ชิ้นส่วนแห่งความแตกต่าง: กระบวนการฟื้นชีวิตเศษผ้าสู่สินค้าหรูในจีน

Wei Daxun นักแสดงและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และ Hannah Reyes Morales ช่างภาพ อยู่ที่เมืองกานโจว ประเทศจีน เพื่อดูว่ามีการนำ เศษผ้า ที่เหลือทิ้งจากการผลิตมาใช้และเปลี่ยนเป็นสินค้าใหม่อีกครั้งได้อย่างไร


ความยั่งยืนคือประเด็นที่โลกแฟชั่นจำเป็นต้องเดินตาม และแบรนด์หรูอย่างปราดา (Prada) ก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ผ่านโครงการ “ใช้ไนลอนอีกครั้ง” (Re-Nylon Project) ที่ปราดาร่วมมือกับโครงการอัพไซเคิล (Upcycle – การเปลี่ยนวัสดุที่ไม่ใช้แล้วให้มีคุณภาพดีกว่าเดิม) ทั่วโลก เพื่อเปลี่ยน เศษผ้า เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ตั้งแต่พรมเก่าไปจนถึงแหตกปลา ให้เป็นสินค้าใหม่อีกครั้ง

ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้ามากถึง 1 ใน 3 จากจำนวนราวแสนล้านชิ้นที่ผลิตขึ้นมาบนโลกทุกปี พาราวิน (Parawin) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าเหล่านั้น ตั้งอยู่ชานเมืองกานโจว มณฑลเจียงซี ทางตอนใต้ของประเทศจีน ดูเผินๆ โรงงานนี้เหมือนโรงงานผลิตเสื้อผ้าแห่งอื่นๆของประเทศจีน แต่ความจริงแล้ว โรงงานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการต้นแบบที่จะทำให้สินค้าแฟชั่นมีความยั่งยืนมากขึ้น

แม้กานโจวจะไม่ใช่หนึ่งในเมืองใหญ่ของจีน ด้วยจำนวนประชากรเพียง 1.2 ล้านคน แต่เมืองก็เต็มไปด้วยตึกระฟ้ากระจายเป็นหย่อมๆ เครนก่อสร้างแขวนอยู่ตามตึกที่กำลังก่อสร้างมากมาย เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของเมืองซึ่งเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 12.5 ต่อปี

เมืองกานโจวที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีนเป็นมีศูนย์กลางของเมืองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยประเทศจีนผลิตเสื้อผ้าส่งออกเป็นจำนวนราว 1 ใน 3 ของโลก

กานโจวเป็นเมืองที่มีประวัติยาวนานถึง 2,000 ปี นับตั้งช่วงราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมา ทุกวันนี้ เมืองยังมีบรรยากาศที่ผสมผสานระหว่างความโบราณกับความทันสมัย เช่นเดียวกับโรงงานพาราวิน เมื่อสองปีที่แล้ว ทางโรงงานได้ร่วมมือกับ Aquafil บริษัทสัญชาติอิตาลีที่ตั้งโครงการต้นแบบ ซึ่งมีเป้าหมายในการนำเอาเศษผ้าจากโรงงานผลิตเสื้อผ้าเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตอีกครั้ง โดย Aquafil เป็นผู้นำระบบการผลิตหมุนเวียนที่เปลี่ยนไนลอนทิ้งแล้วให้เป็น ECONYL หรือไนลอนที่นำกลับมาผลิตใหม่อีกครั้ง พวกเขาใช้ไนลอนเหลือทิ้ง ทั้งจากพรมเก่าที่มักจะจบลงด้วยการนำไปฝังในหลุมฝังกลบ และแหตกปลาที่ถูกทิ้งแล้วถูกกระแสน้ำในมหาสมุทรพัดพาไป ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของขยะพลาสติกในมหาสมุทร บริษัทนี้ตั้งใจเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ใช้งานของเสียที่เกิดจากการผลิตในโรงงานผลิตเสื้อผ้า

โรงงานพาราวินในเมืองกานโจวผลิตสิ่งทอจากไนลอนให้สินค้าแบรนด์ยุโรป สองปีที่แล้ว พาราวินร่วมกับ Aquafil ผู้ผลิตอีโคไนลอน ให้ดำเนินการกับเศษผ้าที่เหลือจากการผลิต

เมื่อเร็วๆ นี้ ปราดาและบรรดาผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นชั้นนำของโลกได้ลงนามใน “สนธิสัญญาแฟชั่น” (Fashion Pact) เพื่อให้บรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้ (ปี 2050) ด้านผู้บริโภคเองก็เพิ่มปัจจัยความยั่งยืนในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้ามากขึ้นว่า จะซื้ออะไร และซื้อเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม มีผู้บริโภคไม่กี่คนที่ตระหนักว่าระหว่างกระบวนการผลิตเสื้อผ้ามีเศษผ้าที่เกิดจากการผลิตถึงร้อยละ 15

โดยปกติ เศษผ้าไนลอนที่เกิดจากการผลิตเสื้อผ้าจะถูกนำไปฝังกลบ ซึ่งจะไม่ย่อยสลายไปอีกหลายสิบปี และจะปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกออกมาอย่างช้าๆ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ไนลอนทั้งในอุตสาหกรรมและเครื่องใช้ภายในบ้าน (ตั้งแต่ถุงลมนิรภัยรถยนต์ไปจนถึงพรม) ในอุตสาหกรรมแฟชั่นมีการใช้เส้นใยไนลอนที่ผลิตขึ้นมาราวปีละ 3,600 ล้านกิโลกรัม จะเห็นได้ว่ากระบวนการผลิตนี้มีปริมาณไนลอนที่ถูกทิ้งไปมากมาย ความร่วมมือระหว่างโครงการ Aquafil และโรงงานเสื้อผ้าพาราวินจะเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่มีไนลอนเหลือทิ้งเข้าสู่ระบบการผลิตแบบหมุนเวียน และเปลี่ยนให้เป็นสินค้าชิ้นใหม่

เครื่องตัดแบบเสื้อผ้าของโรงงานพาราวินใช้ระบบ Computer Aided Design (CAD) เพื่อประหยัดการใช้ผ้าให้มากเท่าที่เป็นไปได้ แต่ก็ยังมีเศษผ้าที่เหลือจากการผลิตอยู่มาก
นี่คือกระเป๋าที่ผลิตจากเศษผ้าจากโรงงานพาราวิน Aquafil ได้เปลี่ยนเศษผ้าเหล่านี้ให้เป็นไนลอน ECONYL ใช้สำหรับผลิตในสินค้าแฟชั่นและเครื่องใช้ภายในบ้าน

“ปีที่แล้ว เราตั้งระบบการนำเศษผ้ากลับมาใช้ใหม่ นั่นหมายความว่า เราไม่ต้องฝังกลบไนลอนเหล่านี้” กงมั่วชาง ช่างตัดแบบเสื้อผ้าประจำโรงงาน กล่าวและเสริมว่า “ไม่ใช่แค่ในโรงงานของเราเท่านั้น ในจีนมีโรงงานที่นำโครงการปกป้องสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ไปปฏิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ”

แม้ตอนนี้โครงการ Aquafil จะมีส่วนในการจัดการเศษผ้าเหลือทิ้งที่ทางโรงงานผลิตขึ้นในอัตราส่วนเพียงเล็กน้อย แต่ในอนาคต กระบวนการผลิตของโครงการสามารถขยายได้มากขึ้น ตามคำกล่าวของหลี่หยุนเซี่ย ผู้จัดการด้านการขายและการตลาดของ Aquafil “เราหวังว่าจะมีโรงงานแฟชั่นที่ส่งเศษไนลอนมาให้เราเปลี่ยนและสร้างห่วงโซ่การผลิตที่สามารถนำวัสดุกลับมาใช้ได้อีกครั้ง”

ปราดาได้ช่วยเหลือโครงการที่เริ่มต้นโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) โดยการใช้เส้นใย ECONYL ในคอลเลกชัน Re-Nylon

เป้าหมายสูงสุดของกระบวนการผลิตนี้คือการสร้างระบบการผลิตที่ไม่ต้องใช้วัตถุดิบใหม่และไม่มีสิ่งใดเหลือทิ้ง รวมไปถึงพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตด้วยเช่นกัน แม้หนทางจะอีกยาวไกล แต่เมื่อแบรนด์หรูอย่างปราดาทำข้อตกลงว่าจะใช้ไนลอนจาก ECONYL มาผลิตสินค้าอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองแล้ว ก็เป็นเหตุผลที่เรายังมีหวังว่า บรรดาผู้มีบทบาทในอุตสาหกรรมแฟชั่นอื่นๆ จะเดินตามแนวทางนี้

เรื่อง 


อ่านเพิ่มเติม เวียดนามสร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจได้อย่างไร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.