Mango COVID – คอลเล็กชันงานศิลปะที่เกิดจากวิกฤติ

Mango COVID – คอลเล็กชันงานศิลปะที่เกิดจากวิกฤติ

ในยามวิกฤติ เราเห็นภาพความช่วยเหลือของคนไทยเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งประจักษ์พยานที่ชัดเจนว่า คนไทยมีจิตใจโอบอ้อมอารีและไม่ทอดทิ้งกัน และในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่พลังของประชาชนชาวไทยได้แสดงออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

ในช่วงเวลาดังกล่าว เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย รับทราบถึงเรื่องผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ต่อกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกลุ่มเกษตรกรผู้ส่งออกมะม่วง เนื่องจากการขนส่งในช่วงล็อกดาวน์ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ส่งผลให้ผลผลิตจำนวนมากที่กำลังรอออกสู่ท้องตลาดเกิดความเสียหาย จากนั้นชาวสวนมะม่วงจึงติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องผลผลิตล้นตลาด และขอคำปรึกษาเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ร่วมกัน

เมื่อกลุ่มศิลปินซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามจำนวนมาก ได้ทราบเรื่องของเกษตรกรชาวสวนมะม่วง จึงเกิดแนวความคิดที่อยากนำศิลปะเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเกษตรกรและรวมตัวกันเพื่อสร้าง ผลงานศิลปะจากมะม่วงภายใต้คอลเล็กชัน Mango COVID และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร
และกระตุ้นยอดขายให้เกิดขึ้นภายในประเทศ

โดยคอลเล็กชันนี้ได้รับเกียรติจากศิลปินชื่อดัง 14 ท่าน จากเครือข่าย BAB (บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018) ผ่านการขับเคลื่อนของมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ซึ่งมีหัวเรือใหญ่อย่างบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนให้ศิลปินทั้งหมดมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยเทคนิคต่างๆ ทั้งภาพวาดและภาพถ่าย

หนึ่งในศิลปินรุ่นใหญ่ของเมืองไทย อย่าง ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ เผยถึงแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานว่า “ในคอนเซ็ปต์แรกผมก็จะใช้มะม่วงเป็นตัวสื่อ เป็นตัว Object ที่ถูกเคลื่อนไหวด้วยระบบการสั่งงานของโทรศัพท์มือถือ อาจจะมี Gimmick เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับโควิด-19 การป้องกันตัวด้วยหน้ากากอนามัย คอนเซ็ปต์ของงานชุดนี้คือทุกอย่างจะถูกสั่งผ่านด้วยระบบสื่อสารทางเทคโนโลยี และนอกจากนี้ผมยังสร้างสรรค์งานพริ้นติ้ง ช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้เราจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเราเชื่อมโยงระหว่างศิลปะและเกษตรกรอย่างลึกซึ้ง มันคือแรงบันดาลใจ และบริบทที่ซับซ้อนกันมากมายระหว่างความเข้าอกเข้าใจ ความช่วยเหลือ ส่งผ่านจากศิลปินสู่นักสะสม ความมั่งคั่งของนักสะสมก็จะถ่ายเทสู่เกษตรกร สิ่งเหล่านี้เป็นความงดงามของสังคม ขอขอบคุณโครงการ Mango COVID มากๆ ครับ”

ผลงานชื่อ มะม่วงน้ำ ดอกไม้ โดย ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์

นอกจากนี้ ศิลปินบางท่านยังกล่าวถึงการสื่อสารเรื่องผ่านผลงานศิลปะ เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้เป็นที่รับรู้ของสังคม “มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Mango COVID ทำให้เห็นว่ามะม่วงหลายตันไม่สามารถส่งออก หรือขายได้ทันเวลา ปัญหาในช่วงนี้มีมากมาย เช่น ปัญหาคนอดอยาก ปัญหาผลิตผลล้นตลาด” สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ หนึ่งในศิลปินที่ร่วมในคอลเล็กชันนี้ เล่าให้เราฟังและเสริมว่า “เราไม่สามารถรู้ได้เลยถ้าไม่มีการบอกต่อ ซึ่งสื่อเป็นตัวกลางสำคัญ เราควรรวมพลังเล็กๆ ให้กลายเป็นพลังใหญ่ปัญหาใหญ่ก็จะกลายเป็นปัญหาเล็ก อยากจะให้กำลังใจทุกคนที่สำคัญกลุ่มเกษตรกรชาวสวน โดยผลิตผลงานชื่อ Missing Piece ออกมาค่ะ”

Missing Piece เป็นผลงานที่ใช้เทคนิค Digital Photo Collage สร้างสรรค์โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

ผลงานอีกหนึ่งชิ้นที่สามารถสร้างศิลปะลงบนมะม่วงได้อย่างงดงามคือ ผลงานของโลเล–ทวีศักดิ์ ศรีทองดี “ผมได้มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการ Mango COVID โดยได้รับมะม่วงมาจากจังหวัดอุดรธานี เพื่อสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงาน ผมวาดใบหน้าลงบนผิวมะม่วง ซึ่งใบหน้าจะแสดงอาการต่างๆ เหมือนมีชีวิต ขอให้เหตุการณ์นี้ผ่านไปด้วยดี รอดจากโควิด-19 ครับ”

ผลงานของโลเลในซีรีส์ My Life As Mango

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างผลงานอันเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากแนวความคิดที่อยากช่วย เหลือเพื่อนมนุษย์ ไม่เพียงแค่การสร้างงานศิลปะเท่านั้น ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานยังแสดงความห่วงใยไปถึงกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่กำลังจะจบศึกษาในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดโรคโควิด-19 ทำให้บริษัทต่างๆ ลดจำนวนการจ้างงานในช่วงนี้ น้องๆ นักศึกษาเหล่านั้นจึงเข้าถึงโอกาสการทำงานได้น้อยลงเช่นกัน เมื่อเห็นถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น กลุ่มศิลปินจึงตัดสินใจเปิดประมูลภาพศิลปะ เพื่อระดมทุนการศึกษามอบให้น้องๆ นักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะทั่วประเทศ ในโครงการ “อยู่บ้านเสพศิลป์ ช่วยศิลปินรุ่นใหม่”

จากผลงานของศิลปินที่บรรจงสร้างสรรค์คอลเล็กชันนี้อย่างตั้งใจ จึงเกิดกระแสตอบรับที่ดีในวงกว้าง ตอกย้ำให้เห็นว่าศิลปะสามารถเยียวยา สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาปากท้องของพี่น้องคนไทยในเวลานี้ นอกจากนี้ ทางมูลนิธิบางกอกอาร์ตเบียนาเล่อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมจึงเปิดกิจกรรมผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมบริจาคเงินให้กับนักศึกษา โดยผู้ที่บริจาคยอดเงินตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป จะได้รับโปสต์การ์ดที่มีลายมือชื่อของศิลปินทั้ง 14 ท่าน เป็นของขวัญแสดงความขอบคุณ

ในส่วนนี้ มูลนิธิบางกอกอาร์ตเบียนาเล่จึงสนใจรวบรวมคอลเล็กชันศิลปะทั้งหมดไว้ เพื่อจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้รับชม และตระหนักรู้ถึงผลของความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนไทยในยามวิกฤติ และเป็นแรงบันดาลใจรวมถึงแนวความคิดที่สามารถนำไปต่อยอดในการแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ต่อไปได้

จากผลการดำเนินงานระดมทุนทุกช่องทาง โครงการ “อยู่บ้านเสพศิลป์ ช่วยศิลปินรุ่นใหม่” สามารถรวบรวมทุนรวม 764,484 บาท หลังจากนั้นได้ประสานงานไปยังคณบดีในสถาบันที่มีการเรียนการสอนวิชาศิลปะ เพื่อคัดเลือกผู้รับทุน โดยมีจำนวนผู้รับทุนทั้งหมดรวม 38 ทุน ทุนละ 20,118 บาท จาก 19 สถาบัน

จากเหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า งานศิลปะนั้นสามารถสร้างการรับรู้เป็นวงกว้างได้ และส่งผลให้เกิดความช่วยเหลือไปยังส่วนที่มีความจำเป็นจริงๆ ความสร้างสรรค์ที่ผสานรวมกับจิตใจที่โอบอ้อมอารีของศิลปินไทยช่วยให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งเกษตรกร และนักศึกษาที่กำลังจะจบออกมาสู่สังคม และเป็นการปลูกฝังค่านิยมแห่งการช่วยเหลือให้เป็นที่ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ผลผลิตของมะม่วงส่วนหนึ่ง ได้นำไปแปรรูปเป็นไอศกรีมมะม่วง เพื่อยืดอายุของผลผลิตให้สามารถวางขายในท้องตลาดได้นานขึ้น และมะม่วงที่สุกมากเกินไปจนมีสีดำคล้ำ ได้นำไปบริจาคยังปางช้างต่างๆ ที่ได้รับผลกระจบจากภาคการท่องเที่ยว และไม่มีรายได้เข้ามาในช่วงของการระบาดโรคโควิด-19 นับว่าเป็นการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวเกษตรกรเองและปางช้าง

จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากหลายฝ่ายได้ก่อให้เกิดภาพความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่และผลงานของความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นกลไกนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในเรื่องของความยั่งยืนนั้น คนไทยได้เรียนรู้กันมาอย่างยาวนานผ่านหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงวางแนวทางไว้ให้คนไทยทุกคน และเป็นเรื่องที่คนไทยน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตามในชีวิตประจำวัน ทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันทางสังคม และภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่ดี เมื่อยามที่เราต้องรับมือกับวิกฤติต่างๆ เรามักจะเห็นภาพความช่วยเหลือกันของพี่น้องชาวไทยเสมอมา

Recommend