Kamikatsu เมือง Zero Waste ที่ผู้คนแยกขยะ 45 ประเภทและรีไซเคิลขยะทุกชิ้นอย่างยั่งยืน

Kamikatsu เมืองเล็กในชนบทญี่ปุ่น ที่ปลอดขยะอันดับต้นของโลกและเป็นต้นแบบการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน จากการแยกขยะ 45 ประเภทและรีไซเคิลขยะทุกชิ้นที่เกิดขึ้นในเมือง

คามิคัตสึ คือเมืองเล็ก ๆ ในจังหวัดโทคุชิมะ ตั้งอยู่บนเกาะชิโกกุทางตะวันตกที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติอันเขียวชอุ่ม ด้วยจำนวนพลเมืองเพียง 1,700 คน ที่นี่จึงเป็นเมืองที่เล็กที่สุดบนเกาะ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่คนรักสิ่งแวดล้อมอยากมาเยือน ในฐานะเมืองปลอดขยะอันดับต้น ๆ ของโลกและต้นแบบการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน

ย้อนกลับไปในปี 2003 ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มตื่นตัวเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและวิกฤติขยะพลาสติก ชาวเมืองคามิคัตสึเริ่มจัดการขยะทุกชิ้นในเมือง Reduce, Reuse และ Recycle ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อยุติการพึ่งพาเตาเผาและการฝังกลบขยะ

รัฐบาลท้องถิ่นเริ่มผลักดันนโยบายจัดการขยะอย่างเข้มข้น พร้อมตั้ง Zero Waste Academy พื้นที่ให้พลเมืองและเยาวชนได้เรียนรู้รูปแบบการคัดแยกขยะที่ทรงประสิทธิภาพ ซึ่งต้องแยกขยะอย่างละเอียดออกเป็น 45 ประเภท เพื่อให้ขยะถูกนำไปรีไซเคิลต่อได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีนโยบายลดขยะอีกหลายอย่าง ตั้งแต่การสนับสนุนให้ผู้คนนำของใช้มาแลกเปลี่ยนกัน ไปจนถึงการสร้างอาชีพนักอัพไซเคิล เพื่อผลิตสินค้าชิ้นใหม่อย่างสร้างสรรค์จากข้าวของเหลือใช้ในเมือง

ตั้งแต่ปี 2003 พวกเขาตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2020 จะต้องเป็นเมืองปลอดขยะ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่นำขยะทุกชิ้นที่เกิดขึ้นมารีไซเคิลและใช้ใหม่ทั้งหมด เราจึงอยากชวนคุณเดินทางสู่ชนบทของญี่ปุ่น ไปยังเมืองคามิคัตสึ เพื่อสำรวจความสำเร็จหลังจาก 17 ปีแห่งความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนของเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้

ภาพโดย ZERO WASTE ACADEMY

Zero Waste Academy

ย้อนกลับในปี 2000 ญี่ปุ่นกำหนดกฎหมายใหม่ที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการปล่อยไดออกซิน (Dioxin) ทำให้เมืองคามิคัตสึต้องเปลี่ยนวิธีจัดการขยะ พวกเขาจำเป็นต้องปิดเตาเผาขยะขนาดเล็ก 2 แห่ง จากเดิมที่ขยะมูลฝอยทั้งหมดของเมืองถูกนำมาจัดการที่นี่

ด้วยความเป็นชุมชนเก่าแก่ และกำลังประสบภาวะหดตัวจากคลื่นสังคมสูงอายุ เมืองคามิคัตสึไม่มีเงินที่จะสร้างเตาเผารุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีจัดการสารพิษ หรือแม้แต่ส่งขยะไปจัดการยังโรงงานที่เมืองอื่น ทางเลือกเดียวของพวกเขาในเวลานั้น คือต้องสร้างขยะให้น้อยลงและรีไซเคิลสิ่งของต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด

3 ปีต่อมา คามิคัตสึกลายเป็นเมืองแรกในญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นเมืองปลอดขยะ แม้ในช่วงแรกของแถลงการณ์นี้มีผู้ต่อต้านและพยายามจับผิด แต่ 17 ปีที่ผ่านมา เมืองคามิคัตสึได้พิสูจน์ตัวเองด้วยสถิติจัดการขยะที่จับต้องได้ และความจริงจังตั้งใจของผู้คนในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้ไม่มีใครกังขาความเป็นเมืองปลอดขยะของพวกเขาอีกแล้ว มีแต่ผู้ที่อยากนำความสำเร็จของพวกเขาไปเป็นต้นแบบ

ภาพโดย NAMAZU MASATAKA NIPPON.COM

ในปี 2003 เมืองคามิคัตสึเริ่มนำแนวคิด Zero Waste มาประยุกต์ใช้ โดยช่วงแรกพวกเขามุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจของชุมชน เริ่มจากการสอนให้ทุกคนคัดแยกขยะในครัวเรือนอย่างถูกวิธี พร้อมจัดตั้งสถานีแยกขยะไว้ในเมือง รวมถึงจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับขยะ (Zero Waste Academy) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่สุด ที่ทำให้เมืองคามิคัตสึประสบความสำเร็จมาจนถึงจุดนี้

หัวใจในการทำงานของ Zero Waste Academy เพื่อสร้างเมืองปลอดขยะมีเพียง 3 อย่าง

หนึ่ง ให้ความรู้ความเข้าใจแก่พลเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ว่าหลักการของ Zero waste ว่ามีกระบวนการอย่างไร

สอง จัดเวิร์คช็อปเทรนนิ่งให้ชาวเมืองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความรู้แบบลงลึกและครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เยาวชนไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐและภาคเอกชน

สาม สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมของธุรกิจเอกชน เช่น ส่งเสริมให้โรงงานผู้ผลิตเริ่มซื้อผลิตภัณฑ์เก่าที่จำหน่ายไปแล้วกลับคืนสู่โรงงาน เพื่อจัดการปัญหาทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมายและทำให้การรีไซเคิลง่ายขึ้น

ภาพโดย ZERO WASTE ACADEMY

Recycle Store

Zero Waste Academy แนะนำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Product) และผลิตภัณฑ์ที่สร้างมลพิษระหว่างกระบวนการกำจัด

เมืองคามิคัตสึสร้างระบบโรงแยกขยะทรงประสิทธิภาพ ที่สนับสนุนให้ชาวเมืองแยกขยะออกเป็น 45 ประเภท ตั้งแต่ฝาโลหะ ผ้าอ้อม ผ้าอนามัย ไปจนถึงเทอร์โมมิเตอร์

ขยะที่ได้รับการคัดแยกจากครัวเรือนจะถูกนำไปยังศูนย์รวบรวม ซึ่งมีอาสาสมัครชาวเมืองหมุนเวียนกันมาดำเนินการตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้ง ว่าสิ่งของต่าง ๆ ถูกลงประเภทถังขยะที่ถูกต้อง และพวกเขาจะออกคำเตือนอย่างสุภาพ หากมีคนลืมแกะฉลากขวดพลาสติกออก หรือลืมถอดตะปูออกจากไม้กระดาน

ภาพโดย NAMAZU MASATAKA NIPPON.COM
ภาพโดย NAMAZU MASATAKA NIPPON.COM

ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน 2 ประเภทขึ้นไป จะต้องถูกแยกชิ้นออกจากกันและวางส่วนประกอบในถังขยะประเภทที่ถูกต้อง กล่องนมกระป๋อง พลาสติกห่ออาหารหรือขวดพลาสติกที่มีการปนเปื้อน จะต้องล้างทำความสะอาดก่อน เพื่อไม่เป็นภาระต่อในขั้นตอนรีไซเคิล หนังสือพิมพ์อ่านแล้วมัดอย่างประณีตเป็นระเบียบด้วยเชือกกระดาษที่ทำจากกล่องนมรีไซเคิล

ขวดแก้วคลายฝาและเรียงตามสี ขวดพลาสติกที่เคยบรรจุซีอิ๊วหรือน้ำมันปรุงอาหารจะถูกเก็บไว้ในถังขยะแยกต่างหากจากขวด PET ที่ใช้บรรจุเครื่องดื่ม

ข้าวของที่ยังคงอยู่ในสภาพดี จะถูกส่งไปที่ร้านค้ารีไซเคิล Kuru Kuru ซึ่งชาวเมืองสามารถนำของเหลือใช้มาส่ง หรือมาเลือกของ ๆ คนอื่นกลับบ้านไปใช้ต่อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สินค้ามือสองในร้านส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า เครื่องถ้วยชามและเครื่องประดับ โดยสินค้าทุกชิ้นที่เข้าและออกจากร้านจะถูกชั่งน้ำหนักเพื่อคำนวณปริมาณขยะที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่แทนที่จะทิ้งไปเฉย ๆ ในแต่ละปี

ภาพโดย ZERO WASTE ACADEMY

ในส่วนของขยะอาหารและขยะอินทรีย์ เมืองคามิคัตสึเคยส่งเข้าโรงเผาอย่างไม่ลืมหูลืมตาเช่นกัน ทั้งที่ขยะเปียกนั้นเป็นตัวทำให้กระบวนการเผายากลำบากและปนเปื้อนยิ่งขึ้น แต่หลังจากชาวเมืองเข้าใจเรื่องการจัดการขยะและการสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมจากสองมือตัวเองอย่างถ่องแท้ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ในเมืองเปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่บ้านตัวเอง

โดยมีทั้งรูปแบบหมักในถังพลาสติกและย่อยสลายในถังไฟฟ้าโดยการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น เครื่องหมักขยะราคา 52,000 เยน รัฐบาลจะช่วยออก 40,000 เยน และชาวเมืองจ่ายแค่ 10,000 เยน วิธีนี้ทำให้ขยะเปียกของที่นี่ถูกกำจัดได้หมด ถือว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจ ที่รัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุน หากต้องการให้ประชาชนลงมือทำในระดับครัวเรือน (Subsidy)

ภาพโดย ZERO WASTE ACADEMY

Upcycling Craft Center

ทุกวันนี้เมืองคามิมัตสึสามารถรีไซเคิล 81 เปอร์เซ็นต์ของขยะที่ผลิตได้ เทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศญี่ปุ่นที่มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์จำนวนเล็กน้อยที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จริง ๆ อย่างรองเท้าหนัง ผ้าอ้อมและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยอื่น ๆ จะถูกส่งไปยังเตาเผาขยะที่เมืองใหญ่ที่ใกล้ที่สุด

“เป้าหมายของเราคือการทำให้ขยะเป็นศูนย์ภายในปี 2020 แต่เราพบอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและกฎระเบียบที่อยู่นอกขอบเขตของเรา” อะคิระ ซากาโนะ ประธานคนปัจจุบันของ Zero Waste Academy กล่าว

ภาพโดย NAMAZU MASATAKA NIPPON.COM

“ผลิตภัณฑ์บางอย่างได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานครั้งเดียว เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขอนามัย ซึ่งแยกออกจากกันได้ยากเนื่องจากลักษณะของการปนเปื้อนของเสีย” เธอเล่าว่าชาวเมืองคามิมัตสึพยายามอย่างมากในการหาวิธีรีไซเคิลสิ่งของบางอย่างที่ไม่เข้ากับประเภทขยะทั้ง 45 ประเภท เนื่องจากผู้ผลิตยังคงใช้วัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้ามาในครัวเรือนของคามิมัตสึ

ในช่วงแรกมีการร้องเรียนอยู่เนือง ๆ จากชาวเมืองบางคน ว่าวงจรล้างทำความสะอาดและคัดแยกขยะนับสิบประเภทอย่างละเอียดยิบนี้ สร้างความลำบากในการใช้ชีวิต “คุณมักจะพบคนที่ไม่ให้ความร่วมมือในโครงการของชุมชนไม่ว่าระดับใดก็ตาม” ซากาโนะอธิบาย

Zero Waste Academy จึงเลือกโฟกัสและให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนไปที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของชาวเมืองที่ยินดีให้ความร่วมมือ และอยากเห็นเมืองเล็ก ๆ ของพวกเขายั่งยืนขึ้น ซากาโนะอธิบายต่อว่า แนวคิดที่เรียบง่ายของ Zero Waste คือสิ่งของทุกชิ้นยังมีคุณค่าไม่ใช่ของที่จะทิ้ง แต่สามารถปรับปรุงหรือรีไซเคิล เพื่อนำมาใช้ใหม่ได้

ภาพโดย NAMAZU MASATAKA NIPPON.COM

ที่ร้านรีไซเคิลอย่าง Kuru Kuru นอกจากข้าวของมือสองที่หมุนเวียนกันใช้ในเมืองแล้ว พวกเขายังสร้าง Kuru Kuru Upcycling Craft Center ศูนย์ออกแบบเพื่อ Upcycle ผลิตภัณฑ์ด้วยความครีเอทีฟ ผ่านฝีมือช่างท้องถิ่นนับสิบคนที่ทำงานออกแบบหลากหลายประเภท เช่น นำกิโมโนเก่า มาทำเป็นกระเป๋า เสื้อแจ็คเก็ต และของเล่น

หลายปีที่ผ่านมา เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้มีผู้มาเรือนมากกว่า 2,000 คนต่อปี  แม้นักท่องเที่ยวไม่สามารถซื้อของมือสองที่ร้าน Kuru Kuru ได้เพราะเป็นการหมุนเวียนข้างของกันเฉพาะพลเมืองเท่านั้น แต่ที่ Kuru Kuru Upcycling Craft Center เปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ Upcycle ที่สวยงามและเรียนรู้วิธีสร้างงานคราฟต์แบบญี่ปุ่นได้ ในเวิร์กช็อปรองเท้าแตะ ถักโครเชต์และฝึกทอผ้าซาโอริด้วยมือ

ภาพโดย NAMAZU MASATAKA NIPPON.COM
ภาพโดย NAMAZU MASATAKA NIPPON.COM

100% Zero Waste

ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตขยะพลาสติกต่อหัวประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ผู้บริโภคได้รับถุงช้อปปิ้งพลาสติกประมาณ 3 หมื่นล้านถุงต่อปี และครั้งหนึ่งเคยส่งขยะพลาสติก 1.5 ล้านตันไปยังประเทศจีนทุกปี จนกระทั่งปักกิ่งสั่งห้ามนำเข้าในปี 2018

ในขณะที่การรณรงค์แพร่กระจายไป Zero Waste Academy ทำการจัดเวิร์คช็อบให้นักรณรงค์จากทั่วญี่ปุ่นและทั่วโลก โดยหวังว่าโมเดลของพวกเขาจะเป็นประโยชน์ให้ที่อื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ เริ่มจากในเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ ขยายจนเป็นระดับประเทศและระดับโลก อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โมเดลของเมืองคามิมัตสึประสบความสำเร็จ มาจากจำนวนประชากรที่ไม่เยอะนัก ทำให้การสื่อสารและการรณรงค์ง่ายกว่าเมืองใหญ่ที่มีประชากรหลายล้านคน

ภาพโดย ZERO WASTE ACADEMY

หลังผ่านปี 2020 ซึ่งเป็นหมุดหมายในการเป็นเมืองปลอดขยะ 100 เปอร์เซ็นต์ คามิมัตสึยังไม่สามารถหาทางออกให้ขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิล 20 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวได้อย่างลุล่วง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในภูมิภาคอื่นของญี่ปุ่นหรือนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ถูกผลิตขึ้นด้วยวัสดุที่ไม่สามารถจัดการได้ด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่นี่

“เรายังเดินหน้าผลักดันและหากลยุทธ์การรีไซเคิลร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคมต่อไป อนาคตของการเป็นเมืองปลอดขยะ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่นำขยะที่เกิดขึ้นมารีไซเคิลและใช้ใหม่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจและรัฐบาลท้องถิ่นที่ร่วมมือกันเพื่อให้ครัวเรือนสามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ในขณะที่คนในครัวเรือนยังคงมีหน้าที่ในการใช้ซ้ำและลด อย่างที่คุณจินตนาการได้ว่าการปฏิเสธถุงพลาสติกนั้นง่ายกว่าการต้องสร้างพื้นที่ใด ๆ เพื่อรีไซเคิลพวกมัน”

Sustainable Future

ในประเทศที่เป็นผู้ผลิตขยะพลาสติกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ความสำเร็จของคามิมัตสึเป็นแรงบันดาลใจให้เมืองอื่น ๆ ในญี่ปุ่นเริ่มรณรงค์และให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อขยะของตัวเอง

ทุกวันนี้ในญี่ปุ่น เรื่องขยะนั้นมีความเข้มงวดจริงจังขึ้นมาก ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างเรียนรู้ที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น ซึ่งมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม เช่น หากต้องการทิ้งขยะ ผู้บริโภคต้องไปซื้อสแตมป์ เท่ากับจ่ายค่าจัดการขยะตามราคาของสิ่งของที่จะทิ้ง หรือหากต้องการผลิต ผู้ผลิตต้องนำขยะที่ถูกบริโภคแล้วกลับมาจัดการต่ออย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด (Extended Producer Responsibility)

“แม้แต่การซื้อรถของคนญี่ปุ่น ก็มีการบวกค่าจัดการขยะไว้แล้ว ทำให้คนญี่ปุ่นหันมาใช้รถสาธารณะ เห็นได้ว่าการจัดการบริหารขยะแบบประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะก้าวไปเป็น Zero Waste นั้นต้องมีการบูรณาการในทุก ๆ ด้านทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม รวมถึงต้องมีการคิดอย่างเป็นระบบเพื่อให้การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม”

ภาพโดย NAMAZU MASATAKA NIPPON.COM

นโยบายที่คล้ายกันนี้จะส่งผลกระทบในภูมิภาคอื่น ๆ นอกประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรจะผลักดันให้เกิดความต้องการใช้ทรัพยากรบนโลกใบนี้ และส่งผลให้เกิดขยะและมลพิษมากขึ้น

ภายในปี 2050 คาดว่าประชากรในเอเชียจะมีจำนวนถึง 2.3 พันล้านคน และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่เราจะต้องเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจไปสู่การหมุนเวียนที่ยั่งยืน เพราะท้ายที่สุดแล้วเราไม่สามารถพึ่งพาผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวเพื่อลดขยะได้ ความเปลี่ยนแปลงต้องมาจากต้นทางอย่างผู้ผลิตเช่นกัน

การโน้มน้าวให้ผู้คนจำนวนมากขึ้น ดำเนินชีวิตแบบลดขยะและส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลอย่างกว้างขวาง จำเป็นต้องมีการดำเนินการจากผู้ผลิตและผู้ผลิตเพื่อย้ายออกจากสิ่งของและบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และซ่อมแซมได้ง่ายกว่า

ปี 2021 ในสหภาพยุโรปมีกฎหมายใหม่เพื่อต่อสู้กับระบบ Buy and Bin ซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่ผู้ผลิต โดยกำหนดให้โรงงานผู้ผลิตผลิตสินค้าที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น สามารถซ่อมแซมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น แทนที่จะสนับสนุนผู้บริโภคทิ้งไปและซื้อใหม่ทันที โดยกฏหมายนี้จะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับสินค้าหลายประเภท ทั้งสมาร์ทโฟน เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์อาหาร

ภาพโดย ZERO WASTE ACADEMY

สืบค้นและเรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : Net Free Seas ครั้งแรกของการรีไซเคิลซากอวนประมงจากท้องทะเลไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.