ทุกวันนี้ เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ประชากรโลกจำนวนมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเขตเมือง ภายใน ค.ศ. 2050 การอพยพย้ายถิ่นฐานจากชนบท จะทำให้ตัวเลขประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง เพิ่มขึ้นเป็น 70 เปอร์เซ็นต์
โจทย์ท้าทายที่สุดที่มนุษย์กำลังเผชิญคือ เราจะสร้างเมืองที่รองรับคนจำนวนมหาศาล ไปพร้อมกับการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
ภายใต้วิกฤติโลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เมืองต้องสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาและส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติไปยังลูกหลานในอนาคต
โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก คือหนึ่งในเมืองที่วางแผนรับมือเรื่องความยั่งยืนได้ล้ำหน้าที่สุดในโลก
เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจนโยบายและการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คนและโลก ทั้งความตั้งใจจะเป็นเมืองที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2025 จนถึงการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และล่าสุด CopenHill โรงงานผลิตพลังงานจากขยะที่ใหญ่ที่สุดและสะอาดที่สุดที่มนุษย์เคยสร้าง
2 ใน 3 ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อนมาจากกิจกรรมในเมือง ตัวเลขชี้วัดปริมาณนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเมื่อคนย้ายเข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรที่จะมาหล่อเลี้ยงเมือง ย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“เราจะเป็นเมืองที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ภายในปี 2025”
Frank Jansen อดีตนายกเทศมนตรีกรุงโคเปนเฮเกนที่ดำรงตำแหน่งมากว่า 10 และเพิ่งสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อปลายปีที่แล้วกล่าว ตั้งแต่วันแรกของการทำงาน แฟรงค์สร้างแรงกระตุ้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และพยายามสร้างนโยบายเพื่อเมืองเมืองยั่งยืนมาโดยตลอด
นโยบายการพัฒนาเมืองของโคเปนเฮเกน มุ่งเน้นไปที่ การสัญจรที่ยั่งยืน (Mobility) การยุติการปล่อยมลพิษ (Pollution) และการใช้พลังงานหมุนเวียน (Energy) แฟรงค์เชื่อว่าการสร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสีเขียว
การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutrality คืออะไร
ในแง่การขับเคลื่อนเมือง หมายถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และการใช้พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ น้ำและชีวมวล ในสัดส่วนที่มากกว่าพลังงานจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาตหรือน้ำมันปิโตรเลียมที่ใช้แล้วหมดไป ทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ จนถึงจุดที่ทั้งเมืองขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน
ในแง่โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว โคเปนเฮเกนมีโครงข่ายจักรยานที่มีคุณภาพระดับต้น ๆ ของโลก ชาวโคเปนเฮเกนทุกคนปั่นจักรยาน มากกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของพวกเขาใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักในชีวิตประจำวัน หน่วยงานภาครัฐเรียนรู้เรื่องนี้และไม่นิ่งเฉย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาลงทุนกว่า 300 ล้านเหรียญดอลลาร์ในการสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อจักรยานอย่างมีคุณภาพ
เงินลงทุนนั้นคุ้มค่า เพราะทุกวันนี้ ปริมาณจักรยานในเมืองโคเปนเฮเกน มีมากกว่ารถยนต์ถึง 5 เท่า นอกจากนี้ เมืองยังลงทุนกับระบบขนส่งมวลชน รถประจำทางทั้งหมดเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงดีเซลไปเป็นรถพลังงานไฟฟ้าหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจักรยานและรถพลังงานไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับเป้าหมายในการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ แต่ความพยายามของพวกเขาไม่ได้หยุดแค่นั้น
80 เปอร์เซ็นต์ของแผนลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ คือการใช้พลังงานหมุนเวียน โคเปนเฮเกนประสบความสำเร็จในการสร้างระบบนำพลังงานที่เหลือจากการผลิตกระแสไฟฟ้า มาสร้างความร้อน (District Heating System) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยโครงข่ายท่อขนาดใหญ่ที่ดักจับความร้อนเศษเกิน จากระบบผลิตกระแสไฟฟ้า จะส่งความร้อนเหล่านั้นไปยังบ้านเรือนในเมืองโดยตรง
อาคารบ้านเรือน รวมถึงตึกสูง 99 เปอร์เซ็นต์ในโคเปนเฮเกน เชื่อมต่อกันทั้งหมดด้วย District Heating System ที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากระบบความร้อน วิศวกรของโคเปนเฮเกนยังสร้างระบบทำความเย็นจากอุณหภูมิของน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพื่อแจกจ่ายความเย็นไปตามระบบท่อเช่นกัน
ทำให้ในเมืองแห่งนี้ ผู้คนสามารถเพิ่มและลดอุณหภูมิภายในบ้าน สำนักงานไปจนถึงโรงงานได้ ด้วยระบบทำความร้อนและความเย็นที่ไม่ต้องใช้พลังงานในการผลิตเพิ่มเลย เทียบกับเมืองใหญ่อื่น ๆ โคเปนเฮเกนลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในส่วนนี้ไปได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของทั้งเมือง
อีกหนึ่งนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนที่เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลกของโคเปนเฮเกนคือ CopenHill หรือ Amager Bakke โรงเผาขยะ ที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการเปลี่ยนขยะปีละ 485,000 ตันเป็นพลังงาน (Waste to Energy Power Plant)
นอกจากจะผลิตพลังงานไฟฟ้าป้อน 30,000 ครัวเรือน และผลิตความร้อนแก่ 72,000 ครัวเรือน โรงเผาขยะแห่งนี้ยังเป็นศูนย์การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีเนินสกีเทียมเปิดตลอดทั้งปี รวมถึงเส้นทางวิ่ง รวมทั้งผนังปีนผา 100 เมตรที่สูงที่สุดในโลก
“โคเปนฮิลล์ คือโรงงานผลิตพลังงานจากขยะที่ปลอดมลพิษที่สุดในโลก ไม่มีสารพิษเล็ดรอดออกมาจากส่วนใดของโรงงาน มีเพียงไอน้ำเท่านั้นที่ระบายออกมาจากปล่องระบายขนาดใหญ่ เรามีลิฟต์ที่พาคุณพุ่งขึ้นจากชั้นพื้นดินสู่ชั้นบนสุด ระหว่างทางขึ้น เมื่อมองออกไป คุณมองเห็นทิวทัศน์สุดลูกหูลูกตาของเมือง มองกลับเข้ามา คุณจะเห็นอุปกรณ์อันซับซ้อนของหอคอยที่เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน”
Bjake Ingels ผู้ก่อตั้ง BIG บริษัทสถาปนิกสัญชาติเดนมาร์กที่มีชื่อเสียงระดับโลกซึ่งรับหน้าที่ออกแบบโคเปนฮิลล์กล่าว
บียาเค่อธิบายว่า บนภูเขาที่มนุษย์สร้างนี้มีต้นไม้ถูกปลูกไว้หลายร้อยต้น แต่ละต้นถูกเลือกสปีชีส์มาเพื่อให้พวกมันเติบโตที่ความสูงถึง 100 เมตรบนอากาศได้ มีกิจกรรมให้ทำมากมายเหมือนอยู่ในสวนสาธารณะดี ๆ แห่งหนึ่ง เพราะเขาต้องการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนที่มีต่อการจัดการความยั่งยืน
Hedonistic Sustainability คือคอนเซปต์ออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนของบียาเค่ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้คนให้มาเล่นสนุกหรือใช้ชีวิตใกล้ ๆ ระบบจัดการขยะ หรือระบบสร้างพลังงานทดแทน เพราะเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องเสียสละความสะดวกบายหรือความสนุกสนานอะไรในชีวิต เพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้กับโลก ด้วยเทคโนโลยี มันสามารถอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้
“โรงงานผลิตพลังงานจากขยะ ไม่จำเป็นต้องดูสกปรก ใหญ่โตน่าเกลียด และตอนนี้สวนสาธารณะที่น่าตื่นเต้นที่สุดของเมืองก็อยู่ที่นี่แล้ว”
โคเปนฮิลล์ใช้เงินลงทุนกว่า 611 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดย Amager Ressourcecenter (ARC) บริษัทจัดการขยะในโคเปนเฮเกนที่เทศบาลเมือง 5 แห่งเป็นเจ้าของร่วมกัน คือ Dragør, Frederiksberg, Hvidovre, Copenhagen และ Tårnby
Jacob Simonson CEO ของ ARC อธิบายว่า ที่นี่มีการผลิตพลังงานเยอะมาก จนสามารถทำให้น้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิก มากกว่า 19 สระ เดือดจาก 0 เป็น 200 องศาได้ในแต่ละวัน
“เรานำขยะมาจากกรุงโคเปนเฮเกนและพื้นที่โดยรอบ ครอบคลุมการบริการประชากร 680,000 คนต่อวัน และบริษัทกว่า 46,000 แห่ง ด้วยรถขนขยะ 250-350 คัน”
ค.ศ. 2017 และ 2018 ปริมาณขยะและชีวมวลทั้งที่เผาไหม้ที่โคเปนฮิลล์ คือ 357,000 ตันและ 443,000 ตัน และการผลิตพลังงานรวมอยู่ที่ 900,000 MWh และ 1,259,000MWh ตามลำดับ ภายในโคเปนฮิลล์ประกอบไปด้วยเตาเผา 2 เตาที่เชื่อมต่อกับหม้อไอน้ำและกังหันสร้างกระแสไฟฟ้า โดยแต่ละเตาสามารถเผาขยะได้ 35 ตันต่อชั่วโมง
เริ่มแรก ขยะจะถูกยกผ่านเครน ป้อนเข้าสู่เตาเผาไหม้ขั้นสูงที่เรียกว่า DynaGrate ซึ่งมีลักษณะเป็นตะแกรงระบายความร้อนด้วยน้ำคล้ายบันได แท่งตะแกรงถูกจัดเรียงสลับกันและติดตั้งบนเพลาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้
DynaGrate เผาไหม้ขยะด้วยความร้อนที่เหมาะสม ทำให้สามารถการเก็บวัสดุอย่างโลหะและอีกหลายประเภทไปรีไซเคิลต่อได้ นอกจากนี้ชิ้นส่วนแท่งตะแกรงที่จัดเรียงสลับกันนี้ ทำให้พวกมันไม่สัมผัสกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการบำรุงรักษาลงไปได้มหาศาล
โรงงานใช้เทคโนโลยีการควบแน่นของก๊าซไอเสีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตความร้อน นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งเทคโนโลยีการทำความสะอาดก๊าซไอเสีย ที่ลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์
โคเปนฮิลล์ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 100,000 ตันต่อปี และช่วยให้ให้โคเปนเฮเกนสามารถนำขยะโลหะกลับมาใช้ใหม่ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้การกลั่นตัวเป็นหยดน้ำของก๊าซไอเสีย ทำให้โรงงานสามารถกู้น้ำได้ 100 ล้านลิตรและนำขี้เถ้าด้านล่างจากการเผา 100,000 ตันมาใช้เป็นวัสดุทำถนนได้อีก
โคเปนเฮเกนฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะอย่างจริงจัง ไม่กี่สิบปีก่อน หากล่องไปตามลำคลองของเมืองแห่งนี้ จะพบว่าน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะแทบจะทั้งหมด มีการปนเปื้อนอย่างรุนแรงจากระบบอุตสาหกรรม การรั่วไหลของน้ำมันหรือแม้แต่ขยะมูลฝอย
“ครั้งแรกที่ผมย้ายมาอยู่ที่โคเปนเฮเกน เมื่อ ค.ศ. 1987 ท่าเรือบริเวณนี้เต็มไปด้วยมลพิษ คุณไม่มีทางนึกภาพการลงไปว่ายน้ำในอ่าวนี้ได้เลย แต่ทุกวันนี้คุณสามารถกระโดดลงไปเล่นน้ำได้อย่างไม่ต้องกังวลเลย เรามี Harbor Bath และพื้นที่สาธารณะอีกหลายที่เด็ก ๆ และผู้คนสามารถพักผ่อน หรือจะมาว่ายน้ำก็ได้”
แฟรงค์อธิบายว่าโคเปนเฮเกนใช้เวลาหลายสิบปี ด้วยความเข้มงวดและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการนำนวัตกรรมบำบัดน้ำมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง ทำให้ผลลัพธ์เป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้
ไม่ต้องแปลกใจที่นักออกแบบและนักสร้างสรรค์ที่มีชื่อเสียงมากมาย เติบโตมาจากโคเปนเฮแกน เพราะคนที่นี่เชื่อเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม และภาครัฐก็พร้อมจะทำงานร่วมกับภาคเอกชนและประชาชนอย่างแข็งขัน
“ชาวโคเปนเฮเกนต่างกระตือรือร้นที่จะแสดงความคิดเห็น และสร้างเมืองที่ดีกว่า พวกเขาต้องการเมืองที่มีคุณภาพสูงสำหรับการใช้ชีวิต ดังนั้นพวกเขาจึงยินดีเริ่มต้นด้วยตัวเองเช่นกัน ทุกคนยินดีที่จะคัดแยกขยะอย่างถูกต้องเพื่อให้เทศบาลสามารถจัดการขยะต่อได้ง่าย รวมถึงยินดีขี่จักรยานหรือใช้ระบบขนส่งมวลชนไปทำงาน”
แฟรงค์บอกต่อว่า แรงผลักดันสูงสุดที่จะทำให้เป้าหมาย ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2025 เป็นจริงได้คือพลังของประชาชนทุกคน
10 ปีในการดำรงตำแหน่งของแฟรงค์ โคเปนเฮเกนมีประชากรมากขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะเดียวกันด้วยโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวต่าง ๆ เมืองกลับลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้กว่า 42 เปอร์เซ็นต์
ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ ว่าโคเปนเฮเกนจะประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์หรือไม่ ในอีก 4 ปีข้างหน้า แต่สิ่งที่ชัดเจนคือเมืองแห่งนี้คือตัวอย่างของการสร้างเมืองแห่งอนาคต ที่รองรับผู้อยู่อาศัยจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปพร้อม ๆ กับการเติบโตอย่างยั่งยืน
สืบค้นและเรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช
ข้อมูลอ้างอิง