wastegetable จากขยะอาหารสู่ฟาร์มผักบนดาดฟ้า

เมื่อหนึ่งในสามของปริมาณอาหารที่ผลิตได้ถูกทิ้งให้กลายเป็นของเสีย และขณะเดียวกันก็ยังมีผู้คนอีกราวพันล้านคนกำลังหิวโหย ขยะอาหารไม่ได้เป็นเพียงการเปรียบเปรยในแง่มนุษยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการก่ออาชญากรรมทางธรรมชาติอีกด้วย wastegetable

ในแต่ละปี ขยะอาหาร 1,300 ตันมีปลายทางที่หลุมฝังกลบทั่วโลก ปริมาณมหาศาลนี้ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 8 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด เศษอาหารในระดับนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และมันสะท้อนถึงความล้มเหลวในการหยุดยั้งขยะจากอาหาร wastegetable

ในแต่ละปีซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐอเมริกาทิ้งอาหารกว่า 60 ตันทั้งที่ยังเป็นอาหารปลอดภัยและกินได้ สิ่งเดียวกันกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย หนึ่งในเป้าหมายของแผนพัฒนาความยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ UNSDG กำหนดว่า ทั่วโลกต้องร่วมกันลดขยะอาหารให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2030 สิ่งที่แรกต้องคำนึงถึงเพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้นคือการคำนวนหาปริมาณขยะอาหารว่า แต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีปริมาณขยะที่เกิดจากอาหารจำนวนเท่าไร

อาหารบางชนิดถูกคัดทิ้งเนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการผลิต / ภาพถ่าย Ella Olsson / Unsplash

ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลปริมาณอาหารที่ผลิตและปริมาณการทิ้งขยะอาหารที่ชัดเจน มีเพียงข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยที่เป็นขยะอินทรีย์ซึ่งกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในปี 2017 มี ปริมาณมากถึง 17.56 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด หรือ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นปริมาณขยะมูลฝอยที่จัดเก็บโดยเทศบาลเท่านั้น ยังไม่รวม ขยะอาหารหรือปริมาณอาหารส่วนเกินของภาคธุรกิจที่มีการจ้างบริษัทเอกชนบริหารจัดการ

ในรายงานเรื่อง การศึกษาแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อลดปัญหาขยะอาหารที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI พบว่า จากการพิจารณาและสำรวจรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของชาวไทย ขยะอาหารส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในครัวเรือน และชาวไทยส่วนใหญ่มักทิ้งขยะอาหารรวมกับขยะทั่วไปทำให้การคัดแยกขยะก่อนการนำไปรีไซเคิลและกำจัดเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เช่น การกำจัดขยะโดยการเผาขยะมูลฝอยที่มีขยะอาหารปนอยู่ ทำให้เกิดความชื้นสูงต้องใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงสูง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษจากการเผามากกว่าขยะที่มีความชื้นต่ำ

ในบ่อขยะที่ไม่มีคัดแยกขยะ / ภาพถ่าย Alexander Schimmeck / Unsplash

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์และนักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างที่น่าสนใจไว้ในงานเสวนา วิกฤตขยะอาหาร:ความจริงที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก (Food Waste: an Unpalatable Truth) ในปี 2018 ว่า “อย่างเราคิดว่ากินข้าวเสร็จที่ศูนย์อาหาร เดี๋ยวก็มีคนมาเก็บจานไปให้ เทขยะให้ แต่เราไม่เคยติดตามว่ามันไปไหนทำให้เรามองไม่เห็นปัญหา ไม่เหมือนเวลาที่เราให้อาหารสุนัขจรจัด ก็คิดว่าไม่เป็นไร ก็ให้ไป แล้ววันนึงสุนัขจรจัดตัวนั้นเกิดไปติดพิษสุนัขบ้า แล้วกลับมากัดลูกหลานเราจนติดเชื้อ อย่างนี้เราถึงจะเห็นปัญหา แต่ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์เราจะไม่เห็น

ผู้คนมองปัญหาขยะอาหารว่า เป็นเรื่องไกลตัว และมองปัญหาโดยไม่ได้เชื่อมโยงตัวเองกับผลกระทบที่เกิดขึ้น สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่รู้ปัญหา ผลกระทบของขยะอาหารในด้านสิ่งแวดล้อมนั้นนำไปสู่การปล่อยก๊าซมีเทน ที่รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 14 เท่า กองขยะที่มีปริมาณขยะอาหารมากจะยิ่งเป็นกองขยะที่ปล่อยมลพิษร้ายแรงที่สุด รศ.ดร.เจษฎา กล่าวเสริม

อาหารที่เหลืออยู่ในจานจะต้องกลายเป็นขยะ / ภาพถ่าย Girl with red hat / Unsplah

การจัดการปัญหาขยะอาหารต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐบาล เอกชน และประชาชน

ในหลายประเทศทั่วโลก เลือกวิธีการลดขยะอาหารโดยการเลือกอาหารที่ปลอดภัยในซูเปอร์มาร์เก็ต และอาหารส่วนเกินจากโรงแรม เพื่อนำไปบริจาคแทนการทิ้ง ในปี 2016 ฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายสั่งให้ร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่มากกว่า 400 ตารางเมตร บริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังคงรับประทานได้ให้กับผู้ที่ต้องการ หากร้านค้าปฏิเสธที่จะดำเนินการดังกล่าว จะถูกปรับเป็นจำนวน 3,750 ยูโร หรือประมาณ 133,293 บาท ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามจะได้รับการลดภาษีร้อยละ 60 จากมูลค่าอาหารที่บริจาค

ในขณะเดียวกันที่สหรัฐอเมริกา การลดหย่อนภาษีเป็นสิ่งล่อใจอย่างมากสำหรับการกระตุ้นให้ผู้บริจาคในสหรัฐฯ ส่งมอบอาหารส่วนเกินพร้อมกับการคุ้มครองทางกฎหมายจากความรับผิดทางอาญาและทางแพ่ง หากอาหารที่บริจาคทำให้เจ็บป่วยแก่ผู้บริโภค

ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งบริจาคอาหารที่ไม่สามารถวางขายบนชั้นวางสินค้าได้ แต่ยังมีคุณภาพสำหรับการบริโภค ให้แก่ผู้ที่ต้องการ / ภาพถ่าย Joel Muniz / Unsplash

ในรัฐแอริโซนา ร้านอาหารและเกษตรกรจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีหากพวกเขาบริจาคอาหารส่วนเกิน ในรัฐแคลิฟอร์เนียให้เครดิตภาษีแก่เกษตรกรผู้บริจาคร้อยละ 10 ในขณะเดียวกัน รัฐมิสซูรีมอบเครดิตภาษีประจำปีร้อยละ 50 ให้แก่ผู้เสียภาษี สูงสุด 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับจำนวนอาหารที่บริจาคให้กับองค์กรการกุศลด้านอาหารในละแวกใกล้เคียง

การศึกษาสถานการณ์ปัญหาขยะอาหารและอาหารส่วนเกินในเขตกรุงเทพมหานครและชุมชนในเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี พบว่า ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านค้าปลีกและภัตตาคาร เริ่มมีความตระหนักเรื่องการบริหารจัดการขยะอาหาร โดยผู้ประกอบการแนวหน้ามักจะเป็นผู้ประกอบการที่เป็นสาขาของบริษัทต่างชาติซึ่งบริษัทแม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลดขยะอาหาร เช่น อิเกีย (IKEA) ซึ่งเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ที่มีร้านอาหารในพื้นที่จากประเทศสวีเดน หรือโรงแรมแมริออตต์ (Marriott) จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ขณะที่ผู้ประกอบการไทย เช่น ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต (TOPs) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ซึ่งเป็นบริษัทในของเครือเซ็นทรัล ได้เริ่มมีการบริจาคอาหาร ในปี 2019

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากภาคเอกชนในเรื่องการบริหารจัดการขยะอาหาร พบว่า ยังมีปัญหาหลายประการที่ทำให้ธุรกิจเหล่านั้นไม่สามารถนำอาหารส่วนเกิน หรือขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ทำให้ต้องฝังกลบขยะอาหารเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีภาคการเกษตรมารองรับเศษอาหาร เช่น ฟาร์มหมู หรือสวนผักผลไม้

ขณะเดียวกันในต่างจังหวัดมีปัญหาการขาดระบบการรับบริจาคอาหารที่ดี ทำให้ไม่สามารถจัดสรร และขนส่งอาหาร ที่ต้องการจะบริจาคไปยังครัวเรือน ชุมชน  หรือสถานสงเคราะห์ที่ต้องการได้ จึงต้องนำอาหารส่วนมากไปทำเป็นปุ๋ย หรือหมักเป็นก๊าซชีวภาพแทน

บรรยากาศการพูดคุยบนฟาร์มบนดาดฟ้า อาคารเซ็นเตอร์วัน อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ในส่วนนี้มีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการว่า “ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดระบบนิเวศของการบริหารจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน โดยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมีนโยบายและมาตรการในการลดขยะอาหาร และการนำอาหารที่ต้องทิ้งไปใช้ประโยชน์อื่น หรือนำไปบริจาคแทนการฝังกลบ

นอกจากนี้ ในภาคครัวเรือนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีชีวิตของเราทุกคน เราเคยลองสังเกตหรือไม่ว่า ในแต่ละวันเรามีเศษอาหารเหลือจากการบริโภคมากน้อยเพียงใด อาหารที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน เรานำไปคัดแยกก่อนทิ้งอย่างไร หรือแค่เทใส่ถุงพลาสติกแล้วโยนทิ้งรวมไปกับขยะมูลฝอย

เริ่มต้นที่ตัวเรา เพื่อสร้างแรงกระเพื่อม

หลายคนอาจคิดว่าเรื่องการแยกขยะเป็นหน้าที่ของเทศบาล หรือรถเก็บขยะ แต่หากเราช่วยกันแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน เราก็สามารถช่วยให้การทำงานเก็บขยะของเทศบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หนึ่งในกลุุ่มคนที่ออกมาทำเรื่องการจัดการขยะอาหารอย่างจริงจัง คือ Wastegetable โครงการที่ใช้องค์ความรู้จากการออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเปียก (ขยะอาหาร) และการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตย์ มาร่วมกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการขยะเศษอาหารให้กลายเป็น “ปุ๋ย” เพื่อใช้ในการสร้าง “สวนผัก” ขึ้นในพื้นที่ว่างเปล่าในใจกลางเมือง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กลุ่มกิจการเพื่อสังคม “Bangkok Rooftop Farmimg” กลุ่มคนรักษ์อนุเสาวรีย์ชัย และกลุ่มเครือข่ายชุมชนถนนเจริญกรุง ซึ่งประกอบด้วยภาคธุรกิจ ร้านค้า ศูนย์การค้า และองค์กรต่างๆ ในพื้นที่

โครงการฯ มุ่งเน้นไปที่การจัดการขยะเศษอาหาร เนื่องจากเป็นการจัดการที่ยากลำบาก ด้วยเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองที่ต้องพึ่งอาหารเตรียมสำเร็จ และยังไม่ค่อยมีพฤติกรรมการคัดแยกขยะเปียกหรือขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น


โครงการนี้มีพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง คือ

1) พื้นที่รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยมีห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เป็นศูนย์กลางการจัดกระบวนการรวบรวมขยะเศษอาหารแปลงเป็นก๊าซหุงต้ม (Bio Gas) และปุ๋ย โดยการลงทุนติดตั้งเครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารด้วยเทคโนโลยีเครื่อง Cow Tech ที่มีปริมาณรองรับเศษอาหารวันละ 150 ถึง 200 กิโลกรัมและเปลี่ยนดาดฟ้าอาคารที่มีพื้นที่ประมาณ 800-1,000 ตารางเมตร ให้เป็นสวนผักดาดฟ้ากลางเมือง เพื่อผลิตผักสลัดจากดิน เป้าหมายของพื้นที่นี้คือ เกิดการรวบรวมสมาชิกที่เห็นคุณค่าของขยะเศษอาหาร

2) พื้นที่ Co-Vegetable Garden Space บริเวณบริษัท Yip in Tsoi ที่ใช้เป็นศูนย์กลางในการจัดการขยะเศษอาหาร ทั้งจากภายในองค์กร และรวบรวมจากชุมชนเพื่อนบ้านรอบๆ บริษัทย่านถนนเจริญกรุง ตลาดน้อย โดยใช้พื้นที่ว่างของบริษัท Yip in Tsoi เป็นศูนย์กลางการแปลงขยะเศษอาหารของภาคีที่เข้าร่วมโครงการฯ ใช้การจัดการขยะเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย ด้วยกล่องหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร (Pak Done Compost Box) ในระดับขนาดครัวเรือนและร้านอาหารขนาดเล็ก เพื่อสร้างกระบวนการแปลงขยะเศษอาหารกลับไปเป็นปุ๋ยสำหรับเพาะปลูก (Close Loop Wasted Management) ให้เห็นเป็นรูปธรรม และเน้นการนำปุ๋ยที่ได้มาใช้ในแปลงผักบริเวณศูนย์จัดการขยะเศษอาหาร บนอาคารจอดรถของ บริษัท Yip in Tsoi ที่ว่างตามริมทางเดิน ริมอาคารร้านค้า และตรอกซอกซอย เกิดเป็นสวนผักคนเมืองใจกลางถนนเจริญกรุง

รูปแบบการบริหารจัดการขยะเศษอาหารได้ออกแบบการขนส่งและการกำจัดด้วยระบบ Green Logistic เพื่อให้การจัดเก็บและขนส่งไม่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ในส่วนของการแปลงเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในกิจกรรมการปลูกผักจะมีการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ทำให้เกิดกลิ่นรบกวนต่อผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังใช้ระบบบริหารจัดการให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่สมดุล พร้อมกับทำให้เกิดประโยชน์ต่อเจ้าของพื้นที่และประชาชนโดยรอบ

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้แก่ ผู้ที่อาศัยบนตึกสูงในกรุงเทพมหานคร ผู้ที่ชอบรับประทานผักสด ร้านอาหารขนาดต่างๆ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยปัจจุบันมีลูกค้าแล้วหลายกลุ่ม ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน บริษัท Yip In Tsoi และร้านอาหารโดยรอบของทั้งสองธุรกิจ

ในระดับครัวเรือน เราก็สามารถประยุกต์ใช้วิธีการทำปุ๋ยจากเศษอาหารได้ง่าย เพียงแต่แยกเศษอาหารใส่ภาชนะรองรับสักใบ และเติมมูลสัตว์ชนิดใดก็ได้ลงไป แล้วรอให้เกิดกระบวนการย่อยสบาย เราก็จะมีปุ๋ยไว้ใช้ในบ้านของเรา” ปารีณา ประยุกต์วงศ์ เลขาธิการ สมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หนึ่งในสมาชิกของโครงการ Wastegetable กล่าวและเสริมว่า “หรือถ้าบ้านของใครไม่มีความต้องการปุ๋ย อย่างน้อยก็อยากให้พฤติกรรมการแยกขยะเกิดขึ้นในทุกครัวเรือนค่ะ

นอกจากนี้ “การส่งเสริมให้ภาคประชาชนรับรู้ และตระหนักถึงผลกระทบ ของปัญหาขยะอาหาร อาจช่วยให้ประชาชนมีแรงจูงใจในเรื่องการคัดแยกขยะมากขึ้น” สุขสันต์ เขียนภาพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และควบคุมคุณภาพ กล่าว

ถึงจุดนี้แล้ว บางคนก็มองว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องต้องหาภาชนะมารองรับอาหารขยะ ซื้อมูลสัตว์มาผสมกับเศษอาหาร ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น “การลงทุนในส่วนนี้ เป็นต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำมาก ลงทุนในระดับหลักร้อยบาทเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เราได้กลับมาคือ การลดต้นทุนการกำจัดของเสียจากเศษอาหารที่ต้องใช้ไปละกว่าหลายพันล้านบาท” สมทรัพย์ รัตนมนตรีชัย หนึ่งในสมาชิกโครงการฯ ผู้รับผิดชอบด้านบัญชีและการเงิน กล่าว

การออกแบบที่เอื้อต่อความสะดวกสบายของผู้บริโภคก็เป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศที่กระตุ้นให้ประชาชนอยากจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค “การออกแบบเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสามารถแยกขยะได้ง่ายขึ้น และทำให้เราอยากเข้าไปใช้งานพื้นที่ที่มีการออกแบบมาเป็นอย่างดี ตอบสนองความต้องการของเราได้” กฤษฎา น้อยบุดดี ฝ่ายวิจัยและพัฒนา กล่าวเสริม

ในอนาคต ทีมงานและเครือข่ายพันธมิตรตั้งใจขยายโครงการฯ ออกไปยังศูนย์อาหารทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดเป็นสังคมที่เกิดการคัดแยกขยะ และกำจัดเศษขยะอาหารอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน โครงการฯ ที่เซ็นเตอร์วันได้ผลิตบุคลากรที่เป็นต้นแบบของเกษตรกรในเมือง ให้มีองค์ความรู้และสามารถถ่ายทอดไปยังผู้ที่มีความสนใจในเรื่องนี้ได้

ปัญหาเรื่องอาหารขยะหากพิจารณากันอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจเจกบุคคลไปจนถึงระบบการบริหารจัดการของประเทศ เมื่อประชาชนแยกขยะในครัวเรือนได้แล้ว แต่ถ้าภาครัฐฯ ไม่มีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้ ประชาชนก็มองว่าเป็นเรื่องที่ทำไปแล้วไม่มีประโยชน์ ในทางกลับกัน หากเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ โดยการร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อให้ขยายออกไปกว้างใหญ่มากขึ้น เราก็จะพบว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

เรื่อง ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา และฑิฆัมพร ธรรมเที่ยง


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ป่าไม้ดื่มคาเฟอีน : กาแฟ ช่วยให้ป่าไม้เติบโตเร็วขึ้นได้อย่างไร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.