดู ในแก้วใบนี้มีลูกปูในระยะ zoea นับล้านตัว
นอกจากแม่ปูไข่แล้ว สมาชิกที่ดักจับไข่สัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น ไข่หมึกกล้วย (ในภาพ) ก็นำมาฝากชมรมเลี้ยงก่อนนำไปปล่อย

ประสบการณ์ที่หนูเติบโตมากับทะเลตั้งแต่เด็ก ช่วยให้หนูเข้าใจว่าต้องเลี้ยงปูอย่างไรค่ะ” สายตาเธอแน่วแน่แต่เจือความไร้เดียงสา เธอคือเยาวชนคนหนึ่งที่อยากเห็นทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังสมบูรณ์ เพราะวิถีชีวิตของเธอต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ ไม่มีอาหารก็ไม่มีชีวิต ตอนเริ่มต้นทำงานอนุรักษ์เธอไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่ผลจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาเกือบสิบเดือน เธอเห็นผลของการลงมือทำอย่างจริงจัง นั่นคือ ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปูได้อย่างต่อเนื่องแม้เป็นฤดูมรสุม

จากความตั้งใจจริงในการอนุรักษ์ เธอจึงได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งองค์กรรัฐ และมหาวิทยาลัย สำหรับสร้างองค์ความรู้ในการดูแลสัตว์น้ำ เพื่อให้เธอสามารถถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ไปยังคนอื่นๆ ที่สนใจต่อไป

จำนวนไข่ปูที่เธอและชมรมฯ ช่วยกันปล่อยกลับคืนสู่ทะเลเป็นจำนวนมหาศาลนั้น ส่อเค้าไปในทางที่ดีขึ้น ฉันเห็นรอยยิ้มของพ่อเธอในขณะที่เล่าถึงสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลในปัจจุบันให้เราฟัง “เราตั้งกติการ่วมกันในชุมชน โดยการวางแนวเขตห้ามล่าที่ชัดเจน และใช้มาตรการในชุมชนนี่แหละเป็นตัวจัดการก่อนจะไปถึงการออกกฎหมาย” พ่อของน้องอุ้มเล่า ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของชุมชนคือกุญแจความสำเร็จในครั้งนี้ ปัจจุบัน ชมรมมีสมาชิกที่ลงชื่อเข้าร่วมจำนวน 45 คน ทุกคนที่จับปูไข่ได้ก็นำมาให้ที่ชมรมเลี้ยง และน้องอุ้มก็เป็นคนจัดการเอาไปปล่อยเมื่อไข่หลุดออกจากตัวแม่

เรือประมงชาวบ้านพาเราออกจากลำคลองสู่ทะเลเปิดเพื่อปล่อยลูกปู

ในวันนั้น เรามาถึงในช่วงเวลาที่น้องอุ้มต้องออกไปปล่อยตัวอ่อนปู เราจึงถือโอกาศติดตามออกไปดูกระบวนการปล่อยไข่ด้วย ลมทะเลพัดปะทะหน้าในตอนที่เรือแล่นจากคลองออกสู่ทะเล จุดปล่อยปูมีทุ่นสีส้มเด่นชัดเป็นเครื่องหมายให้ทุกคนรู้ว่าห้ามล่าสัตว์ทุกชนิดในบริเวณนี้ ไข่ปูที่หลุดออกมาจากตัวแม่ จำเป็นจะต้องนำไปปล่อยลงทะเลภายใน 48 ชั่วโมง หรือเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มอัตราการรอดให้กับตัวอ่อนของปู “ช่วงนี้ เราออกมาปล่อยไข่ปูทุกวันเลยค่ะ ถ้าหนูไม่ได้มา น้องชายก็มาแทน” น้องอุ้มเล่าให้เราฟัง

ทุกวัน น้องอุ้มต้องออกเรือในเวลาบ่ายแก่ๆ เพื่อออกมาปล่อยลูกปูที่เธออนุบาล

พระอาทิตย์คล้อยไปหลังป่าชายเลน ความมืดคืบเข้ามาแทนฟ้าสีคราม แม่ของน้องอุ้มยกสำรับเล็กๆ ออกมาให้พวกเราลองชิมอาหารทะเลสดๆ ทั้งทอดมันปลาอินทรีย์ และผัดหมึกกล้วย ด้วยความสดของอาหารจึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรุงรสมากนัก แต่รสชาติกลับเป็นที่ถูกอกถูกใจของพวกเราทุกคน ค่ำวันนั้น เรานั่งคุยกันอยู่ริมน้ำต่ออีกพักใหญ่ เรื่องราวที่พูดคุยก็เป็นเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับชีวิตของเธอว่าต่อจากนี้อยากพัฒนาชมรมต่อไปอย่างไร “หนูคิดว่า อยากให้ชาวประมงที่ทำประมงพื้นบ้านทุกคนตระหนักเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งค่ะ” เธอบอกและเสริมว่า “ถ้าเราทำแค่กลุ่มเดียว มันก็ได้ผลเท่านี้ แต่ถ้าทุกคนช่วยกันมันก็จะเห็นผลใหญ่ขึ้น

บรรยากาศยามอัสดงบนลานที่เป็นทั้งบ้านและแหล่งอนุบาลปูไข่

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของลูกสาวชาวประมง เวลาผ่านไปไม่นาน เธอสร้างประชากรปูกลับคืนมาในแหล่งธรรมชาติได้อีกครั้ง เพราะความร่วมมือของคนในชุมชนที่เห็นความสำคัญของทรัพยากรที่ตนจำเป็นต้องพึ่งพา และเห็นถึงผลกระทบต่อชีวิตที่ต้องสูญเสียทรัพยากรไป จึงเกิดจิตสำนึกขึ้นจากประสบการณ์ตรงที่ชาวบ้านได้พบเจอกับตัวเอง สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนในชุมชน เมื่อเกิดความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติ ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจก็ตามมา

เรื่อง: ณภัทรดนัย

ภาพถ่าย: เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ข้อมูลเพิ่มเติม 

ชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปูปากน้ำชุมพร จังหวัดชุมพร 

https://www.sustainablebrandsbkk.com/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กาแฟโรบัสตาฝีมือเกษตรกรไทย ที่สร้างชื่อเสียงระดับสากล

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.