นี่คือคำบอกเล่าของคุณญัฐสุดา จั่นบางยาง หรือยุ้ย เจ้าของร้านปลาวัน Farm to Table ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาที่ครอบครัวของเธอเคยประสบ และปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกษตรกรไทยบางส่วนกำลังประสบเช่นกัน หลายครัวเรือนจึงเลือกหันหลังให้กับ การเกษตรกรรม ซึ่งเห็นได้จากอัตราส่วนภาคเกษตรกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2562 ลดลงถึงร้อยละ 22
ณ ศาลากลางสระบัวของร้านปลาวัน บรรยากาศยามเช้าตรู่มีลมพัดโชยเบาๆ ปะทะกับผิวกาย อากาศเย็นสบาย รายล้อมด้วยดอกบัวสีชมพูสดใส และปลานิลตัวเขื่องที่แหวกว่ายอยู่ในสระบัว เป็นบรรยากาศที่แสนสบายตรงข้ามกับบทสนทนาที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า
เราจึงเข้าประเด็นถึงเหตุผลที่ครอบครัวของเธอยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม และในปัจจุบันพวกเขามีวิธีการทำเกษตรกรรมอย่างไร จึงส่งผลให้วันนี้ “มีความสุขและความยั่งยืน”
ตั้งแต่คุณญัฐสุดาจำความได้ สิ่งที่เธอเห็นมาตลอดคือ ที่บ้านต้องตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและหมดเวลาไปกับการดูแลต้นมะม่วง ถึงแม้จะปลูกมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ แต่ในที่ดินของเธอไม่มีพืชชนิดอื่นเลย
เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงหน้าสวน แต่ราคาไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่จ่ายไป ทางครอบครัวก็ไม่มีอำนาจต่อรองอะไร ส่งผลให้รายรับไม่แน่นอน พ่อแม่ของเธอจึงตัดสินใจใช้สารเคมี เพื่อหวังจะได้ผลผลิตที่เร็วและมีปริมาณเยอะขึ้น แต่กลับเป็นการเพิ่มปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงสภาพดินในพื้นที่เพาะปลูกและสุขภาพของครอบครัวที่แย่ลง
เนื่องจากรายได้ไม่แน่นอนทำให้รู้สึกว่าอาชีพนี้ไม่มั่นคง แต่ครอบครัวเธอก็ยังทนทำการเกษตรแบบนี้ต่อไปด้วยภาวะเครียด
“ครอบครัวเราต้องอยู่แบบนี้ตลอดไป มันไม่มีทางเลือกอื่นจริงเหรอ จะทำอย่างไรให้ครอบครัวเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้บ้าง คำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในสมองของยุ้ยตลอดเวลา” เธอเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ดังกังวานพร้อมสีหน้าและแววตาที่มุ่งมั่น
จากเหตุการณ์และคำถามเหล่านี้ เธอตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรกรไทยในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับ Japan Agricultural Exchange Council (JAEC) ของญี่ปุ่น และเธอก็พบว่า ไม่ใช่ครอบครัวเธอไม่มีทางเลือก แต่พวกเขาไม่มีข้อมูลจึงไม่กล้าเพิ่มทางเลือกเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
“สำหรับยุ้ยการเดินทางไปต่างประเทศด้วยงบประมาณของตนเองนั้นเรียกว่าไม่เคยคิดเลยดีกว่า เพราะฐานะทางบ้านไม่ดี ชีวิตยุ้ยก็อยู่แต่ในสวนมะม่วง พอมีโอกาสไปเปิดหูเปิดตาถึงต่างประเทศ” คุณยุ้ยเล่าด้วยและเสริมว่า “ยุ้ยจึงทุ่มสุดตัวเรื่องการฝึกฝนภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้ตนเองสื่อสารกับคนญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะต้องการได้รับความรู้จากพวกเขาให้ได้มากที่สุด”
ครอบครัวเกษตรชาวญี่ปุ่นที่คุณยุ้ยไปร่วมอาศัยและเรียนรู้นั้นทำการเกษตรแบบผสมผสาน ภายในพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 สำหรับทำฟาร์มหมูคุโรบูตะ ส่วนที่ 2 ปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ส่วนที่ 3 พื้นที่สำหรับแปรรูปผลผลิตที่ได้จากสวนผลไม้และฟาร์มหมูคุโรบูตะ และส่วนที่ 4 บริเวณที่พักอาศัย
ระหว่างนั้นเธอได้ปฏิบัติและเรียนรู้จากประสบการณ์การลงมือทำจริงร่วมกับชาวญี่ปุ่น เธอเข้าใจแนวคิดของการปลูกพืชหลากหลายชนิด ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยง การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมไปถึงการทำการตลาดออนไลน์ที่ทำให้เกษตรเป็นผู้กำหนดราคาเองได้
“การที่เกษตรกรสามารถกำหนดราคาผลผลิตของตนเองได้ มันทำให้เด็กอายุ 21 ปีอย่างยุ้ยประหลาดใจและประทับใจมาก มันคือการตัดพ่อค้าคนกลางออกไปจากวงจรของชาวเกษตรกรเลย ยุ้ยทึ่งมาก” คุณยุ้ยเล่าถึงความทรงจำในวันนั้น ปัจจุบันเธออายุ 32 ปี
ตลอดหนึ่งปีที่คุณยุ้ยฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น นอกจากความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมทั้งหมดที่เธอได้รับแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณยุ้ยมีความมั่นใจและกล้าเปลี่ยน นั่นคือ “ความรัก” เธอเล่าว่า เกษตรกรที่นั่นทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมีใครมาคอยควบคุม เพราะพวกเขารักในงานที่ตัวเองทำ รักพืชผลที่ตัวเองปลูก รักเพื่อนร่วมงาน รักผู้บริโภค เมื่อเรารักสิ่งใดเราก็จะทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด เช่นกัน เมื่อเรารักใครเราก็อยากให้คนนั้นได้รับสิ่งดีๆ พวกเขาจึงตั้งใจทำเกษตรกรรมและไม่ใช้สารเคมี
“ยุ้ยเพิ่งรู้ตัวว่าครอบครัวยุ้ยไม่ได้ทำเกษตรกรรมด้วยความรัก พวกเราทำเพราะเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมามากกว่า จึงไม่เปิดใจเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม และไม่กล้าเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรแบบเดิม ครอบครัวญี่ปุ่นบอกเสมอว่า ยุ้ยสามารถกลับไปเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรของครอบครัวตัวเองได้ พอยุ้ยได้รับกำลังใจและได้เห็นกับตาตัวเองจริงๆ ว่าที่นี่ทำได้ ยุ้ยจึงกล้าที่จะกลับไปเปลี่ยน” เธอกล่าว
อ่านต่อหน้า 2
หลังจากกลับจากฝึกงานที่ญี่ปุ่นคุณยุ้ยมีความมั่นใจมากขึ้นจึงได้คุยกับครอบครัว และตัดสินใจเปลี่ยนจากสวนมะม่วงเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ด้วยความหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเลี้ยงกุ้งแบบไม่ใช้สารเคมีเพราะเธอรักตัวเอง คนรอบข้าง และลูกค้า จึงอยากส่งมอบกุ้งคุณภาพดีสู่ผู้บริโภค
“เลี้ยงกุ้งได้กำไรเยอะ มีคุณภาพชีวิตดีกว่าเมื่อก่อน แต่มีความสุขอยู่ได้ไม่กี่ปี ก็เจอโรคระบาดชื่อ โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ตายด่วนตายไวตายเกลี้ยงบ่อเลย” คุณยุ้ยหัวเราะดังลั่นกับชะตากรรมของตัวเองในช่วงนั้น (แต่ความรู้สึกตอนนั้นคือเสียใจมากเพราะเงินที่ลงทุนหายไปกับกุ้งที่ตาย)
หลังจากนั้นไม่นาน “ยุ้ยเปลี่ยนจากบ่อกุ้งขาวแวนนาไมเป็นปลานิลทันที แล้วนำปลามาขายสดๆ หน้าบ่อ ไม่ไปขายที่ตลาด เลี้ยงเองขายเองทำให้เรากล้าบอกลูกค้าได้เลยว่า จุดเด่นของปลานิลบ่อเราคือไม่ใช้สารเคมี ไม่มีกลิ่นโคลน เพราะเลี้ยงแบบระบบกึ่งธรรมชาติและควบคุมระบบน้ำอย่างดี” เธออธิบาย
“แสดงว่ากิจการขายปลานิลหน้าบ่อได้รับผลตอบรับที่ดี” เราถาม
“ไม่เลยค่ะ” เธอตอบทันทีพร้อมกับเสียงหัวเราะ
หลังจากที่ได้ขายปลานิลหน้าบ่อไปได้สักระยะ คุณยุ้ยพบว่า ลูกค้าต้องการซื้อวัตถุดิบครบในจุดเดียวเพื่อนำกลับไปประกอบอาหาร ซึ่งหน้าบ่อไม่ได้มีผักและวัตถุดิบอื่นๆ เหมือนในตลาดสด ประกอบกับในตอนนั้นบ่อเลี้ยงปลานิลของเธอยังไม่มีชื่อเสียง จึงไม่ใช่จุดหมายที่ผู้บริิโภคเดินทางมาซื้อเพียงปลานิลสดกลับไปประกอบอาหารเองที่บ้าน
“ยุ้ยงัดความรู้และประสบการณ์ที่มีทั้งหมดมาใช้ ไม่งั้นครอบครัวไม่รอด และนึกขึ้นได้ว่า ตอนฝึกงานที่ญี่ปุ่นเขาเลี้ยงหมูดำคุโรบูตะแล้วแปรรูปส่งขาย นำผลแอปเปิ้ลที่ไม่สวยมาแปรรูปเป็นน้ำแอปเปิ้ล นำผลไม้บางส่วนมาอบแห้ง น้องสาวของยุ้ยจึงทดลองทำปลานิลเผาพร้อมผักสดและน้ำจิ้ม เพื่อเป็นการแปรรูปและจำหน่ายที่หน้าบ่อ” เธอบอก
“วิธีการนี้ได้ผลตอบรับดีเกินคาด เพราะตอบโจทย์ลูกค้าที่ซื้อกลับไปทานได้เลย ประกอบกับความโดดเด่นของปลานิลที่เลี้ยงในบ่อ จึงเกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อในกลุ่มของผู้บริโภค ยุ้ยจึงคิดว่า เราเจอทางรอดของครอบครัวแล้ว” คุณยุ้ยเล่าด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น
ถึงแม้กิจการปลาเผาของคุณยุ้ยจะได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด แต่เธอก็ไม่ประมาทเพราะได้รับบทเรียนมากมาย และจากคำถามที่เธอถามตัวเองอยู่เสมอว่า “จะทำอย่างไรให้ครอบครัวเกษตรกรของเธอมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ซึ่งคำตอบก็คือ จะต้องมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า “แล้วจะทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างไรให้ยั่งยืน”
คุณยุ้ยจึงเริ่มเข้าร่วมเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) เพื่อหาเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนความรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดหรือรูปแบบธุรกิจต่างๆ ที่จะมาต่อยอดอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน จนได้รู้จักกับแนวคิด “Farm to Table”
“Farm to Table” คือการที่ผู้ผลิตหรือเกษตรกรนำพืชผักหรือเนื้อสัตว์ที่ปลูกไว้ในจุดเดียวกันหรือใกล้กับร้านอาหารที่ดูแลแบบไม่ใช้สารเคมี แล้วนำมาประกอบเป็นเมนูอาหารต่างๆ ให้กับผู้บริโภค โดยพืชผักที่ปลูกนั้นจะเน้นการปลูกตามฤดูกาล เพื่อแก้ปัญหาการใช้สารเคมีและลดต้นทุนในการดูแลนอกฤดูกาล
จากนั้นเธอเปิดร้านอาหารปลาวัน Farm to Table และได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเรียนรู้การเขียนแผนธุรกิจ รวมถึงการคำนวณต้นทุนและกำไร เป็นการวางแผนเตรียมตัวก่อนการลงทุนเปิดร้านขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเดิมพันครั้งใหญ่อีกครั้งของครอบครัวเธอ
“ระหว่างที่กำลังก่อสร้างร้านอาหาร ยุ้ยทดลองปลูกผักสวนครัวตามฤดูกาล ปลูกดอกบัว เลี้ยงปลานิล ปลาดุก กุ้งขาวแวนนาไม เป็ดและไก่พันธุ์ไข่ (ใช้เฉพาะไข่) เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะใช้ในร้านอาหาร และเราไม่ใช้สารเคมี” เธอกล่าว
เมื่อมีวัตถุดิบอยู่ภายในบริเวณร้านหรือใกล้ร้าน จึงสามารถจัดการเรื่องต้นทุนการขนส่ง คุณภาพความสดใหม่ของวัตถุดิบ ลดค่าใช้จ่ายเรื่องบรรจุภัณฑ์ และที่สำคัญลดการเกิดของเสียจากกระบวนผลิตอาหารได้
หากผักในสวนไม่เพียงพอ คุณยุ้ยก็รับซื้อจากชาวสวนละแวกใกล้เคียง เพื่อช่วยสนับสนุนอาชีพเกษตรกรรมในชุมชนให้ดีขึ้น ทำให้เกิดกำไรทั้งผู้ขาย (กำหนดราคาได้) และผู้ซื้อ (ซื้อในราคาที่คุ้มค่า) รวมถึงดอกกล้วยไม้สวยๆ ที่ใช้ตกแต่งจานอาหารและบริเวณร้าน ก็รับซื้อจากสวนกล้วยไม้ละแวกนั้นเช่นกัน เมื่อกิจการเติบโตเธอจึงจ้างพนักงานที่เป็นคนในท้องถิ่น เพื่อช่วยลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน
ร้านปลาวันมีการกำจัดขยะและของเสียด้วยการนำเศษอาหารที่เหลือให้เป็ดและไก่ เศษไม้ เศษทางมะพร้าว นอกจากทำปุ๋ยก็เอาไปทำเป็นเชื้อเพลิงในโรงเคี่ยวน้ำตาล เธอแยกขยะพลาสติกทุกชิ้น เพื่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด แล้วนำไปขายให้กับโรงงานรีไซเคิล และเนื่องจากไม่ใช้สารเคมี ทางร้านจึงนำมูลสัตว์ที่อยู่ภายในฟาร์ม และเศษใบไม้มาใช้แทนปุ๋ยเคมี
“ยุ้ยเลี้ยงควายไว้ให้ลูกค้าดูเล่นค่ะ แล้วนำมูลของมันไปเป็นปุ๋ย มูลเป็ดมูลไก่ เศษใบไม้ก็เอาไปทำปุ๋ย” คุณยุ้ยอธิบายอย่างฉะฉาน
“แนวคิด Farm to Table คือการทำเกษตรอย่างยั่งยืนค่ะ ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยุ้ยมั่นใจมากว่าเดินมาถูกทาง ถึงจะเปิดร้านอาหารไม่ได้ แต่ยุ้ยก็ยังมีวัตถุดิบที่จะประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในครอบครัวรวมถึงพนักงานอีก 12 ชีวิต ทุกอย่างที่เราปลูก ทุกอย่างที่เราเลี้ยง มันนำมาใช้ประโยชน์ได้หมดโดยไม่ต้องพึ่งภายนอก” คุณยุ้ยเล่าอย่างภาคภูมิใจ
ในอนาคต คุณยุ้ยอยากร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยชุมชน หวังให้เป็นการช่วยสร้างรายได้และเผยแพร่การทำการเกษตรอย่างยั่งยืนของคุณยุ้ยและเครือข่ายได้อีกทางหนึ่ง
เรื่อง: ณสิตา ราชาดี
ภาพถ่าย: ไพฑูรย์ ปฏิสนธิเจริญ
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ท่องเที่ยวชุมชน ที่บ้านบางหมาก จังหวัดชุมพร