พลาสติกทั่วไปที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันถูกคิดค้นขึ้นในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้ เพื่อการใช้งานในด้านต่าง ๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ของใช้ และเครื่องมือต่างๆ ประวัติการสังเคราะห์พลาสติกชนิดแรกของโลกเริ่มต้นขึ้นในปี 1863 เมื่อช่างไม้ชาวอเมริกัน จอห์น เวสลีย์ ไฮแอตต์ พยายามค้นหาวัสดุผลิตลูกบิลเลียตที่สามารถนำมาใช้แทนงาช้าง
คืนหนึ่ง เขาได้รับอุบัติเหตุจากของมีคมบาดมือขณะทำการผสมขี้เลื่อยกับกาว เขาจึงรักษาแผลด้วยคอลอเดียน (colodion) ซึ่งเป็นยาสมานแผล ผลิตจากไนโตรเซลลูโลสที่ละลายอยู่ในอีเธอร์และแอลกอฮอล์ และด้วยความบังเอิญเขาได้ทำยาหกลงบนพื้นโต๊ะ เมื่อกลับมาดูอีกครั้งพบว่า ยาแห้งเป็นแผ่นเหนียวๆ
ไฮแอตต์ทำการทดลองต่อจนพบว่า หากเติมการบูรลงไปในของผสมอีเทอร์จะได้วัสดุซึ่งต่อมาเรียกว่าเซลลูลอยด์ (celluloid) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีสมบัติเหมาะสมในการนำมาทำเป็นลูกบิลเลียด และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เนื่องจากทำให้มีสีสันสวยงามได้ง่าย และมีราคาถูก นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ ปกเสื้อ กระดุม ของเล่นเด็ก และฟิล์มภาพยนตร์ และถ่ายภาพ จึงถือว่าเซลลูลอยด์เป็นพลาสติกกึ่งสังเคราะห์ชนิดแรกของโลก และนับเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมพลาสติก
เช่นเดียวกับกรณีถุงพลาสติก ที่เริ่มต้นจากความต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม สเตียน กุสตาฟ ทูลิน วิศวกรชาวสวีเดน เป็นผู้คิดค้นถุงพลาสติกขึ้นเมื่อปี 1959 ด้วยความต้องการลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อผลิตถุงกระดาษที่นิยมใช้กันในยุคสมัยนั้น จนต้องสูญเสียต้นไม้เป็นจำนวนมาก เขาจึงคิดค้นถุงพลาสติกขึ้นมา และหวังให้ผู้คนใช้งานถุงพลาสติกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเป็นวัสดุที่มีมีความแข็งแรง ทนทาน และน้ำหนักเบา สามารถใช้ซ้ำได้ เพื่อทดแทนถุงกระดาษ และลดการตัดต้นไม้ไปโดยปริยาย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ถุงพลาสติกก็เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นตามที่เขาหวังไว้ จนสามารถลดการผลิตถุงกระดาษ และลดการตัดต้นไม้ได้จริง แต่กลับส่งผลเสียอย่างมหาศาล จนมีผลกระทบมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากผู้คนไม่ได้ทำตามความต้องการของผู้คิดค้นที่ต้องการให้นำถุงพลาสติกไปใช้ซ้ำ ๆ ไม่สิ้นเปลือง แต่ผู้คนกลับนิยมนำถุงพลาสติกไปใช้แล้วทิ้งในคราวเดียว
จากพลาสติกในยุคแรกเริ่มจนมาถึงปัจจุบัน พลาสติกได้แพร่กระจายไปอยู่ในทุกวงการอาชีพ และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชากรโลก องค์การสหประชาชาติรายงานข้อมูลในปี 2018 พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยทั่วโลกถึง 27 ล้านตัน และเป็นขยะพลาสติกถึง 2 ล้านตัน
ล่าสุดปีในปี 2020 ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงล็อกดาวน์จากการระบาดโรคโควิด-19 พบว่าเขตเมืองต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ต่างมีปริมาณขยะรวมลดลง โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลดลงจากปกติ 10,560 ตันต่อวัน เป็น 9,370 ตันต่อวัน (ลดลงร้อยละ 11)
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า โดยรวมสัดส่วนขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นในเกือบทุกเมือง โดยเฉพาะจากการสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรี (Food Delivery) ซึ่งมีบริการรูปแบบนี้หลายจังหวัดในประเทศไทย ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 ในเขตกรุงเทพมหานคร
หนึ่งในขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากมนุษย์มากที่สุดต่อวัน คือ ขวดพลาสติก จากรายงานของนิตยสาร Forbes ในปี 2017 พบว่า ประชากรโลกซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก 1 ล้านขวดต่อนาที
จากความกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และกระแสแห่งความยั่งยืน ประชาคมทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่า ควรเริ่มกลับมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคตั้งแต่เริ่มต้นจนไปถึงการทิ้ง เพื่อให้ปริมาณของขยะพลาสติกลดลง และเป็นการลดการใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตพลาสติก ก่อนที่สิ่งแวดล้อมจะได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้
ในระดับตัวบุคคล การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ตัวเรา อาจไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในระดับโลกได้ในพริบตา อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่เรามองเห็นคุณค่าของการใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเจตนารมณ์ของผู้คิดค้น โดยการปรับพฤติกรรมการใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า และนำกลับมาใช้ซ้ำให้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน เพียงเท่านี้เราทุกคนก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้อย่างมหาศาล
องค์กรต่างๆ ทั่วโลก พยายามคิดค้นนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกให้กลับมาเป็นของใช้ที่มีมูลค่าอีกครั้ง เช่น เสื้อผ้าจากขวดพลาสติก พรมจากขยะพลาสติกในทะเล รองเท้าคู่ใหม่จากรองเท้าแตะที่พบในทะเล และผ้าห่มจากขวดพลาสติก
ในประเทศไทยมีหลายองค์กรที่นำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งมีกรณีศึกษาที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจน คือกรณีผ้าห่มที่ผลิตมาจากขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม ที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลหรือ Recycled PET (rPET) 100% เพื่อผลิตเป็น “ผ้าห่มรักษ์โลก” ของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หลายๆ คนคงคุ้นตากับผ้าห่มผืนเขียว ที่ทางบริษัทฯ แจกจ่ายไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัยหนาวในทุกปี และในปีนี้โครงการ “ไทยเบฟ… รวมใจต้านภัยหนาว” ปีที่ 21
ทางบริษัทฯ ให้ความสำคัญเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในเรื่องของการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุด จึงผลิต “ผ้าห่มรักษ์โลก” ที่ทอด้วยเส้นใยจากขวดพลาสติก ซึ่งส่งผลดีในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะ เรื่องลดพลังงานการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เส้นใยจากพืช การผลิตเส้นใยจากขวด rPET ใช้พลังงานลดลงร้อยละ 60 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ได้ถึงร้อยละ 32 โดยในกระบวนการผลิตผ้าห่มหนึ่งผืน ต้องใช้ขวดพลาสติกประมาณ 38 ขวด นั่นเท่ากับว่า ในปีนี้ บริษัทฯ ผลิตผ้าห่มแจกจ่ายจำนวน 200,000 ผืน โดยใช้ขวดพลาสติกทั้งหมด 7,6000,000 ขวด ในการผลิตผ้าห่มผืนเขียวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 15 จังหวัด 194 อำเภอ
คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มอบผ้าห่มให้กับประชาชน ในโครงการไทยเบฟ… รวมใจต้านภัยหนาว ปีที่ 21
ในมุมกลับกัน สำหรับมนุษย์ที่ใช้ชีวิตประจำวันปกติ การสร้างการเปลี่ยนแลงอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคได้ ตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มผลักดันนโยบายลด ลด เลิก ใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก และการใช้ซ้ำให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหลาย
ตั้งแต่พลาสติกถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกของเรา พลาสติกมีบทบาทส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์มาโดยตลอด จนกระทั่งการบริโภคที่มากขึ้นและค่านิยมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป ทำให้พลาสติกถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายในฐานะผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราเลือกที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และตระหนักถึงความคุ้มค่าของการบริโภคพลาสติก พลาสติกจะมีประโยชน์ในการทำให้ชีวิตสะดวกสบาย และเกื้อหนุนให้มนุษยชาติได้สร้างสรรค์และดูแลโลกให้คงอยู่ต่อไปและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Mango COVID – คอลเล็กชันงานศิลปะที่เกิดจากวิกฤติ