กระแสการท่องเที่ยงอย่างยั่งยืนท่ามกลางพายุวิกฤติโคโรน่า

จะร่วงหรือรอด กระแส การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ท่ามกลางพายุวิกฤติโคโรน่า

เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปี 2019 กระแส Flight Shaming ถูกจุดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกหลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวด้วยอากาศยาน ปัจจุบัน การแพร่ระบาดระดับโลกบีบบังคับทำให้ผู้คนต้องหยุดเดินทางจริงๆ

วันคุ้มครองโลกในปี 2020 คือวันสำคัญที่บอกว่า ความพยายามใส่ใจสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ได้เดินทางมาถึงปีที่ 50 ปีแล้ว และในปีนี้เองที่วิกฤติทางสภาพอากาศและปัญหาโรคระบาดระดับโลกต่างก็พร้อมใจกันเข้ามารุมทึ้งธุรกิจการบินจนพวกเขาต้องหันมาทบทวนอนาคตกันอีกครั้ง

หนึ่งในสี่ของก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาทั่วโลกเกิดจากการกิจกรรมการเดินทาง ร้อยละสองคือการคมนาคมทางอากาศ และก่อนจะเข้าปี 2020 ตัวเลขของผู้โดยสารในเที่ยวบินพาณิชย์ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่อย่างไรตาม ความกังวลต่อผลกระทบที่ยากจะซ่อมแซมของก๊าซคาร์บอนจากเครื่องบินก็ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ได้ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของพวกเขา และผู้ที่อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวสีเขียวต่างก็ไม่ได้มองว่า โคโรนาไวรัสจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเติบโตดังกล่าว

นักท่องเที่ยวกำลังเดินไปยังเกตของตน ณ สนามบินมัลเพนซา ประเทศอิตาลี ปี 2016
ภาพถ่าย : CAMILLA FERRARI

ความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังขยายตัว

จากข้อมูลของสภาระหว่างประเทศว่าด้วยการขนส่งที่สะอาดหรือ ICCT (International Council on Clean Transportation) มือวางอับดับหนึ่งเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการเดินอากาศคือสหรัฐอเมริกา ส่วนอันดับสองจีน แต่จากการสำรวจของ ICCT ในปี 2017 กลับพบว่าในเลขนั้นมาจากประชาชนทั่วสหรัฐฯ จำนวนน้อยนิด หรือพูดให้ชัดๆ ก็คือ ในปีนั้น ตัวเลขร้อยละ 68 ของกิจกรรมทางอากาศทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาจากประชากรชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น ประชากรในประเทศนี้กว่าร้อยละ 50 บอกว่าพวกเขาไม่นั่งได้นั่งเครื่องบินไปไหนเลย

ความเหลื่อมล้ำคือเชื้อเพลิงชั้นดีสำหรับ Flight-shaming

“หน้าร้อนที่แล้ว ฉันเดินทางไปบาร์เซโลนาด้วยรถไฟ” แคลร์ แฟร์เรลล์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Extinction Rebellion กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในตัวตั้งตัวตีเรื่องการลดกิจกรรมทางอากาศ กล่าวและเสริมว่า “ฉันเอาจักรยานขึ้นไปบนรถไฟ มันเท่มาก เป็นรูปแบบการเดินทางที่ดูดีมากเมื่อเทียบกับความวุ่นวายที่สนามบิน”

ในปี 2018 แฟร์เรลล์ และนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ อดอาหารประท้วงโครงการขยายสนามบินฮีทโธรว์แห่งลอนดอน และเมื่อกันยายานปีที่แล้ว กระแส flight shaming ได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อ เกรตา ทูนแบร์ก นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมวัยรุ่น ล่องเรือใบข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากอังกฤษไปร่วมงาน UN Climate Action Summit ที่นิวยอร์ก

หากถามว่ากระแส Flight shaming ช่วยลดจำนวนเที่ยวบินลงหรือไม่ คำตอบของมันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณถามคำถามนี้กับใคร และพวกเขาอาศัยอยู่ที่ไหน จากการสำรวจประชาชน 6,000 คนในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมัน และฝรั่งเศส ของ Swiss bank UBS เมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่า ในจำนวนทั้งหมดร้อยละ 21 เลือกทีเดินทางด้วยเครื่องบินให้น้อยลง ซึ่งผลการสำรวจนี้ค่อนข้างสวนทางกับสถิติในปี 2019 ที่ชี้ว่าผู้คนเดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 2 จากปีก่อนและร้อยละ 9 จากสองปีก่อนหน้า

สก็อตต์ เมเยอโรวิตซ์ ผู้อำนวยการกองบรรณาธิการเว็บท่องเที่ยว The Point Guy กล่าวว่า แม้ผู้อ่านและนักท่องเที่ยวตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่มันไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจว่าจะออกไปเที่ยวหรือไม่อยู่ดี “ผู้คนสนใจเรื่องนี้ครับ ไม่มีใครอยากทำร้ายสิ่งแวดล้อม เพียงแต่มันไม่เคยเป็นจุดศูนย์กลางในการจัดแพลนของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่”

“ยิ่งฉันอยากจะรักโลกมากเท่าไหร่ ต้นทุนของมันก็ยิ่งสูงกว่าเท่านั้น” Aalia Udalawa ที่ปรึกษาแห่งกลุ่ม PKG HotelExperts และนักท่องเที่ยวตัวยง กล่าว เธอคาดว่าตนเองจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 เพื่อการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น และก็บอกว่าหลายตัวเลือกของเส้นทางสีเขียวต้องถูกปัดตกไปเพราะราคาที่เกินงบประมาณ

ซึ่งรายงานเหล่านี้ก็สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นที่ทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และ Morning Consult ได้ร่วมมือกันทำตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 โดยมีคำถามคือ พวกเขาจะยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าการพักผ่อนของพวกเขาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ผลออกมาที่ร้อยละ 53 ตอบว่าไม่จ่าย (หรือไม่แสดงความเห็น) อย่างไรก็ตาม นี่เป็นความคิดเห็นก่อนหน้าการระบาด แต่อนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องมาอภิปรายกันอีกครั้ง

ความท้าทายในการทำให้นักท่องเที่ยวเลือกหนทางที่ยั่งยืนกว่าปรากฏขึ้นในรายงานอีกฉบับของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในปี 2019 จากการสำรวจผู้ใหญ่จำนวน 3,500 คน ร้อยละ 42 ของนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันพร้อมสำหรับ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในภายภาคหน้า และมีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่คุ้นเคยกับความหมายของ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จริงๆ โอกาสในอนาคตจะช่วยให้นักท่องเที่ยวมุ่งความสนใจไปยังหนทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปกป้องวัฒนธรรม และมรดกทางธรรมชาติ ส่งเสริมสังคมและเศรษฐกิจในชุมชนไปพร้อม ๆ กัน

น้ำหนักของตัวเลือกใน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ในขณะที่ความสนใจต่อการท่องเที่ยวแบบสะอาดกำลังเติบโต “เราพบว่านักท่องเที่ยวหลายคนชั่งใจระหว่างทางเลือกอื่น ๆ กับเที่ยวบิน” แชนอน แม็กมาโฮน บรรณาธิการแห่ง SmarterTravel.com นิตยสารท่องเที่ยวออนไลน์ของ Trip Advisor กล่าวว่า “ดูเหมือนว่านักท่องเที่ยวจะเลือกใช้วิธีการที่รอบคอบมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว สำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยคาร์บอน”

การนั่งรถรางก็เป็นหนึ่งทางเลือก แม้จะใช้เวลานานกว่าและมีค่าใช้จ่ายเยอะกว่าการเดินทางด้วยรถไฟ แต่ก็ทิ้ง carbon footprint ไว้น้อยกว่าเช่นกัน การนั่งเครื่องบินจากปารีสไปบาร์เซโลนาของผู้โดยสารคนหนึ่งก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปถึง 238 กิโลกรัม ในขณะที่การเดินทางด้วยรถไฟปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปเพียง 11 กิโลกรัม

กุมภาพันธ์ 2020 ลอนดอน ประเทศอังกฤษ นักรณรงค์สิ่งแวดล้อมออกมาประท้วงต่อต้านการขยายสนามบินฮีทโธรว์
ภาพถ่าย : LEON NEAL, GETTY IMAGES

ที่ยุโรปอันเป็นจุดเริ่มของกระแส Flight Shaming รถไฟถูกโปรโมตให้เป็นการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โครงสร้างพื้นฐานถูกปรับปรุงให้ทันสมัยทั้งรางวิ่งและสถานีต่างก็ได้รับการพัฒนาเพื่อผลักดันทางเลือกนี้ รถไฟโดยสารในยุโรปส่วนใหญ่เป็นไฟฟ้า ตรงข้ามกับรถไฟของสหรัฐฯ ที่ยังใช้ทั้งไฟฟ้าและพลังงานดีเซล ยิ่งไปกว่านั้น ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าก็ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการคำนวณหาตัวเลือกการเดินทางสีเขียว เพราะรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนหรือนิวเคลียร์ (อย่างของประเทศฝรั่งเศส) นั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไปน้อยกว่าพลังงานไฟฟ้าที่มาจากถ่านหิน

Carbon Offset (การซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ) เองก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักเดินทางสายอนุรักษ์ จากแรงกดดันของลูกค้า สายการบินต่าง ๆ รวมไปถึง JetBlue ได้นำโปรแกรมชดเชยนี้มาปรับใช้เพื่อลดผลกระทบจากธุรกิจของพวกเขา แต่จะเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ก็ยังเป็นหัวข้อที่ต้องถกเถียงกันต่อไป นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมบอกว่า โปรแกรมชดเชยเหล่านี้เพียงช่วยให้เราขึ้นเครื่องบินได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด แต่ไม่ได้ลดผลกระทบลดลงของพวกเราลงแต่อย่างใด

“มันไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องในการต่อกรกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเพราะการปล่อยก๊าซส่วนใหญ่นั้นมาจากกลุ่มคนที่มีเงินมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบและการใช้ชีวิตของผู้คนได้” แฟร์เรลล์ กล่าวและเสริมว่า “Carbon offset โปรโมตแนวความคิดที่ว่าคุณสามารถผลักปัญหานี้ไปให้คุณรุ่นถัดไปได้” การตัดสินใจในครั้งนี้อาจทำให้อนาคตของการท่องเที่ยวดูน่าหวาดหวั่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง

“มันเป็นความสมดุลที่ละเอียดอ่อน” เมเยอโรวิตซ์กล่าว การท่องเที่ยวทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่มันก็สร้างรายได้ให้แก่ผู้คนและชุมชน อย่างเขาเอง ผู้ชื่นชอบการเดินป่าซึ่งบางครั้งก็ต้องบินหรือขับรถไปยังจุดเดินเขาต่า ๆ แต่เพราะการเดินทางเหล่านั้น เมเยอโรวิตซ์จึงหันมาสนับสนุนอุทยานแห่งชาติ และคอยถ่ายทอดความหลงใหลของเขาให้แก่ผู้ฟังทั้งหลาย

เคลลีย์ หลุยส์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารแห่ง Impact Travel Alliance องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กล่าวกว่า แทนที่จะหยุดการท่องเที่ยวทั้งหมด องค์กรของเธอสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมจากแนวคิดหนึ่งที่ใช้รากฐานแบบ Slow Travel ปรัชญาและแนวทางปฏิบัติที่มุ่งเน้นเรื่องการหยุดพักให้นานขึ้น ผลักดันการขนส่งทางเลือก (อย่างรถไฟหรือจักรยาน) การซึมซับวัฒนธรรม การเช่าที่พักอาศัย และการออกนอกเส้นทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ

“การเดินทางมีพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนให้คุณกลายเป็นคนที่หลงใหลในธรรมชาติและบทสนทนา” เธอกล่าว “ดังนั้น หากผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวออกมาบอกว่าสิ่งเดียวที่คุณทำได้คือต้องหยุดเดินทาง เราก็จะสูญเสียความงดงามเหล่านี้ที่มาพร้อมกับการเดินทางไปทั้งหมด”

การเอาตัวรอดในช่วงการระบาดใหญ่

แม้จะน้อยนิด แต่ก็มีคนบางส่วนในระบบเศรษฐกิจโลกที่ไม่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของโคโรน่าไวรัส ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เช่นกัน “โลกไม่เคยพบกับความร่ำรวยและการเชื่อมต่อที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้” เมเยอโรวิตซ์กล่าวไว้ก่อนที่เราจะเจอกับวิกฤติโคโรน่า “การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วแสดงให้เห็นว่าพวกเราเชื่อมต่อถึงกันมากขนาดไหน พวกเรามีเที่ยวบินตรงจากเมืองรองในสหรัฐฯ ไปยังเมืองรองในจีน”

แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากมาตรการห้ามการเดินทางถูกปลดล็อก การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะสามารถไปต่อได้ในโลกที่ความมั่งคั่งต้องได้รับการฟื้นฟูและการเชื่อมต่อต้องเป็นไปอย่างรอบคอบมากขึ้นหรือไม่

ผู้หญิงคนหนึ่งมองภาพเงาสะท้อนของตัวเองบนรถไฟใต้ดินของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

“การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนอยู่ในช่วงขาขึ้นมาหลายปีแล้ว ไม่เพียงแต่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่การระบาดใหญ่อาจช่วยให้การท่องเที่ยวแบบนี้กลายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เคยเสียอีก” แม็กมาโฮน กล่าว

แม้จะเป็นคนละเหตุการณ์ แต่แม็กมาโฮนก็สังเกตเห็นว่า หลังเหตุก่อการร้าย 9/11 และในช่วง Great Recession เมื่อปี 2008 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ซบเซาลงเช่นกัน แต่แล้วมันก็ฟื้นตัวกลับมาได้ โดยเริ่มจากการท่องเที่ยวภายในท้องถิ่นหรือภูมิภาคเรื่อยมาจนถึงการเดินทางระหว่างประเทศ

“นักท่องเที่ยวมักออกไปผจญภัยใกล้ๆ บ้านก่อน หากเทรนด์สมัยก่อนยังใช้ได้อยู่ พวกเขาก็จะไปกินข้าวที่ร้านอาหารในชุมชน แล้วพักผ่อนสุดสัปดาห์อยู่ภายในภูมิภาค หรือออกท่องเที่ยวภายในประเทศก่อนที่ความต้องการแรงกล้าในการเดินทางข้ามประเทศจะกลับคืนมา” แม้กมาโฮนกล่าว

เมเยอโรวิตซ์กล่าวว่า ตัวเขาเองนั้นก็หวังจะเห็นนักท่องเที่ยวออกตามหาการพักผ่อนที่เชื่อมต่อพวกเขากับผู้อื่น “ผู้คนจะอยากสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวภายในท้องถิ่นอยากออกไปท่องเที่ยวกับครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น”

หลุยส์จาก Impact Travel Alliance เห็นว่า กระแสการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะยังคงดำเนินต่อไป เพราะในขณะที่การท่องเที่ยวเชิงปริมาณนั้นมีความเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง และประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบจำเจ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้เสนอตัวเลือกที่ดีกว่าให้แก่ชุมชนและโลก

“สิ่งที่ฉันหวังจะได้เห็นในอุตสาหกรรมนี้คือเมื่อการระบาดใหญ่ทุเลาลง พวกเราจะออกสำรวจโลกด้วยความใส่ใจ ความสนใจใคร่รู้ และความซาบซึ้งที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง”


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ขาลงของน้ำมัน ขาขึ้นของ พลังงานหมุนเวียน : COVID-19 กับผลต่อการใช้พลังงานโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.