เราจะรักษาแม่น้ำและแหล่งน้ำจืดที่กำลังเสื่อมโทรมทั่วโลกได้หรือไม่

เราจะรักษาแม่น้ำและแหล่งน้ำจืดที่กำลังเสื่อมโทรมทั่วโลกได้หรือไม่

เราต่างพึ่งพาน้ำสะอาดเพื่อดื่ม ทำอาหาร และสุขอนามัย และ แหล่งน้ำจืด บนโลกกำลังประสบปัญหา อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องน้ำสะอาดกำลังได้รับความสำคัญมากขึ้นจากบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

แม่น้ำ ทะเลสาบ แหล่งน้ำจืด และพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก กำลังอยู่ในภาวะถูกคุกคามเนื่องจากการสร้างเขื่อนที่ขาดการวางแผนที่ดี มลพิษ การสูญเสียที่อยู่อาศัย การทำเหมืองทราย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัญหาการบุกรุกของสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นในแหล่งน้ำ

ดังผลการศึกษาจากในรายงานซึ่งจัดทำโดยองค์กรอนุรักษ์ 16 แห่ง ระบุว่า ระบบนิเวศ แหล่งน้ำจืด กลายเป็นระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมมากที่สุดในโลก ซึ่งทำให้ประชากรปลากว่า 18,075 สายพันธุ์หรือมากกว่านั้นกำลังตกอยู่ในอันภาวะยากลำบาก อันเป็นจำนวนที่มากกว่าปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลและมหาสมุทร ซึ่งจำนวนสัตว์น้ำจืดที่มีกระดูกสันหลังมีจำนวนลดลงร้อยละ 86 นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา และกว่าหนึ่งในสามของสายพันธุ์ปลาน้ำจืดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

อย่างไรก็ตาม วิกฤติการณ์นี้กำลังได้รับสนใจจากสังคมน้อยว่าภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า หรือปัญหามลภาวะจากพลาสติก แม้ว่ามนุษย์จะต้องพึ่งพาระบบนิเวศน้ำจืดเพื่อดื่ม ทำอาหาร หรือเพื่อสุขอนามัยก็ตาม

“มนุษยชาตินั้นมีความผูกผันใกล้ชิดกับความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน้ำจืดอย่างยิ่ง” เคที ฮิวจ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจืดขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) ในสหราชอาณาจักร และผู้เขียนนำรายงานฉบับนี้ กล่าวและเสริมว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของน้ำจืดถือเป็นสัญญาณเตือนเล็กๆ ที่สำคัญว่าหากระบบนิเวศน้ำจืดไม่สามารถรองรับความหลากหลายทางชีวภาพอันหลากหลายๆได้ ก็จะเป็นสัญญาณอันชัดแจ้งว่า มนุษยชาติกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ดีเช่นเดียวกัน

แหล่งน้ำจืด, เรือคายัค
นักพายคายักคนหนึ่งบนแม่น้ำโคโลราโด รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ภาพถ่ายโดย BEN HORTON, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ปีแห่งแม่น้ำ

ตามประวัติศาสตร์ พื้นที่อนุรักษ์คือพื้นที่สำหรับระบบนิเวศบนบก (Terrestrial Ecosystem) และสายพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ โดย John Zablocki ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งองค์กร Nature Conservancy ซึ่งเป็นหัวหอกของเครือข่ายนานาชาติของนักวิทยาศาสตร์น้ำจืดซึ่งกำลังคิดทบทวนในวิธีการใหม่ๆ เพื่อการปกป้องแม่น้ำ ชี้ให้เห็นว่า แม่น้ำสายต่างๆ ที่ไหลผ่านพื้นที่อนุรักษ์มักไม่ได้รับการปกป้องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต้นน้ำ ดังที่แสดงให้เห็นได้ในงานศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Conservation Letters เมื่อปีที่แล้วว่า มีเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 1,249 แห่งซึ่งตั้งใกล้อยู่กับพื้นที่อนุรักษ์ และมีเขื่อนมากกว่า 500 แห่งได้วางแผนหรือกำลังก่อสร้างในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วโลก

“เราต้องหลีกเลี่ยงแนวความเชื่อที่ว่าเรื่องบนบกต้องมาเป็นที่หนึ่งและเรื่องน้ำเป็นอันดับสองครับ” Zablocki กล่าว

กลไกหนึ่งที่มุ่งช่วยแก้ปัญหาแม่น้ำคือเรื่องกฎหมายปกป้องแม่น้ำ เช่นในปี 2017 นิวซีแลนด์ได้ให้สถานะบุคคลกับแม่น้ำฟังกานุยเพื่อให้แม่น้ำได้รับการปฏิบัติและสิทธิทางกฎหมาย หลังจากนั้น บังกลาเทศก็ได้ทำเช่นเดียวกับแม่น้ำในประเทศ

ชาวเมารี, แม่น้ำ, สิทธิบุคคล, นิวซีแลนด์
นิวซีแลนด์แก้ไขประวัติศาสตร์แห่งความอยุติธรรมด้วยการมอบสิทธิตามกฎหมายในฐานะบุคคลให้แก่แม่น้ำฟังกานุย ภาพถ่ายโดย แมเทียส สวอลด์

การสูญเสียในระดับทำลายล้าง

ในขณะที่น้ำจืดมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละหนึ่งของจำนวนน้ำที่อยู่บนโลก แต่ก็เป็นบ้านของสายพันธุ์สัตว์ทั้งหมดบนโลกร้อยละสิบ ซึ่งรวมไปถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังถึงหนึ่งในสาม นอกจากนี้ ระบบนิเวศน้ำจืดยังเป็นบ้านของเต่ากว่า 270 ชนิด ปูมากกว่า 1,300 สายพันธุ์ และแมลงปอกว่า 5,700 สายพันธุ์

บรรดานักอนุรักษ์กล่าวว่า ปลาน้ำจืดอย่างน้อย 80 สายพันธุ์ได้สูญพันธุ์ไปนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลครั้งแรก และมี 16 สายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่แท้จริงอาจมากกว่านี้ เนื่องจากภัยคุกคามที่มีต่อบรรดาปลามีมากขึ้นและมีหลายสายพันธุ์ที่ไม่ได้รับการจับตามองเท่าที่ควร

งานศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Science เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า แม่น้ำหลายสายที่มีประชากรปลาเข้ามาอาศัยกำลังถูกทำลายอย่างรุนแรงเนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ คิดเป็นร้อยละ 14 ในลุ่มแม่น้ำแห่งต่างๆ ของโลก โดยพื้นที่ที่มีสถานการณ์ย่ำแย่คือที่ยุโรปตะวันตกและทวีปอเมริกาเหนือ

ปลาเทพา
ปลาเทพา (giant pangasius catfish) เป็นปลาน้ำจืดที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ภาพถ่ายโดย JOEL SARTORE, NATIONAL GEOGRAPHIC PHOTO ARK

นักอนุรักษ์ธรรมชาติหลายคนยังเชื่อว่า แรงจูงใจทางการเมืองและเศรษฐกิจมักได้รับความสำคัญมากกว่าความใส่ใจในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพเมื่อต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับแม่น้ำ “เช่น คุณค่าของระบบนิเวศมักเป็นปัจจัยที่ไม่ได้นำมาคำนึงในการวางแผนสร้างเขื่อนครับ” เอียน แฮร์ริสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจืดขององค์กร Conservation International กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การพิจารณาในเรื่องการประมงและความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศนั้นเป็นเรื่องที่ดีในเรื่องธุรกิจ เดเนียล เพอร์รี นักภูมิศาสตร์แหล่งน้ำแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเทิร์นแอริโซนาในแฟลกสตาฟ กล่าวและเสริมว่า “การปกป้องแม่น้ำถือเป็นการลงทุนต่ำที่ส่งผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณพิจารณาถึงสิ่งที่ระบบนิเวศให้กับคุณ”

เช่นเดียวกับแฮร์ริสันที่กล่าว “ขณะนี้เป็นจุดที่เราต้องตัดสินใจ” และเสริมว่า “หากเราไม่ลงทุนอย่างถูกต้องในระบบนิเวศน้ำจืดของเรา มันก็จะสายเกินไป เปรียบได้กับที่เราได้ออกเรือแล้วไม่มีทางหันหัวเรือกลับไปได้”

เรื่อง STEFAN LOVGREN


อ่านเพิ่มเติม โลกร้อนส่งผลต่อธารน้ำแข็งบนยอดภูเขา – กระทบแหล่งน้ำจืดของผู้คนนับพันล้าน

ธารน้ำแข็ง

Recommend