ผลกระทบของโควิด-19 ต่อสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบของโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายในระดับโลก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง วิถีชีวิต และโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม

ทั่วโลกต่างได้รับ ผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งบางส่วนเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการจำกัดการเดินทาง และการชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้คุณภาพอากาศ และคุณภาพน้ำ ในหลายประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ในทางกลับกัน การเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกประเภท PPE (เช่น หน้ากากอนามัย และถุงมือยาง) ขยะติดเชื้อ และขยะอื่นๆ จากโรงพยาบาล กลับเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม

1. มลพิษทางอากาศและการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลดลง

ในขณะที่อุตสาหกรรม การขนส่ง และบริษัทต่างๆ หยุดทำการเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ลดลงอย่างกะทันหัน สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ในปี 2020 มลพิษทางอากาศในกรุงนิวยอร์กลดลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า อันเป็นผลจากการจำกัดการเดินทางของประชากร นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศจีนอัตราการปล่อยแก๊สไนตรัสออกไซด์และคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลงร้อยละ 50 เนื่องจากคำสั่งระงับกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมหนัก ตามรายงานของวารสาร Science & Nature

ย่านไชน่าทาวน์ ในมหานครนิวยอร์ก ในช่วงล็อกดาวน์
สุสาน Humayun ในกรุงเดลี ในวันที่ไร้นักท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงเวลาปกติสถานที่แห่งนี้มีผู้เข้าชมมากกว่าพันคน

ในขณะเดียวกัน นิตยสาร Forbes รายงานว่า ที่ประเทศอินเดียพบปริมาณของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้ง PM2.5 และ PM10 มีปริมาณลดลงร้อยละ 50 ในระหว่างการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้ประกาศล็อกดาวน์ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2020 แต่ยังไม่มีรายงานคุณภาพอากาศเปรียบเทียบกับช่วงปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ปริมาณของการใช้น้ำมันของภาคการขนส่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตามรายงานประจำปี 2020 ของกระทรวงพลังงาน

2. มลพิษทางน้ำและเสียงลดลง

ภาพข่าวที่เป็นกระแสและเป็นที่กล่าวถึงไปทั่วโลก คือเหตุการณ์ในเวนิส เมื่อลำคลองที่ตัดผ่านเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้กลับมาใสสะอาดอีกครั้ง เนื่องจากปริมาณเรือที่เข้าออกเมืองลดลงกว่าร้อยละ 90 รวมไปถึงจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ที่ประเทศอินเดีย ในแม่น้ำคงคาและยมุนา พบปริมาณมลพิษในแม่น้ำลดลง เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอลดปริมาณการผลิต หรือบางแห่งหยุดการผลิต ตามการรายงานของสำนักข่าว India Today

เมืองท่องเที่ยวชื่อดัง อย่างเวนิส กลับเงียบเหงาในช่วงที่ทั้งโลกประกาศล็อกดาวน์

นอกจากนี้ สำนักข่าว India Times รายงานว่า ในช่วงเวลาปกติ กรุงเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย พบระดับเสียงเฉลี่ยที่ 100 เดซิเบล แต่ในช่วงล็อกดาวน์ค่าเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ 50-60 เดซิเบล นอกจากนี้ การจัดการเดินทางด้วยอากาศยานยังทำให้จำนวนเที่ยวบินลดลงทั่วโลก ส่งผลให้มลภาวะทางเสียงลดลงตามไปด้วย เช่นกรณีของประเทศเยอรมนี จำนวนผู้โดยสารของสนามบินทั่วประเทศลดลงร้อยละ 90 จึงทำให้เที่ยวบินของสายการบินต่างๆ ลดเที่ยวบิน ประชาชนที่อยู่โดยรอบสนามบินจึงได้รับผลกระทบจากเสียงเครื่องบินลดลง ตามรายงานของสำนักข่าว BBC

3. ระบบนิเวศและแหล่งท่องเที่ยวได้รับการฟื้นฟู

สำนักข่าว CNN รายงานว่า เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 และข้อจำกัดเรื่องการเดินทางเข้าออกประเทศ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลก ตัวอย่างเช่น เกาะภูเก็ต จุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ประกาศล็อกดาวน์ในวันที่ 9 เมษายน 2020 เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละ 5,452 คน หายไปเพียงชั่วข้ามคืน

หมีหมาปรากฏตัวบนถนนในอุทยานแห่งชาติเข้าใหญ่ช่วงประกาศปิดอุทยานฯ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19
ภาพถ่าย ปกครอง ทองเนื้อแข็ง หัวหน้าศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 3 จ.นครราชสีมา
พื้นที่ชายหาดหลายแห่งทั่วโลก รายงานพบแม่เต่าทะเลหลายชนิดขึ้นกลับขึ้นมาวางไข่ หลังจากไม่มีนักท่องเที่ยว

จากนั้นสำนักข่าวในประเทศไทยต่างรายงานข่าวที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูของสิ่งแวดล้อมตามมาเป็นระยะ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พบสัตว์ป่าหลายชนิดเดินบนท้องถนน แม่เต่าทะเลกลับขึ้นมาวางไข่จำนวนหลายรังในช่วงปี 2020 แนวปะการังมีโอกาสฟื้นตัว รวมไปถึงสภาพของแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งกลับฟื้นตัวอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังพบว่า เกิดความร่วมมือขององค์กรใหญ่ๆ ในประเทศไทย เพื่อสร้างสรรค์โครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เช่น โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เพื่อส่งเสริมการคัดแยกขยะในครัวเรือน โดยเฉพาะการแยกขยะที่เกิดขึ้นจากบริการเดลิเวอรี่ เพื่อการบริหารจัดการเรื่องการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด โดยมีองค์กรที่เข้าร่วมอย่างบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เทสโก้ โลตัส และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด

โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน

ในส่วนการพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทยที่เกี่ยวกับการรีไซเคิล เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อรับมือกับขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้น เช่น การนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลหรือ Recycled PET (rPET) จากขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม จำนวน 7.6 ล้านขวด มาผลิตเป็น “ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก” ในโครงการ ไทยเบฟ… รวมใจต้านภัยหนาว ปีที่ 21 จำนวน 2 แสนผืน เพื่อช่วยผู้ประสบภัยหนาวทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 15 จังหวัด ซึ่งการผลิตในรูปแบบนี้สามารถช่วยลดการใช้พลังงานลงถึงร้อยละ 60 ที่สำคัญยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 32 นอกจากนี้ไทยเบฟยังได้พัฒนาการฟิล์มหุ้มแพ็คชนิดฟิล์มหดที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดขยะพลาสติกถึง 45 ตันต่อปี และลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 53 ตันต่อปีอีกด้วย

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
และคุณปภัชญา สิริวัฒนภักดี ส่งมอบผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลกให้แก่ผู้ประสบภัยหนาว
ผ้าห่มที่ผลิตมาจากกระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติก

ผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม

1. ขยะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

เดือนกันยายน ปี 2020 วารสาร Bioresource Technology Reports รายงานว่า นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ขยะทางการแพทย์ก็เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน ขยะเหล่านี้เกิดจากการเก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโควิด-19 การวินิจฉัย การรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก และการฆ่าเชื้อเพื่อกำจัดของเสียติดเชื้อ และอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมากจากโรงพยาบาล

การรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลสูงขึ้นทั่วโลก

ตัวอย่างเช่นในเมืองอู่ฮั่น จุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เกิดขยะจากโรงพยาบาลมากกว่า 240 เมตริกตันทุกวันในช่วงของการระบาด ซึ่งคิดเป็นจำนวนที่มากกว่าช่วงเวลาปกติประมาณ 190 เมตริกตัน เช่นเดียวกับเมืองอะห์มีดาบัด ประเทศอินเดีย ปริมาณขยะจากโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากวันละ 500-600 กิโลกรัม เป็นวันละ 1,000 กิโลกรัม

สำหรับประเทศไทย ปริมาณขยะติดเชื้อทั่วประเทศก็มีสัดส่วนสูงขึ้นเช่นกัน ข้อมูลจากกรมอนามัยเผยว่า ช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการก่อขยะติดเชื้อราว 147,770 กิโลกรัมต่อวัน หรือสูงขึ้นจากช่วงเวลาปกติ 1,900 กิโลกรัม

2. การใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยและการกำจัดอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส ปัจจุบันผู้คนกำลังใช้หน้ากากอนามัย ถุงมือยาว และอุปกรณ์ความปลอดภัยอื่น ๆ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณขยะทางการแพทย์ มีรายงานว่า ในสหรัฐอเมริกา ปริมาณขยะในระดับท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้อุปกรณ์ประเภท PPE ในกรณีของประเทศจีน รัฐบาลเพิ่มการผลิตหน้ากากอนามัยต่อวันเป็น 14.8 ล้านชิ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขาดความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะติดเชื้อ คนส่วนใหญ่จึงทิ้งสิ่งเหล่านี้ (เช่น หน้ากากอนามัย และถุงมือยาง ฯลฯ ) ในที่โล่ง และในบางกรณีก็ปนเปื้อนของเสียจากครัวเรือน ตามการรายงานของ Lancet Glob Health ในเดือนตุลาคม ปี 2020

ชุด PPE ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีปริมาณเพิ่มขึ้นในช่วงแรกของการระบาดใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง
ในช่วงปี 2020 หน้ากากอนามัยจำนวนมาก ถูกทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง และปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม

ในประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า โควิด-19 ทำให้ประชาชนใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นจาก 800,000 ชิ้น เป็นราว 1,500,000 ชิ้น ต่อวัน สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเผยเมื่อปี 2010 ว่า สถานบริการสาธารณสุขทั้งของรัฐและเอกชนมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันยังมีการจัดการไม่เพียงพอ จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทวีความรุนแรงและต้องจัดการเร่งด่วน ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอแนะให้กำจัดและแยกขยะอินทรีย์ในครัวเรือน และอุปกรณ์ป้องกันไวรัส อย่างเหมาะสม เนื่องจากการรวมของเสียเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค และการสัมผัสกับไวรัสของคนงานเก็บขยะ

3. ขยะมูลฝอยของชุมชนเพิ่มขึ้น

การเพิ่มขึ้นของขยะในชุมชน (ทั้งอินทรีย์และอนินทรีย์) สร้างผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน การแพร่ระบาดใหญ่ที่มาพร้อมนโยบายการกักตัวที่กำหนดขึ้นในหลายประเทศ ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าออนไลน์สำหรับการจัดส่งถึงบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งปริมาณขยะในครัวเรือนส่วนใหญ่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยประเทศไทย หรือ TDRI เคยประเมินว่า 1 ยอดการสั่งอาหาร จะมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 7 ชิ้น ประกอบด้วย กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงน้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหารทั้งหมด

ด้านสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยรายงานว่า ช่วงโควิด-19 ระบาดในรอบแรก ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 15 จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ซึ่งไม่รวมถึงขยะอันตรายที่เกิดจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ที่คาดว่ามีอัตราการทิ้งหน้ากากอนามัยประมาณ 1.5 – 2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่ทิ้งปะปนรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป

ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม การระบาดใหญ่ครั้งนี้กำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์และเศรษฐกิจโลก แต่ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกันของทุกคนจะเป็นแรงพลังให้เราสามารถเสริมสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยลดผลกระทบจากปัญหานี้ได้ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน เป็นทางออก ทั้งการลดใช้ การใช้ซ้ำ คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเข้าสู่ระบบจัดการเพื่อนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เติบโตอย่างยั่งยืน


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เป็นฮีโร่เพื่อช่วยคนและโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.