สำรวจสกุลเงินดิจิทัลและการขุดบิทคอยน์ แหล่งถลุงพลังงานมหาศาลของโลก

สำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบนเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ จากเหรียญ สู่ธนบัตรกระดาษ จนถึงบัตรแทนเงินสดและเงินดิจิทัลในปัจจุบัน

นาทีนี้ น้อยคนจะไม่รู้จักสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ซึ่งกำลังเติบโตและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ

การทำงานของเงินดิจิทัล ตรงตัวมาจากชื่อของมันนั่นคือ Crypto ซึ่งแปลว่าเข้ารหัส เงินดิจิทัลทำงานอยู่บน

ระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติที่มีการเข้ารหัสซับซ้อน ต่างจากเงินสดตรงที่มันไม่สามารถจับต้องได้ และการทำธุรกรรมทุกอย่าง ก็ดำเนินในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมดโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคารอย่างที่เคยเป็นมา

เจ้าของเงินดิจิทัล ต้องเก็บรักษาเงินของตัวเองไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล หากต้องการโอนหรือจ่ายเงินให้คนอื่น ก็ต้องโอนเงินจากกระเป๋าเงินดิจิทัลของตัวเองไปที่ยังกระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้รับเท่านั้น และการทำธุรกรรมแต่ละครั้งก็เป็นแบบกระจายที่ไม่มีตัวกลางสามารถควบคุมการทำธุรกรรมได้เพียงผู้เดียว แต่ต้องได้รับการยินยอมและถูกตรวจสอบด้วยเครือข่ายทั่วโลกตลอดเวลา

ด้วยคุณสมบัติไร้ตัวกลางและสถาบันการเงินนี้เอง ทำให้ทั่วโลกมองว่าสกุลเงินดิจิทัลคือตัวเปลี่ยนแปลงโลกการเงิน โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสทางธุรกรรมที่ ๆ ผ่านมาไม่สามรถตรวจสอบได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามการประมวลผลสมการทางคณิตศาสตร์โดยคอมพิวเตอร์จำนวนนับไม่ถ้วนทั่วโลก เพื่อยืนยันการทำธุรกรรมของเงินดิจิทัลนั้น ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมหาศาล ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนึ่งในวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่นั่นเอง

โลกหมุนไปพร้อมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เราชวนคุณสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบนเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ จากเหรียญ สู่ธนบัตรกระดาษ จนถึงบัตรแทนเงินสดและเงินดิจิทัลในปัจจุบัน แต่ละประเภทส่งผลต่อความยั่งยืนของโลกอย่างไร เพราะอย่าลืมว่าโลกการเงินและโลกที่เราอยู่อาศัย นั้นเป็นโลกใบเดียวกัน

โลกของเหรียญและธนบัตร

รู้ไหม ประเทศไทยมีเหรีญกษาปณ์หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจจากข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมากว่า 3 หมื่นล้านเหรียญ เหรียญจำนวนมหาศาลเหล่านี้ผลิตขึ้นจากโลหะที่ได้จากการถลุง ขุด สกัด ซึ่งแน่นอนว่าใช้พลังงานมหาศาลไม่แพ้กันในกระบวนการผลิต

ในขณะที่ธนบัตร ผลิตขึ้นจากกระดาษ ผลลัพธ์ที่เก็บเกี่ยวโดยตรงจากผืนป่าผสมกับเส้นใยฝ้าย แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายที่เข้มข้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกเกี่ยวกับการใช้ต้นไม้ในป่าปลูกเท่านั้น แต่การบุกรุกป่าธรรมชาติยังเป็นปัญหาเรื้อรังในหลายพื้นที่

ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าโลกระบุว่า ในแต่ละปี ทั่วโลกมีการผลิตกระดาษมากกว่า 400 ล้านตัน และกระดาษบางส่วนในจำนวนนี้ถูกนำไปใช้ตีพิมพ์ธนบัตร ยังไม่นับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่ขั้นบรรยากาศระหว่างกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในการปลูกฝ้ายที่ใช้พลังงานมากกว่าที่หลายคนคาดคิด

ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มนำกระดาษรีไซเคิลมาผสมกับเส้นใยจากเศษผ้า เพื่อหมุนเวียนวัสดุและเพิ่มความคงทนให้ธนบัตร และในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย เริ่มมีนโยบายลดการผลิตเงินทางกายภาพอย่างเหรียญและธนบัตรลง พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้คนเปลี่ยนไปใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

ที่มาสารพัดบัตรทั่วโลก

บัตรเครดิต บัตรเดบิต ไปจนถึงบัตรแทนเงินสดและบัตรส่วนลดต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบล้วนผลิตขึ้นจากพลาสติก ซึ่งมาจากปิโตรเลียม แม้บัตร 1 ใบ จะใช้ปิโตรเลียมเพียง 4.25 กรัม แต่เมื่อเทียบกับจำนวนบัตรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลก นับเพียงบัตรเครดิตก็มีถึง 2.8 พันล้านใบแล้ว หากรวมบัตรประเภทอื่น ๆ ด้วย คงไม่ต้องคาดเดากันให้ยากว่าต้องใช้ปิโตรเลียมปริมาณมหาศาลแค่ไหนในการผลิต

อย่างไรก็ตาม บัตรพลาสติกมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าธนบัตรกระดาษมากหลายเท่าตัว ในขณะที่ธนบัตรกระดาษที่ผ่านมือคนมากมายในแต่ละวัน มีอายุการใช้งานเฉลี่ยไม่กี่ปี สารพัดบัตรมีอายุการใช้งานนานถึง 8 ปี ชดเชยข้อเสียน่าเศร้าที่พวกมันถูกนำไปรีไซเคิลไม่ได้

เงินดิจิทัลในโลกดิจิทัล

การผลิตเงินกายภาพใช้ทรัพยากรโลกมหาศาล เงินดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้ ไม่ต้องผลิตธนบัตร แม้แต่เหรียญบิทคอยน์ (Bitcoin) ที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ยังไม่มีเหรียญจริง ๆ เลยด้วยซ้ำ สกุลเงินดิจิตอลก็น่าจะมาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ไม่ใช่หรือ?

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยสต็อคโฮล์ม มหาวิทยาลัยฮาวายทำการวิจัยเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกระบวนหมุนเวียนสกุลเงินดิจิทัล พบว่าบิทคอยน์ และอีเธอเรียม (Ethereu) คือสกุลเงินที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก

โดยระบุว่า หากไม่มีการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการทำธุรกรรมบิทคอยน์ อาจทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสในปี 2033 เลยทีเดียว

อย่างที่อธิบายไปข้างต้น เงินดิจิทัลดำเนินการโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคารหรือแม้แต่รัฐบาล บิทคอยน์ก็เช่นกัน ดังนั้นการทำธุรกรรมผ่านบิทคอยน์แต่ละครั้ง คอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาลทั่วโลกจะประมวลผลสมการทางคณิตศาสตร์ เพื่อยืนยันการโอนต่าง ๆ ตลอดเวลา โดยการประมวลผลดังกล่าวมีค่าตอบแทนเป็นบิทคอยน์หรือที่เรียกว่าการ ‘ขุดบิทคอยน์’ นั่นเอง

เมื่อการขุดบิทคอยน์เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการโอนบิทคอยน์ เท่ากับต้องใช้ชิปจำนวนมากของคอมพิวเตอร์นักขุดทั่วโลกในการประมวลผล และแน่นอน คอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์เหล่านี้ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลในการทำงาน

โลกใบเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ จีนคือแหล่งขุดบิทคอยน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนกระทั่งรัฐบาลจีนออกกฏหมายห้ามขุดบิทคอยน์อีกต่อไป ฐานโรงงานขุดบิทคอยน์จึงทยอยย้ายมาตั้งที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ทั้งที่ประเทศเวียดนาม เมียนมาร์ และกัมพูชา เนื่องจากกฎหมายไม่เข้มงวด ค่าเช่าพื้นที่และค่าไฟฟ้ามีราคาถูกกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของโลก

ภายในโรงงานขุดบิทคอยน์ ประกอบไปด้วยกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีกำลังในการคำนวณสูงและแม่นยำ ผ่านการใช้ฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพ เมื่อต้องใช้พลังงานมหาศาล โรงงานขุดบิทคอยน์จึงมักใช้ถ่านหินราคาถูกที่สร้างพลังงานไฟฟ้าจากการเผาไหม้และปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุของภาวะโลกร้อนเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า

การทำธุรกรรมผ่านบิทคอยน์แต่ละครั้งใช้พลังงานระหว่าง 491 ถึง 765 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับการโอนเงินที่ไม่ใช่เงินสดด้วยระบบของธนาคารปกติ ซึ่งใช้พลังงานเฉลี่ย 0.4 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เท่ากับ 1 ยูนิต และเครื่องปรับอากาศใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 1 ยูนิต ต่อชั่วโมง

สิ่งที่โลกต้องตระหนักและรับรู้ร่วมกันคือ ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ถูกใช้ไป ในการที่โลกขยับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ไม่ว่าจะผ่านการใช้สกุลเงินไปจนถึงการผลิตสินค้าดิจิทัล เพราะแม้จับต้องไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการใช้พลังงานอย่างมหาศาล


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เราจะรักษาแม่น้ำและแหล่งน้ำจืดที่กำลังเสื่อมโทรมทั่วโลกได้หรือไม่

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.